In Bangkok

รองผู้ว่าฯกทม.ลงพื้นที่เขตบางขุนเทียน ตรวจงานทะเบียน-แยกขยะ-สวน15นาที



กรุงเทพฯ-เช็กระบบจัดเก็บรายได้ BMA-TAX ตรวจแยกขยะเขตบางขุนเทียน ย่นเวลางานทะเบียนบัตร คุมเข้มค่าฝุ่นน่ำเฮงคอนกรีต ชมคัดแยกขยะอุตสาหกรรมมิตรมงคล สำรวจสวน 15 นาทีวัดบัวผัน เล็งเปิด Hawker Center สะแกงาม 42 

(14 ก.ย.66) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางขุนเทียน ประกอบด้วย 

ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ การบันทึกข้อมูลและการค้นหารายชื่อผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 98,001 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 74,156 แห่ง ห้องชุด 18,977 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 191,134 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ เรียนรู้ทำความเข้าใจกับระบบต่างๆ ที่มีการพัฒนาขึ้นใหม่ตลอดเวลา เน้นย้ำการทำงานด้วยความรอบคอบโปร่งใส เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปด้วยความถูกต้องครบถ้วน 

พร้อมกันนี้ได้สอบถามการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตบางขุนเทียน มีข้าราชการและบุคลากร 878 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล แม่บ้าน/พนักงานกวาด คัดแยกขยะรีไซเคิล โดยรวบรวมไปไว้ที่จุดรวมในโรงอาหาร รอส่งไปจุดรวมขวดพลาสติก เพื่อพี่ไม้กวาดสำนักงานเขตจอมทอง และจำหน่ายรวบรวมเงินที่ได้มาทำกิจกรรมทอดผ้าป่ารีไซเคิล 2.ขยะอินทรีย์ พนักงานกวาด จัดเก็บเศษขยะอินทรีย์ ประเภทผักและเศษอาหาร นำไปทำปุ๋ยหมักที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ เขตบางขุนเทียน 3.ขยะอันตราย พนักงานกวาด เก็บรวบรวมขยะอันตราย และให้กลุ่มงานเก็บขนมูลฝอยมารับไปส่งที่ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม 4.ขยะทั่วไป แม่บ้าน/พนักงานกวาด รวบรวมขยะทั่วไป เพื่อให้รถเก็บขนมูลฝอยนำไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 2,000 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1,440 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 200 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 200 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 30 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดเก็บขยะ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขยะตกค้างในพื้นที่ 

จากนั้นตรวจเยี่ยมการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตบางขุนเทียน ภาพรวมระยะเวลาในการให้บริการประชาชนที่มาติดต่องานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน ตั้งแต่กดรับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนทั้งหมด ซึ่งควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที ไม่รวมเวลารอคอย โดยขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนที่มารับบริการในแต่ละวัน ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า ประสิทธิภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้วยความรวดเร็ว 

ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท น่ำเฮงคอนกรีต (1992) จำกัด ถนนพระรามที่ 2 ซอย 54 แยก 2 ซึ่งประกอบกิจการประเภทผลิตและจำหน่ายคอนกรีตผสมเสร็จ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน ประเภทแพลนท์ปูน/สถานที่ก่อสร้าง/ควันดำในสถานที่ต้นทาง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้รับจ้างล้างทำความสะอาดพื้น ตรวจสอบไม่ให้มีน้ำขัง เพื่อป้องกันตะกอนจากเศษปูนเศษทรายตกค้าง พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ บริษัท อุตสาหกรรมมิตรมงคล จำกัด ถนนพระรามที่ 2 ซอย 54 แยก 4 มีพนักงาน 400 คน ซึ่งประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอาง เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะตั้งแต่ปี 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ แม่บ้าน/พนักงาน คัดแยกขยะอินทรีย์ใส่ลงในถังขยะแยกประเภท ที่ตั้งวางไว้ในโรงอาหารของโรงงาน และนำไปทำปุ๋ยหมักที่สถานีใส่เศษอาหาร และส่วนหนึ่งนำไปเลี้ยงสัตว์ ส่วนที่เหลือเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 2.ขยะรีไซเคิล แม่บ้าน/พนักงาน คัดแยกขยะรีไซเคิล นำมาใส่ในภาชนะที่โรงงานได้ จัดเตรียมไว้สำหรับใส่ขยะรีไซเคิลแต่ละเภท และให้แม่บ้านรวมนำไปขาย 3.ขยะทั่วไป แม่บ้าน/พนักงาน คัดแยกขยะพลาสติกออกจากขยะทั่วไป และนำส่วนที่เหลือทิ้งลงถังขยะที่ทางโรงงานจัดเตรียมไว้ให้เขตฯ 4.ขยะอันตราย โรงงานกำหนดจุดทิ้งขยะอันตรายภายในอาคารใกล้โรงอาหาร และแจ้งฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ดำเนินการจัดเก็บเดือนละ 2 ครั้ง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 4,000 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 3,200 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 50 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 50 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 390 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 390 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 10 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 2 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 2 กิโลกรัม/เดือน 

สำรวจสวน 15 นาที วัดบัวผัน ซอยอนามัยงามเจริญ 25 แยก 2 เขตฯ มีสวนสาธารณะเดิม ที่จะพัฒนาและปรับปรุงสวนให้ดีขึ้น ได้แก่ 1.สวนบวรประชานันท์ พื้นที่ 12 ไร่ 53 ตารางวา 2.สวนบึงรางเข้ พื้นที่ 4 ไร่ 2 งาน 3.สวนสมเด็จย่า พื้นที่ 18 ไร่ โดยมีแผนจะพัฒนา 3 ด้าน คือ 1.ไฟฟ้าส่องสว่างในสวนสาธารณะ 2.จัดทำหรือปรับปรุงห้องน้ำในสวนสาธารณะ 3.ปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว สำหรับสวนสาธารณะที่ดำเนินการก่อสร้างใหม่ ได้แก่ 1.สวน 15 นาที “ชุมชนเคหะชุมชนธนบุรี 1 ส่วน 4” พื้นที่ 450 ตารางวา ดำเนินการเสร็จแล้ว 2.สวน 15 นาที “สวนเด็ก” อยู่ในพื้นที่ชุมชนเคหะชุมชนธนบุรี 1 ส่วน 4 พื้นที่ 450 ตารางวา ดำเนินการเสร็จแล้ว 3.สวน 15 นาที สวนทะเล บริเวณป่าชายเลนบางขุนเทียน พื้นที่ 162.5 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ 4.สวน 15 นาที วัดบัวผัน ซึ่งเป็นพื้นที่ว่าง 2 ไร่ บริเวณวัดบัวผัน อยู่ระหว่างออกแบบจัดทำสวน แบ่งเป็นออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ พื้นที่จอดรถ พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ ลานกิจกรรมเอนกประสงค์ พื้นที่ออกกำลังกาย 5.สวน 15 นาที โค้งกาญจนาภิเษก อยู่ริมถนนพระรามที่ 2 เชื่อมถนนกาญจนาภิเษก พื้นที่ 961.2 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ 

สำรวจพื้นที่ Hawker Center บริเวณซอยสะแกงาม 42 เขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ว่างที่มีความเหมาะสม เพื่อจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยใช้พื้นที่ว่างหรือตลาดนัดเอกชน เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้ซื้อ อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ ที่ผ่านมาเขตฯ ได้จัดทำ Hawker center บริเวณทางเท้าติดลานจอดรถห้างเทสโก้โลตัส ถนนพระรามที่ 2 ซอย 69 มีผู้ค้า 45 ราย ภายใต้แนวคิด “ROUTE 69 Mini Hawker Center” ประกอบด้วย แผงค้าในรูปแบบเดียวกัน สวนแนวตั้ง จุดไม่เทรวม จุดล้างภาชนะรวม จุดพักวินรถจักรยานยนต์ และจุดพักสามล้อถีบ โดยคำนึงถึงผู้ใช้ทางเท้าในการสัญจรเป็นหลัก ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้ค้าและผู้ใช้ทางเท้าอย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนของ Hawker Center บริเวณซอยสะแกงาม 42 ซึ่งเดิมเป็นตลาดเก่าของเอกชน มีพื้นที่ว่างสามารถรองรับผู้ค้าได้ จัดเก็บค่าเช่าตามอัตราที่ตลาดกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่จัดทำ Hawker Center รวมถึงพูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าบริเวณซอยสะแกงาม 35/2 จำนวน 23 ราย ให้ย้ายเข้ามาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดทำเป็น Hawker Center เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ต่อไป 

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นางภัสรา นทีทอง ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางขุนเทียน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล