In Bangkok
เดินหน้านโยบายผ้าอนามัยฟรีของกทม. หลังนำร่องบางคอแหลม-บางขุนเทียน
กรุงเทพฯ-“นโยบาย “นำร่องผ้าอนามัยฟรี” หนึ่งในนโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โดยผ้าอนามัยถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับผู้มีประจำเดือนทุกคน และเพื่อเป็นการแบ่งบาภาระของผู้มีประจำเดือนและครอบครัว รวมถึงเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากปัญหาอื่น กรุงเทพมหานครจึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย นำร่องจัดหาผ้าอนามัยให้กับนักเรียนโรงเรียนสังกัดกทม. นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนความรู้เรื่องสุขอนามัยประจำเดือน อย่างต่อเนื่องในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยเป้าหมาย คือ การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ สุขอนามัยเจริญพันธุ์ที่ปลอดภัยและการให้ความรู้ไปพร้อมๆ กับการมอบผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัยให้ฟรี ซึ่งได้นำร่องในพื้นที่เขตบางคอแหลมและบางขุนเทียน” นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว
ทั้งนี้ คุณสานฝัน จิตต์มิตรภาพ ผู้ก่อตั้งโครงการยังฝัน (โครงการเพื่อสังคม แก้ปัญหาการขาดแคลนผ้าอนามัย) ผู้สนับสนุนจากบริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ปประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตผ้าอนามัยลอริเอะ และ บริษัท ไอร่า คอนเซปท์ จำกัด ผู้ผลิตผ้าอนามัยไอร่า Ira Concept ผ้าอนามัยออร์แกนิกย่อยสลายได้ ร่วมกันแจกผ้าอนามัยไปแล้วจำนวน 220,890 ชิ้น ให้แก่นักเรียนหญิงที่มีประจำเดือนแล้ว 1,885 คน ในระดับชั้น ป.4 - ม.6 โรงเรียนสังกัดกทม.พื้นที่เขตบางคอแหลมและบางขุนเทียน ครบทุกแห่ง
รวมถึง ความร่วมมือของ “โครงการ ลอรีเอะ SIS to SIS มั่นใจวัยแรกสาว” และ “โครงการ Ira For All” ได้จัดอบรมให้ความรู้เรื่องสุขอนามัยเจริญพันธุ์และสุขอนามัยประจำเดือนกับนักเรียนหญิงในระดับชั้น ป.4 - ม.3 จำนวนทั้งสิ้น 3,936 คน จากโรงเรียนสังกัดกทม. 23 แห่งในพื้นที่เขตบางคอแหลมและบางขุนเทียน โดยแต่ละชั้นเรียนมีสัดส่วนเด็กนักเรียนที่มีประจำเดือนแล้ว ดังนี้ ป.4 จำนวน11.4% ป.5 จำนวน 37.5% ป.6 จำนวน67.3% ม.1 จำนวน 87.0% ม.2 จำนวน96.9% และ ม.3 จำนวน99.5% ภาพรวมการอบรมประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดย 93.3% ของเด็กนักเรียนที่เข้ารับการอบรมกล่าวว่าภายหลังการอบรมมีความรู้เรื่องสุขอนามัยประจำเดือนในระดับดี ถึง ดีมาก ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจากการอบรมครั้งนี้ จะถูกนำไปใช้เพื่อปรับปรุงเนื้อหาและวิธีการสอนเรื่องสุขอนามัยเจริญพันธุ์และสุขอนามัยประจำเดือนในโรงเรียนต่อไปในอนาคต รวมถึงจะขยายผลการอบรมไปยังโรงเรียนพื้นที่เขตอื่น อีก 28 แห่ง คาดว่าจะมีโรงเรียนที่ได้รับการอบรมมีรวมทั้งสิ้น 51 โรงเรียน ทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในปีนี้
คุณสานฝัน จิตต์มิตรภาพ กล่าวว่า ในการเติบโตของเด็กผู้หญิงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ การได้รับความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับวิธีการดูแลสุขอนามัยเจริญพันธุ์และสุขอนามัยประจำเดือนถือเป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Wellbeing) ทั้งทางกายและทางใจของผู้หญิงทุกคน และนอกเหนือจากความรู้และทักษะในการดูแลสุขอนามัยส่วนตัวแล้ว ทัศนคติและพฤติกรรม (Attitude and Behavior) ที่ดีต่อเรื่องการดูแลสุขอนามัยก็ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องหล่อหลอมให้แก่เด็กผู้หญิงตั้งแต่ก่อนวัยเจริญพันธุ์ เพื่อให้พวกเขาสามารถตัดสินใจในเชิงบวกเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและความสัมพันธ์ส่วนตัวในมิติต่างๆ ได้
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าผลจากการทดสอบจะบ่งชี้เรื่องความรู้ ความเข้าใจของเด็กนักเรียนหญิงภายหลังการอบรมไปในทิศทางที่ดี แต่หากมองภาพกว้างโดยอิงจากการสำรวจจาก UNFPA UNESCO และ IPPF ในปี 2563 ยังคงพบว่าจำนวน 44% ของนักเรียนหญิง 1,432 คน อายุ 15 – 24 ปี จาก 27 ประเทศ ที่เข้าร่วมการสำรวจ กล่าวว่าตนไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับประจำเดือนและการดูแลสุขอนามัยประจำเดือนก่อนที่จะเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก และ 72% ยังรู้สึกว่าไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอจากโรงเรียนเกี่ยวกับเรื่องการดูแลสุขอนามัยเจริญพันธุ์
“สถิติเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าความรู้เรื่องสุขอนามัยเจริญพันธุ์และสุขอนามัยประจำเดือนที่ถูกต้องยังคงเป็นสิ่งที่ภาครัฐและสังคมต้องร่วมกันผลักดันต่อไป เพื่อให้เด็กทุกคนได้เรียนรู้เรื่องควารมแตกต่างทางเพศของมนุษย์ ทั้งทางสรีระและฮอร์โมน สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและถูกหลักสุขอนามัยที่ดี รวมทั้งมีความกล้าที่จะพูดและปรึกษาเรื่องดังกล่าวกับบุคคลใกล้ชิดหรือแม้กระทั่งบุคลากรทางการแพทย์เมื่อเกิดความสงสัยหรือมีปัญหา อย่างไรก็ดีเพื่อเป็นการขยายผลโครงการตามนโยบายผ้าอนามัยฟรี กรุงเทพมหานครจะพิจารณางบประมาณเพื่อแจกผ้าอนามัยฟรีให้แก่เด็กเนีเรียนหญิงป.4-ม.6 ในโรงเรียนสังกัดกทม.ทุกแห่ง ในพื้นที่ 50 เขต โดยคาดว่าจะมีนักเรียนที่ได้รับผ้าอนามัยฟรีถึง 28,000 คน” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว