Biz news
มุมมอง'ดิจิทัล'เข้ากับไฟฟ้าสู่อุตฯยั่งยืน
กรุงเทพฯ-ผนึกกระบวนการดิจิทัลเข้ากับพลังงานไฟฟ้า เพื่ออนาคตอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน
ปีเตอร์ เฮอร์เว็ค รองประธานบริหาร ฝ่ายออโตเมชั่นสำหรับอุตสาหกรรม ชไนเดอร์ อิเล็คทริค(Schneider Electric)
การแพร่ระบาดเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันของเราและโลกที่แวดล้อมเราตลอดกาล เราทุกคนต่างมีมุมมองต่อสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันไป เพราะภัยจากปรากฏการณ์ธรรมชาติกลายเป็นเรื่องที่สัมผัสได้ชัดเจนมากขึ้นทุกวัน
ในขณะที่จำนวนประชากรมีการขยายตัวมากขึ้น ความเป็นสังคมเมืองและโลกาภิวัฒน์ ก็ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของไวรัส องค์ประกอบเหล่านี้ ยังทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนมากขึ้น และเป็นสาเหตุที่สร้างผลกระทบในแง่ลบต่อสภาพแวดล้อม แม้ว่าเราต้องการมุ่งเน้นที่ปัญหาท้าทายในปัจจุบัน แต่ก็ต้องไม่ลืมความท้าทายที่จะเกิดในอนาคตด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดมาโดยตลอด โดยผู้คนจำนวนเกือบหนึ่งในสามของโลกกำลังมองว่าปัญหาดังกล่าว ถือเป็นความเร่งด่วนระดับโลกในตอนนี้ ซึ่งไม่สามารถละเลยได้อีกต่อไป
ในความเป็นจริง เราเป็นคนรุ่นที่สามารถแก้ไขสิ่งต่างๆ ได้มากที่สุด จริงๆ แล้ว เราอาจจะเป็นคนรุ่นสุดท้ายที่สามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตและทำสิ่งที่ถูกต้องต่อไปในการแก้ไขเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หน้าที่ของเราคือการใช้ความรู้และเครื่องมือที่มีอยู่รอบตัว นำพาเราไปสู่การต่อสู้เพื่อทำให้สภาพภูมิอากาศมีความเสถียรมากที่สุด เครื่องมือเหล่านี้ประกอบด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถนำเราไปสู่ความยืดหยุ่นได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น หัวใจหลักสองประการที่ช่วยแก้สถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ คือเทคโนโลยีดิจิทัล และพลังงานไฟฟ้า
อนาคตที่ไร้ขีดจำกัดอย่างแท้จริง
นวัตกรรมที่โดดเด่นมากที่สุดที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงมนุษยชาติ ก็คือเทคโนโลยีดิจิทัล ลองนึกถึงการที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปฏิวัติวิถีการทำงานและการใช้ชีวิตร่วมกัน ปฐมบทแรกของอินเตอร์เน็ต คือเรื่องเกี่ยวกับการเชื่อมต่อระหว่างผู้คน ส่วนบทต่อไป จะเป็นเรื่องการปฏิวัติแนวทางการใช้ชีวิตและการเชื่อมต่อกับสภาพแวดล้อมของเรา ซึ่งจะเป็นเรื่องระหว่างแมชชีนด้วยกันเอง และระหว่างมนุษย์กับแมชชีน ความเป็นไปได้ในเรื่องเหล่านี้มาจากการผสมผสานที่ลงตัวของ Internet of Things ซึ่งเชื่อมต่อทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา และ big data ซึ่งเป็นการเก็บและรวบรวม อีกทั้งวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ในดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อเปลี่ยนเป็นมุมมองเชิงลึกที่สำคัญ และในวันนี้ ความสามารถในการฝึกฝนแมชชีนและใช้อัลกอริธึมมาช่วยให้ข้อมูลทั้งหมดมีความหมาย กลายเป็นความสามารถที่ไร้ขีดจำกัดอย่างแท้จริง
การเปลี่ยนกระบวนการสู่ดิจิทัล สร้างอนาคตที่พึงปรารถนาได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการดำรงชีวิตโดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง พร้อมด้วยบ้านอัจฉริยะ อาคารอัจฉริยะ โรงงานอัจฉริยะ ระบบโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ และเมืองอัจฉริยะ นวัตกรรมเหล่านี้ล้วนใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีส์ดิจิทัล มาช่วยให้เราแบ่งปันและอนุรักษ์ทรัพยากรที่เราใช้กันอยู่ได้ดียิ่งขึ้น
มุ่งไปข้างหน้าด้วยพลังงานไฟฟ้าสีเขียว
