In Bangkok
ทวิดา'ประชุมวางแผนดำเนินงานป้องกัน แก้ปัญหายาเสพติดในกทม.
กรุงเทพฯ-(12 ก.ย.66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมแนวดิ่งด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้บริหารสำนักอนามัย สำนักพัฒนาสังคม สำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด และ 50 สำนักงานเขต ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมอาคารทำการ ชั้น 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง
โดยเมื่อเริ่มประชุมประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงแนวคิดด้านการบำบัดรักษา "ผู้เสพคือผู้ป่วย" ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน คือ
1. Chronic Relapsing Disease (ผู้เสพยาเสพติด ถือเป็นโรคเรื้อรัง สามารถเป็นกลับซ้ำได้)ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม ต้องมีการรักษาที่เหมาะสมเพื่อให้ Relapsing น้อย
ที่สุด
2. Need Behavior Therapy (ต้องการการดูแล และปรับพฤติกรรมต่อเนื่อง)
3. By Community Network & Participation (โดยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและชุมชน)
จากนั้นที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า ในปี 2566 มีคดีที่ถูกจับกุมจำนวน 6,601 ครั้ง ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม 6,959 ราย การคัดกรองและบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดในปีงบประมาณ 2566 มีผู้ป่วยยาเสพติดจากการคัดกรอง จำนวน 8,261 ราย เข้ารับการบำบัด 6,109 ราย ยังไม่เข้ารับการรักษา 2,152 ราย โดยชนิดของยาเสพติดที่เข้ารับการบำบัดมากที่สุดคือ ยาบ้า รองลงมาคือ ไอซ์ เฮโรอีน เคตามีน กัญชา อื่นๆ ตามลำดับ และสาเหตุสำคัญที่ใช้ยาเสพติดส่วนใหญ่เกิดจากการอยากลองและเพื่อนชักชวน
โดยจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดในเขตที่มีผู้เข้ารับการรักษาบำบัดมากที่สุด ในปี 2564-2566 คือ เขตหนองแขม 891 ราย และเขตดินแดง 852 ราย (พื้นที่สีแดงเข้ม)
จากนั้นที่ประชุมรายงานสรุปผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เรื่อง การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเขต การดำเนินการดูแลผู้มีปัญหายาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง (Community Based Treatment and Care & Harm Reduction - CBTX & HR) ของสำนักอนามัย และผลการดำเนินงานโครงการชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยสำนักอนามัยดำเนินการใน 69 ชุมชน คัดกรองในชุมชน 319 ราย และเข้ารับการบำบัดโดยชุมชน 245 ราย ในส่วนของบัญชาการตำรวจนครบาล ดำเนินการใน 88 ชุมชน คัดกรองในชุมชน 43,085 รายและเข้ารับการบำบัดโดยชุมชน 1,343 ราย
ต่อมาที่ประชุมได้รายงานการจัดทำร่างหลักเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ศป.ปส.ข. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 แผนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2565 – 2570 และการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ภายใต้กรอบและแนวทางตามแผนฯ รวมถึงการจัดทำแผนปฏิบัติการและงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ของศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเขต และปฏิทินการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเขต อีกทั้งรายงานผลการดำเนินงานศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 และแผนการดำเนินงาน ปีงบประมาณ พ.ศ.2567
นอกจากนี้ที่ประชุมได้เสนอเรื่องเพื่อพิจารณา ได้แก่ การดำเนินงานโครงการชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปีงบประมาณ พ.ศ.2567 และการเสนอโครงการเพื่อขอใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพเขต โดยในช่วงท้ายของการประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กทม. กับผู้บริหารกทม. ทั้ง 50 เขต