In Bangkok

กทม.ผนึกเครือข่ายแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เตรียมหารือแนวทางเพิ่มเติมกับรัฐบาล



กรุงเทพฯ-(15 ก.ย. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2/2566 ณ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร ว่า วันนี้เป็นการประชุมเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ฝุ่น ซึ่งมีความเป็นห่วงเรื่องสถานการณ์เอลนีโญ คือสถานการณ์ที่มีความแล้ง ซึ่งมี 2 ความเห็น ความเห็นแรกสถานการณ์เอลนีโญไม่ทำให้การกดอากาศเป็นฝาชีครอบ อากาศสามารถไหลผ่านได้ดีขึ้น อีกแนวคิดคืออากาศแล้ง การเผาชีวมวลมีเยอะขึ้นทำให้ฝุ่นรุนแรงขึ้น คงต้องเตรียมรับมือในสถานการณ์ที่แย่ที่สุดไว้ก่อน โดยเป็นแผนเดิมที่ดำเนินการอยู่ ทั้งนี้มีข่าวดีเรื่องแรกคือ รัฐบาลมีนโยบายเปลี่ยนการใช้น้ำมันเป็นยูโร 5 และมาตรฐานรถยนต์ทั้งรถเล็กและรถใหญ่ให้เป็นยูโร 5 ในเดือนมกราคม ปีหน้า ถ้ารัฐบาลยึดตามกำหนดการเดิมคาดว่าสถานการณ์ในปีหน้าน่าจะดีขึ้น

เรื่องที่สองตัวโรงงานอุตสาหกรรมในกรุงเทพมหานครมีประมาณ 5,000 แห่ง มีประมาณ 500 แห่งที่มีความเสี่ยงเนื่องจากใช้เชื้อเพลิงที่อาจเกิดฝุ่น PM2.5 ได้ จึงให้เอาพิกัดโรงงานทั้งหมดลงจีพีเอสแล้วเข้าไปตรวจสอบข้อมูล แต่คิดว่าไม่ได้มีผลกับ PM2.5 มากนัก อย่างไรก็ตามคณะกรรมการฯ มีความกังวลเกี่ยวกับโรงงานในพื้นที่ปริมณฑลที่อาจส่งผลกับฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ จึงได้สั่งการให้นำข้อมูลโรงงานเหล่านี้เข้ามาเป็นฐานข้อมูลของกรุงเทพมหานครด้วย โดยเพิ่มเข้าไปในแผนและขอให้กรมโรงงานช่วยส่งข้อมูลการปล่อยมลพิษของโรงงานเหล่านี้

เรื่องที่สาม การเผาชีวมวล ถือเป็นเรื่องใหญ่ คาดว่าจะได้หารือกับรัฐบาลใน 2 ส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยส่วนแรกคงต้องเน้นเรื่องในประเทศซึ่งมีอ้อยกับข้าว ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้พูดเรื่องการให้ Incentive เพื่อลดการเผา คงต้องฝากรัฐบาลอย่างจริงจัง ในส่วนของกรุงเทพมหานครมีการจัดซื้อเครื่องอัดฟางเพิ่มในปีงบประมาปีนี้อีก 3 เครื่อง ซึ่งคาดว่าการให้บริการอัดฟางจะสามารถลดการเผาในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ อีกส่วนคือฝุ่นที่ข้ามแดนจากกัมพูชา ลาว เมียนม่า ก็มีปริมาณมากพอสมควร รัฐบาลต้องคุยกับนานาชาติ สำหรับจุดเริ่มต้นที่สำคัญคือเรื่องการพยากรณ์ฝุ่นเป็นสิ่งที่ทำให้เราเตือนภัยล่วงหน้าได้ ตอนนี้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) มีการพัฒนาโมเดลขึ้นมา แล้วก็จะมีการทำเครือข่าย WFH (Work from Home) ให้เข้มข้นขึ้น ปัจจุบันมีเครือข่ายอยู่ในบริษัทใหญ่ ๆ ปีนี้ต้องมีการขยายฐานมากขึ้น ถ้าสามารถคาดการณ์ได้แม่นยำภายใน 3 วัน ว่าฝุ่นเกิดวันไหน แล้วออกประกาศ WFH ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และใช้รถสาธารณะมากขึ้น 

นอกจากนี้ดำเนินการเรื่องอื่น เช่น ทำทางเท้าให้ดีขึ้น ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ใช้รถไฟฟ้า การมีฟีดเดอร์ที่มีคุณภาพ ประชาชนคงใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะที่ดีขึ้น วันนี้ได้ให้คณะกรรมการฯ ไปทบทวนแผนซึ่งจะมีการพิจารณากันอีกครั้ง ทั้งนี้เมื่อได้พบกับนายกรัฐมนตรีก็จะหารือในเรื่องนี้ต่อไป ส่วนการดูแลผู้ป่วยทางเดินหายใจกรุงเทพมหานครมีความพร้อมอยู่แล้วแต่หลักการสำคัญคือการป้องกันให้ดี โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง การทำห้องปลอดภัย การจัดซื้อเครื่องกรองอากาศให้โรงเรียน การแจกหน้ากากอนามัยให้กลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยทางเดินโรคหายใจ

สำหรับวันนี้มีนายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร หน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน่วยงานภายนอก อาทิ กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานนโยบายและแผนการจราจรและขนส่ง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กรมธุรกิจพลังงาน กรมอุตุนิยมวิทยา การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรมกรุงเทพมหานคร กรมโรงงานอุตสาหกรรม และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม