In Bangkok
ระดมกึ๋นที่ปรึกษาฯปรับผังเมืองรวมกทม. ก่อนปิดประกาศและรับฟังความเห็นปชช.
กรุงเทพฯ-(13 ก.ย. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3/2566 ซึ่งมี นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 19 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง อยู่ระหว่างดำเนินโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เพื่อให้ผังเมืองมีความสอดคล้องกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมของเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการดำเนินโครงการฯ จะเป็นไปตามสาระสำคัญและขั้นตอนแห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ประกอบการรายสาขา องค์กรและสมาคมวิชาชีพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) และขณะนี้ได้ดำเนินการจัดทำร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่เรียบร้อยแล้ว
การประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่ พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการฯ เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข ก่อนจะนำไปโฆษณาปิดประกาศและจัดประชุมรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชน ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ต่อไป
สำหรับวันนี้ ฝ่ายเลขานุการได้รายงานเพื่อทราบถึงความคืบหน้าการแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 และรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ซึ่งได้มีการจัดการประชุมหารือแนวทางวิธีการดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรและสมาคมวิชาชีพ จำนวน 3 ครั้ง ดังนี้ 1. ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน และด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2. ด้านการคมนาคมและการขนส่ง และด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ และ 3. ด้านการบริหารจัดการน้ำ และด้านที่โล่ง รวมถึงได้มีการจัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ประกอบการรายสาขา องค์กรและสมาคมวิชาชีพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ด้วย ซึ่งมติที่ประชุมรับทราบ
ต่อมา ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณา ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลรายละเอียดในส่วนของแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท แผนผังแสดงที่โล่ง แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและการขนส่ง แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ แผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แผนผังแสดงผังน้ำ ตลอดจนข้อมูลในส่วนของนโยบาย มาตรการ และวิธีดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)
โดยภาพรวมแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท มีการเปลี่ยนแปลงดังนี้ ประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.1-ย.5) จากเดิม (กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556) 438.33 ตร.กม. ลดลง เป็น 350.71 ตร.กม. (ในร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.6-ย.10) จากเดิม 248.08 ตร.กม. เพิ่มขึ้น เป็น 349.95 ตร.กม. ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.11-ย.15) จากเดิม 106.78 ตร.กม. ลดลง เป็น 99.12 ตร.กม. พาณิชยกรรม (พ.1-พ.8) จากเดิม 74.15 ตร.กม. เพิ่มขึ้น เป็น 76.47 ตร.กม. อุตสาหกรรม(อ.1 และ อ.2) เท่าเดิม คือ 12.59 ตร.กม. คลังสินค้า (อ.3) เท่าเดิม คือ 2.25 ตร.กม. อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.1) จากเดิม 240.32 ตร.กม. ลดลง เป็น 50.60 ตร.กม. ชนบทและเกษตรกรรม (ก.2 และ ก.3) จากเดิม 375.84 ตร.กม. เพิ่มขึ้น เป็น 481.43 ตร.กม. สถาบันราชการ สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ (ส.) เท่าเดิม คือ 42.33 ตร.กม. และอื่น ๆ ได้แก่ เขตพระราชฐาน เขตทหาร ฯลฯ เท่าเดิม คือ 26.27 ตร.กม.
ภาพรวมแผนผังแสดงที่โล่ง มีการเปลี่ยนแปลงดังนี้ ล.1 ที่โล่งเพื่อนันทนาการและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จากเดิม (กฎกระทรวงฯ) จำนวน 100 แห่ง พื้นที่ 23.91 ตร.กม. เป็นจำนวน 326 แห่ง พื้นที่ 33.74 ตร.กม. (ในร่างผังเมืองฯ) ล.2 ที่โล่งเพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณริมถนน จากเดิม 40 แห่ง ระยะทาง 380.63 กม. เป็น 81 แห่ง ระยะทาง 580.91 กม. และ ล.3 ที่โล่งเพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณริมแม่น้ำและลำคลอง จากเดิม 30 แห่ง ระยะทาง 386.98 กม. เป็น 33 แห่ง ระยะทาง 390.35 กม.
แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและการขนส่ง มีการเปลี่ยนแปลงภาพรวม จากเดิม จำนวนถนนประเภทต่าง ๆ (ถนนสาย ก, ข, ค, ง, จ, ฉ และถนนสาย ช) รวม 136 สาย ความยาวรวม 390.12 กม. เป็นจำนวนถนนรวม 148 สาย ความยาวรวม 606.05 กม.
ภาพรวมแผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ ในร่างผังเมืองฯ มีดังนี้ สภ. 1 โครงการสถานีไฟฟ้าย่อย จำนวน 2 แห่ง สภ. 2 โครงการสถานีประปาย่อย จำนวน 1 แห่ง สภ. 3 โครงการโรงบำบัดน้ำเสียหรือโครงการโรงควบคุมคุณภาพน้ำ จำนวน 5 แห่ง และ สก. โครงการกิจการสาธารณูปการและบริการสาธารณะ จำนวน 23 แห่ง
ภาพรวมแผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของร่างผังเมืองฯ มีดังนี้ ทส. 1 แหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการส่งเสริมและรักษาระบบนิเวศป่าชายเลน พื้นที่ 56.08 ตร.กม. ทส. 2-1 แหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการส่งเสริมและรักษาการเกษตรนาข้าว พื้นที่ 438.90 ตร.กม. ทส. 2-2 แหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการส่งเสริมและรักษาการเกษตรพืชสวน พื้นที่ 57.47 ตร.กม. ทส. 3-1 แหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการส่งเสริมและรักษาการประมงน้ำจืด พื้นที่ 438.90 ตร.กม. ทส. 3-2 แหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการส่งเสริมและรักษาการประมงน้ำเค็มและน้ำกร่อย พื้นที่ 95.93 ตร.กม. และ ทส. 4 แหล่งสิ่งแวดล้อมทางศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น พื้นที่ 24.69 ตร.กม.
ภาพรวมแผนผังแสดงผังน้ำ มีการเปลี่ยนแปลงดังนี้ จากเดิม (กฎกระทรวงฯ) น. 1 คลองระบายน้ำ 85 แห่ง เป็น 125 แห่ง (ในร่างผังเมืองฯ) โดยแบ่งเป็น น. 1-1 ปรับปรุงคลองระบายน้ำ จาก 74 เป็น 102 แห่ง น. 1-2 ขยายคลองระบายน้ำ จาก 1 เป็น 16 แห่ง น. 1-3 ขุดคลองระบายน้ำ จาก 10 เป็น 7 แห่ง สำหรับ น. 2 อุโมงค์ระบายน้ำ จากเดิม 3 แห่ง เป็น 7 แห่ง ด้าน น. 3 พื้นที่เพื่อการสงวนรักษาสภาพการระบายน้ำตามธรรมชาติ (ทางน้ำหลาก) เท่าเดิม คือ 1 แห่ง และ น. 4 พื้นที่พักน้ำเพื่อการป้องกันน้ำท่วม (แก้มลิง) จากเดิม 26 แห่ง เป็น 121 แห่ง
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการให้ข้อสังเกตในรายละเอียดของผังประเภทต่าง ๆ ตลอดจนข้อมูลในส่วนของนโยบาย มาตรการ และวิธีดำเนินการ เพื่อให้ฝ่ายเลขานุการแก้ไขปรับปรุงให้มีความละเอียด รอบคอบ และรัดกุมมากยิ่งขึ้น ก่อนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ซึ่งหมายถึงการปิดประกาศเชิญชวนประชาชนเพื่อตรวจดูร่างแผนผังและเข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน