In Bangkok
'จักกพันธุ์'ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเขตบางซื้อ ดูทะเบียนบัตร-คัดแยกขยะ-สวน15นาที
กรุงเทพฯ-ติดตามระบบ BMA-TAX เพิ่มความเร็วงานทะเบียนบัตร ตรวจแยกขยะเขตบางซื่อ สำรวจ Hawker Center ข้าง MRT บางซื่อ ปั้นสวน 15 นาทีริมถนนรัชดาฯ ส่องคิวอาร์โค้ดเช็กผู้ค้าหน้าตลาดมณีพิมาน ชมคัดแยกขยะโรงเรียนวัดสร้อยทอง คุมค่าฝุ่นแพลนท์ปูน CPAC
(13 ก.ย.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางซื่อ ประกอบด้วย
ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ การบันทึกข้อมูลผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 35,918 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 40,797 แห่ง ห้องชุด 37,527 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 114,242 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ ประสิทธิภาพของอุปกรณ์และระบบคอมพิวเตอร์ พร้อมทั้งได้ให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ ศึกษาการใช้งานระบบต่างๆ ที่มีการพัฒนาตลอดเวลา เน้นย้ำการปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปด้วยความถูกต้องและโปร่งใส
ตรวจเยี่ยมการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตบางซื่อ ภาพรวมระยะเวลาในการให้บริการประชาชนที่มาติดต่องานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน ตั้งแต่กดรับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนการทำงานทั้งหมด ซึ่งควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที ไม่รวมเวลารอคอย โดยขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนที่มารับบริการในแต่ละวัน ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า ประสิทธิภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาติดต่อราชการให้ได้รับบริการด้วยความรวดเร็ว
พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตบางซื่อ มีข้าราชการและบุคลากร 672 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยประชาสัมพันธ์โครงการไม่เทรวมให้ข้าราชการ บุคลากร พนักงานทำความสะอาดภายในอาคาร รวมทั้งร้านค้าภายในเขตฯ คัดแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะทั่วไป โดยตั้งถังแยกขยะตามประเภท แต่ละฝ่ายจะแยกขยะทั่วไป ขยะเศษอาหาร พนักงานทำความสะอาดจะรวบรวมขยะทั่วไปไปทิ้งจุดพักขยะ เพื่อรอรถเก็บขนมูลฝอยเข้าจัดเก็บ ส่วนขยะเศษอาหารรวบรวมใส่จุดทิ้งขยะเศษอาหาร เพื่อทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ นอกจากนี้ได้ตั้งชุดแยกขยะขวดพลาสติกตามโครงการ “แยกขวดเพื่อพี่ไม้กวาด” และตั้งจุดรับพลาสติกยืดโครงการ “วน” สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,680 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1,197 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 55 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 280 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 60 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 173 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 2 กิโลกรัม/เดือน
สำรวจพื้นที่ Hawker Center บริเวณเกาะกลางข้างทางขึ้น-ลง สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินบางซื่อ (ประตู 1) ซึ่งรองรับผู้ค้าได้ 30 แผงค้า จัดวางโต๊ะสำหรับนั่งรับประทานอาหารได้ 15 ตัว เก้าอี้ 60 ตัว เวลาทำการค้า 05.00-22.00 น. ที่ผ่านมาเขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ว่างที่มีความเหมาะสม เพื่อจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยใช้พื้นที่ว่างหรือตลาดนัดเอกชน เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้ซื้อ อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ สำหรับจุด Hawker center เดิม บริเวณตลาดใต้สะพานสูง ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ทำการค้าในจุดผ่อนผัน และไม่สามารถจัดตั้งจุดล้างภาชนะรวมได้ เพราะขัดกับระเบียบของทางฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่จัดทำ Hawker Center ที่สำคัญให้คำนึงถึงประชาชนที่จะมาใช้บริการซื้ออาหารและสินค้าในบริเวณดังกล่าว