เทคโนโลยีอันดับสอง ซึ่งอาจจะดูไม่ค่อยน่าตื่นตาตื่นใจเท่าไหร่ เพราะเป็นเทคโนโลยีที่มาหลายปีแล้ว นั่นคือ พลังงานไฟฟ้าสีเขียว (green electricity) ให้คิดถึงเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ ไมโครกริด อาคารที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero building) และยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ พลังงานไฟฟ้า นับเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยให้ใช้พลังงานได้แบบปลอดคาร์บอน ดั้งนั้นจึงควรเตรียมพร้อมสำหรับโลกที่เป็นระบบไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่จะมุ่งไป ไม่ใช่พลังงานไฟฟ้าเหมือนแต่ก่อน แต่จะเป็นพลังงานไฟฟ้าทดแทน นั่นคืออนาคตสีเขียว
ขั้นตอนสำคัญสู่อนาคตที่ยั่งยืน
ที่ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เราได้ทำงานร่วมกับบุคคลระดับสมองและบริษัทอื่นๆ เพื่อหาสมการที่ช่วยผลักดันจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนได้ตามต้องการ
เรามองเห็นตัวแปรที่เรียบง่าย 4 ประการในสมการดังกล่าว
1. ดิจิทัล เราสามารถสร้างประสิทธิภาพมากขึ้นได้ในทุกที่ ต้องขอบคุณดิจิทัล เพราะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ไม่ว่าจะใช้กับอาคารอัจฉริยะ โรงงานอัจฉริยะ หรือเมืองอัจฉริยะในทุกที่ ช่วยให้เราสามารถบรรลุการเปลี่ยนแปลงเรื่องประสิทธิภาพจากจุดที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันได้
2. การหมุนเวียน เป็นเรื่องของการสร้างความมั่นใจว่าทุกสิ่งที่เราทำเป็นการปลูกฝั่งเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
3. ไฟฟ้า ในอีกไม่กี่ปีที่จะถึงนี้ สัดส่วนของพลังงานไฟฟ้าในทุกเรื่องจะขยายเพิ่มเป็นสองเท่า เราพูดกันมามากถึงเรื่องพลังงานไฟฟ้า แต่ปัจจุบันไฟฟ้าคิดเป็นอัตราแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานที่เราใช้กันอยู่ โดยในอีก 20 ปี คาดว่าจะเพิ่มเป็นสองเท่าคือ 40 เปอร์เซ็นต์
4. สามารถทดแทนได้ ปัจจุบัน พลังงานไฟฟ้าสามารถทดแทนได้ 6 เปอร์เซ็นต์ โดยในอีกไม่ช้า จะสามารถทดแทนได้ 40 เปอร์เซ็นต์
และไม่ใช่การนั่งรอให้ตัวแปรใดหนึ่งในสมการเหล่านี้ เกิดขึ้น ถึงจะเริ่มมุ่งเน้นที่เรื่องนั้น เราต้องทำทุกอย่างไปในแบบคู่ขนาน เราไม่สามารถรอให้ทุกสิ่งที่เราสร้างขึ้นในวันนี้ อยู่ไปอีกหลายๆ ปีข้างหน้า เพราะถ้าเราต้องการแก้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราต้องเริ่มดำเนินการเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดตั้งแต่วันนี้
ความยั่งยืน สร้างความยืดหยุ่น
การแพร่ระบาด และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นับเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่ออนาคตของสังคมที่เราอยู่ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องลุกขึ้นมาและสร้างโลกที่ยั่งยืน โดยยึดความยืดหยุ่นเป็นศูนย์กลาง ก้าวไปข้างหน้าด้วยแรงขับเคลื่อนที่ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการบรรลุสู่อนาคตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนได้อย่างแท้จริง และเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโลกใบนี้
โควิด-19 อาจจะเปลี่ยนจุดมุ่งเน้นของเรา แต่ก็ช่วยย้ำให้เราเห็นถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนและสร้างความคล่องตัว ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้ความกดดัน โควิดจึงเป็นเสมือนเสียงเรียกที่ปลุกให้เราตระหนักมากขึ้นและสร้างความยั่งยืนในระยะยาว บริษัทต่างๆ ต้องยอมรับว่าตัวเองสามารถทำให้ทุกอย่างดีขึ้นได้ และต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจทั้งหมด
สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าใช้พลังงานจากที่ไหนและใช้อย่างไร พลังงานสูญหายหรือเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ที่ไหนและอย่างไรเช่นกัน และด้วยประเด็นนี้ จึงทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญ ระบบเซ็นเซอร์ช่วยมอนิเตอร์เรื่องประสิทธิภาพ ซอฟต์แวร์ที่เชื่อมงานส่วนปฏิบัติการเข้ากับระบบไอที ระบบออโตเมชั่นและการวิเคราะห์จะช่วยให้องค์กรและบุคคลทั่วไปสามารถบริหารจัดการและใช้สภาพแวดล้อมได้อย่างเหมาะสมไม่ว่าจะที่ทำงานหรือที่บ้านก็ตาม ข่าวดีก็คือเรามีเทคโนโลยีเหล่านี้อยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าองค์กรจะตอบรับและนำมาใช้งานเพื่อการันตีเรื่องความยั่งยืนในอนาคตหรือไม่