In Bangkok

กทม.สุ่มตรวจอาหารปลอดภัยในมินิมาร์ท ประเมินมาตรฐานผ่านเกณฑ์กว่า95%



กรุงเทพฯ-นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย กทม.กล่าวกรณีสื่อออนไลน์โพสต์ภาพและข้อความระบุพบหนูในตู้วางขนมในศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง สาขาบีทีเอส อ่อนนุช เขตคลองเตยว่า สำนักงานเขตฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในศูนย์การค้าดังกล่าวพบว่า สถานที่ตามรูปภาพเป็นตู้เก็บขนมเปี๊ยะของบริษัทขนมแห่งหนึ่ง ซึ่งมาเช่าพื้นที่บริเวณโซนจำหน่ายอาหารพร้อมบริโภค อาหารสด ผัก ผลไม้ เนื้อที่เช่าประมาณ 15 ตารางเมตร โดยตู้เก็บขนมเปี๊ยะมีฝาปิด แต่บริเวณด้านข้างมีช่องว่างที่หนูสามารถผ่านไปได้ ซึ่งผู้จัดการร้านได้ชี้แจงว่า ขณะที่มีการถ่ายภาพดังกล่าวเป็นช่วงเวลาประมาณ 20.00 น. บูธขนมเปี๊ยะได้ปิดไปแล้ว และโดยปกติศูนย์การค้าจะมีมาตรการเรื่องการรักษาความสะอาดและการควบคุมพาหะนำโรค โดยว่าจ้างบริษัทรับกำจัดแมลงและพาหะนำโรคมาดำเนินการเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม จะได้เพิ่มความถี่การวางกับดักพาหะนำโรค รวมทั้งเพิ่มเติมมาตรการป้องกันและควบคุมพาหะนำโรค เช่น หนู แมลงสาบ แมลงวัน เพื่อไม่ให้เกิดกรณีดังกล่าวอีกต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้สั่งการให้นำตู้ดังกล่าวออกจากบริเวณที่ตั้งสินค้าและให้นำขนมเปี๊ยะใส่ถุงพลาสติกรัดปากถุงให้แน่น แทนการใส่ตู้โชว์และให้ผู้บริโภคหยิบทีละชิ้น พร้อมทั้งกำชับผู้ประกอบการหมั่นล้างทำความสะอาดพื้นที่และจัดเก็บสิ่งของ ภาชนะที่ใช้ประกอบอาหาร และวัตถุดิบให้มิดชิด เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวว่า สนอ.ได้จัดทำแผนการตรวจประเมินติดตาม กำกับมาตรฐานการรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม.และมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อติดตาม กำกับ มาตรฐานการรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม.และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการจำหน่ายอาหารเห็นความสำคัญ รวมทั้งให้ความร่วมมือปฏิบัติถูกต้องตามมาตรฐานสุขลักษณะที่ดีและตระหนักถึงการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อสร้างความมั่นใจในการบริโภคอาหารที่สะอาดปลอดภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ครอบคลุมทั้ง 50 เขต โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ได้สุ่มตรวจประเมินสถานประกอบการอาหารประเภทมินิมาร์ท ซูเปอร์มาร์เก็ต ระหว่างวันที่ 21 ธ.ค.65 - 27 ก.ค.66 โดยตรวจประเมินทั้งหมด 66 แห่ง พบว่า ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม.63 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 95.45 ไม่ผ่านเกณฑ์ 3 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 4.55 กรณีพบข้อบกพร่องของสถานประกอบการ สนอ.ได้มีหนังสือให้สำนักงานเขตให้คำแนะนำ ปรับปรุง แก้ไขข้อบกพร่อง พร้อมทั้งติดตามกวดขันให้ปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม.และรายงานผลให้ สนอ.ทราบ

นอกจากนี้ ได้จัดกิจกรรมพัฒนาการสุขาภิบาลอาหารในสถานที่สะสมอาหาร เพื่อปรับปรุง พัฒนายกระดับมาตรฐานสถานประกอบการอาหารทั้งด้านสุขลักษณะ ด้านความปลอดภัยอาหาร และการป้องกันโรคอุบัติใหม่ รวมทั้งเพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจของผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติเรื่องการสุขาภิบาลอาหารและอาหารปลอดภัยให้เป็นไปตามข้อบัญญัติ กทม.เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ.2565 และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กรณีพบห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่ สธ.และ กทม.กำหนด สามารถแจ้งข้อมูล หรือร้องเรียนผ่านช่องทางศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์ กทม.โทร.1555 ระบบ Traffy Fondue ศูนย์สายด่วน สนอ.โทร.0 2245 4964 (ตลอด 24 ชั่วโมง) แจ้งผ่านแอปพลิเคชัน BKK FoodSafety หรือสำนักงานเขต 50 เขต (ในวันและเวลาราชการ)