เยี่ยมชมสวน 15 นาที สวนเฉลิมพระเกียรติพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 72 พรรษา ถนนรัชดาภิเษก เขตฯ มีสวนสาธารณะเดิม 1 แห่ง คือ สวนสุขภาพประชานุกูล แยกประชานุกูล พื้นที่ 2 ไร่ เป็นพื้นที่ของการทางพิเศษ อยู่ระหว่างการปรับปรุงโดยการปลูกซ่อมต้นไม้ระยะเวลาที่ให้กรุงเทพมหานครใช้ประโยชน์ 5 ปี (พ.ศ.2562 – 2567) สำหรับสวนสาธารณะที่ก่อสร้างใหม่ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1.สวนเฉลิมพระเกียรติพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 72 พรรษา ถนนรัชดาภิเษก ใกล้ร้านศิริชัยไก่ย่าง ถนนรัชดาภิเษก พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 71 ตารางวา เป็นพื้นที่ของการทางพิเศษ เขตฯ ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว มีจุดเช็คอินให้ประชาชนได้ถ่ายภาพ โดยเปิดให้ประชาชนใช้พื้นที่เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 2.สวนหย่อมริมคลองประปา ถนนประชาชื่น พื้นที่ 25 ไร่ เป็นพื้นที่ของการประปานครหลวง อยู่ระหว่างขอใช้พื้นที่ เพื่อจัดสรรงบประมาณปรับปรุงลู่วิ่ง 3.สวนป่าวัดมัชฌันติการาม (วัดน้อย) พื้นที่ 5 ไร่ เป็นพื้นที่ของวัดมัชฌันติการาม ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว จัดสวนโดยสวนนงนุช พัทยา ทางวัดเปิดให้ใช้พื้นที่แล้ว และ 4.วัดทองสุทธาราม พื้นที่ 8 ไร่ โดยเขตฯ ร่วมกับกลุ่ม We!Park กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย ตามโครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อการพัฒนาสวน 15 นาที ผ่านการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Park Coaching & Park Clinic) ออกแบบสวนเรียบร้อยแล้ว ชื่อว่าลานปฏิบัติธรรมสุวรรณ์สุทธารมย์ และสถาบันราชพฤกษ์ มูลนิธิปลูกต้นไม้ ปลูกธรรม บริษัท ยูนิโคล่ ประเทศไทย จำกัด สนับสนุนต้นไม้ยืนต้น จำนวน 440 ต้น และได้ร่วมปลูกในพื้นที่ลานปฏิบัติธรรมและเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
ตรวจความเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้าในจุดผ่อนผัน บริเวณถนนกรุงเทพ-นนทบุรี (หน้าตลาดมณีพิมาน) เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 206 ราย ได้แก่ 1.ตลาดประจวบบางซื่อ ถนนเตชะวณิช ผู้ค้า 39 ราย 2.ตลาดใต้สะพานสูง ถนนเตชะวณิช ผู้ค้า 75 ราย 3.ตลาดมณีพิมาน ถนนประชาชื่น ผู้ค้า 12 ราย 4.ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ฝั่งขาออก (บุญเหลือ) ผู้ค้า 16 ราย และฝั่งขาเข้า (ตลาดมณีพิมาน) ผู้ค้า 31 ราย และ 5.หน้าตลาดบางซ่อน ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ผู้ค้า 33 ราย ที่ผ่านมาเขตฯ ได้บันทึกข้อมูลผู้ค้าและจัดทำคิวอาร์โค้ดให้ผู้ค้าเรียบร้อยแล้ว ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 7 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 240 ราย ได้แก่ 1.ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ผู้ค้า 10 ราย 2.ซอยสะพานขวา ผู้ค้า 9 ราย 3.ซอยโชติวัฒน์ (สะพาน 99) ผู้ค้า 8 ราย 4.ข้างห้างโลตัสประชาชื่น ผู้ค้า 33 ราย 5.ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี (ขาออก) ผู้ค้า 73 ราย 6.ตลาดศรีเขมา ผู้ค้า 47 ราย และ 7.ซอยประชานฤมิตร ผู้ค้า 60 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ทดลองสแกนคิวอาร์โค้ดตรวจสอบผู้ค้าที่ลงทะเบียนไว้กับทางเขตฯ เพื่อป้องกันบุคคลอื่นสวมรอยมาตั้งวางขายสินค้า พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้า รวมถึงขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนวัดสร้อยทอง ถนนประชาราษฎร์สาย 1 มีครูบุคลากรและนักเรียน 529 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ 2.ขยะรีไซเคิล 3.ขยะทั่วไป 4.ขยะอันตราย ตั้งวางถังขยะแยกประเภทตามจุดต่างๆ จัดกิจกรรมการเรียนรู้บริหารจัดการขยะ อาทิ ถังหมักขยะกรีนโคน สบู่จากน้ำมันพืช กระดาษจากต้นกล้วยและใบเตย ไม้กวาดจากขวดน้ำ กิจกรรมหนูน้อยกินเก่ง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ ขยะอันตราย ทั้ง 4 ประเภทรวมกันก่อนคัดแยก 818 กิโลกรัม/เดือน ขยะทั่วไปหลังคัดแยก 60 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 47 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 126 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 0.5 กิโลกรัม/เดือน
ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ถนนประชาราษฎร์สาย 1 ซึ่งประกอบกิจการประเภทผลิตและจำหน่ายคอนกรีตผสมเสร็จ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการตรวจสอบควันดำรถบรรทุกรถโม่ปูนให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน ประเภทแพลนท์ปูน/สถานที่ก่อสร้าง/ควันดำในสถานที่ต้นทาง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายสรสิช เหลืองรุ่งเกียรติ ผู้อำนวยการเขตบางซื่อ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางซื่อ สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล