In Bangkok
บูรณาการแก้ปัญหาสร้างรถไฟฟ้าสีชมพู พร้อมนำเทคโนโลยีแก้ปัญหาจราจร
กรุงเทพฯ-(14 ก.ย.66) รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยมีหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ ห้องประชุมอาคารนรกิจบริหาร ชั้น 4 สำนักงานเขตบางเขน
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู หรือ รถไฟฟ้า สายรามอินทรา ดำเนินการโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงแคราย-มีนบุรี ทั้งหมด 30 สถานี รวมระยะทางตลอดเส้นทางเดินรถไฟฟ้า 34.5 กิโลเมตร การก่อสร้างมีผลกระทบกับถนนแจ้งวัฒนะและถนนรามอินทรา ซึ่งที่ประชุมได้มีการรายงานความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างฯ ปัจจุบันดำเนินการคืนผิวจราจรถนนแจ้งวัฒนะได้เกือบหมดแล้ว เหลือซ่อมแซมเพียงบางจุด ความสำเร็จในภาพรวม 97% ส่วนถนนรามอินทราจะคืนพื้นผิวการจราจรได้ในเดือนตุลาคม 2566 และจะดำเนินการคืนพื้นผิวการจราจรเสร็จสิ้นทั้งโครงการภายในเดือนมีนาคม 2567
การประชุมมีการรายงานประเด็นปัญหาจากการก่อสร้าง ประกอบด้วย การจัดการปัญหาจราจร ได้แก่ ผิวจราจร เกาะกลาง คันหินทางเท้า จุดกลับรถ เส้นจราจร ไฟฟ้าส่องสว่าง และสายสื่อสาร โดยปัญหาในการคืนพื้นผิวการจราจรส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณใต้สถานีต่างๆ เนื่องจากต้องมีการวางระบบไฟฟ้าและต้องทำงานร่วมกันกับหลายหน่วยงาน เช่น การไฟฟ้าฯ ซึ่งกทม. ได้ประสานกรมทางหลวงและรฟม. ให้เร่งรัดการคืนทางเท้าและพื้นผิวการจราจร เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยการก่อสร้างหน่วยงานภาครัฐพยายามเร่งรัดการดำเนินการเคลื่อนย้ายระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ให้แล้วเสร็จ เพื่อคืนพื้นผิวการจราจรโดยเร็วที่สุด รวมถึงการเตรียมนำเทคโนโลยีสแกนถนนด้วยระบบ Ground Penetrating Radar : GPR (เครื่องมือหยั่งความลึกด้วยสัญญาณเรดาร์) เพื่อตรวจสอบและป้องกันแก้ไขปัญหาถนนทรุด นอกจากนี้ในส่วนของข้อร้องเรียนเรื่องถนนไม่เรียบเนื่องจากฝาท่อของถนนปิดไม่สนิท ได้มีการหารือในการปรับปรุงฝาท่อโดยยึดการซ่อมแซมถนนพระรามที่ 3 เป็นต้นแบบ คือ ขยายฝาท่อให้ใหญ่ขึ้นเพื่อลดจำนวนฝาท่อ รวมถึงการเตรียมติดตั้งระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรทางแยกแบบ Adaptive โดยจะดำเนินการด้วยการใช้กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในการตรวจนับปริมาณการจราจรบริเวณทางแยกให้สอดคล้องกับปริมาณจราจรในแต่ละช่วงเวลาแก้ปัญหาการจราจร นอกจากนี้ได้มีการพิจารณาการสร้างที่จอดรถจักรยานในแต่ละสถานีเพื่อรองรับการเดินทางด้วยรถจักรยานมาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูตลอดเส้นทางอีกด้วย
ในส่วนปัญหาการบริหารจัดการเรื่องของระบบการระบายน้ำ มีจุดที่น่ากังวลเมื่อมีฝนตกลงตามเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้าในหลายๆ จุด ซึ่งปีที่แล้วจากการสำรวจพบว่ามี 770 จุด ที่เป็นจุดเปราะบาง ซึ่งกทม.รับทราบและดำเนินการแก้ไข ส่วนจุดที่มีการเริ่มต้นการก่อสร้างใหม่นั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าหากฝนตกลงมาแล้วจะเกิดปัญหาใด อาจจะต้องใช้การคาดการณ์ในการแก้ไขปัญหาไปก่อนล่วงหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชน โดยในส่วนของแผนรับมือน้ำท่วมช่วงวงเวียนนบางเขน - ม.ราชภัฏพระนครและซอยรามอินทรา 5 นั้น ได้มีการดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 3 จุดในบริเวณจุดเปราะบางที่ระบายน้ำได้ช้า โดยเป็นเครื่องสูบน้ำของแขวงทางหลวงกรุงเทพฯ และเครื่องสูบน้ำของกทม. โดยมีการสำรองเครื่องสูบน้ำไว้อย่างเพียงพอในกรณีฉุกเฉิน รวมถึงในอนาคตถนนที่มีการก่อสร้างใหม่จะขยายท่อระบายน้ำให้ใหญ่ขึ้นและจะปรับปรุงโดยใช้ร่องระบายน้ำขนาดใหญ่เพื่อเร่งระบายน้ำจากพื้นผิวจราจรแก้ปัญหาขยะลอยติดกีดขวางบริเวณตะแกรง นอกจากนี้จะตั้งไลน์กลุ่มเพื่อติดต่อสื่อสารกันระหว่างหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูเพื่อการประสานงานในการแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
นอกจากนี้ รฟม.จะร่วมมือกับกทม. ประชาสัมพันธ์เส้นทางที่ยังมีการก่อสร้างเพื่อให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทาง ผ่านทางช่องทางการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงาน อาทิ เฟซบุ๊กเพจ "กรุงเทพมหานคร" และ "การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย" ทั้งนี้หากประชาชนพบปัญหาการจราจรและการระบายน้ำสามารถแจ้งได้ที่ Traffy Fondue และช่องทางร้องเรียนของกทม. และสำนักงานเขต กทม.ยินดีที่จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน
การประชุมแก้ไขปัญหาฯ ในครั้งนี้มีพญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารเขตบางเขน ผู้แทนสํานักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตมีนบุรีสำนักงานเขตคันนายาว สำนักงานเขตหลักสี่ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้า บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด แขวงทางหลวงกรุงเทพ สน.บางเขน สน.คันนายาว สน.มีนบุรี สน.ทุ่งสองห้อง การประปาสาขาบางเขน บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น เข้าร่วมประชุม