In Bangkok

ผู้ว่าฯกทม.สัญจรเขตสวนหลวงเดินหน้า แก้ปัญหาน้ำท่วมทำเขื่อนแก้ปัญหาจราจร



กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯ สัญจรเขตสวนหลวง เดินหน้าบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วม เล็งสร้างเขื่อนแนวฟันหลอ พร้อมแก้ไขจราจรจุดฝีด 

(16 ก.ย.66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมในกิจกรรม “ผู้ว่าฯ สัญจร” เพื่อติดตามการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติงานของสำนักงานเขตสวนหลวง รวมถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยมี นางสาวปิยะวรรณ จระกา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสวนหลวง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสวนหลวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรม ณ ห้องประชุม ชั้น 6 เขตสวนหลวง 

ผู้ว่าฯ​ ชัชชาติ​ กล่าวว่า​ เขตสวนหลวงเป็นเขตที่ใหญ่พอสมควร มีพื้นที่ประมาณ 23.678​ ตร.กม. ประชากรประมาณ 120,000 คน ปัญหาหลักคือเป็นเขตที่มีคลองมาก​ คลองหลักคือคลองประเวศบุรีรมย์​ และยังมีคลองย่อยอีกหลายคลอง​ มีหมู่บ้านสร้างใหม่กับชุมชนอยู่ด้วยกัน​ทำให้ปัญหาที่พบคือเรื่องน้ำท่วม​ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการเข้าไปปรับปรุงในหลายพื้นที่​ เห็นได้ว่าปีนี้สถานการณ์น้ำท่วมดีขึ้นและต้องดำเนินการต่อไป เนื่องจากยังมีอีกหลายซอยที่ต้องดำเนินการ​ ส่วนปัญหาเรื่องการจราจรก็จะบรรเทาขึ้นเนื่องจากมีรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเข้ามาและเปิดให้บริการแล้ว​ ในส่วนของชุมชนที่มีประมาณ 45 ชุมชน รวมถึงชุมชนแออัดซึ่งสภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก​ เช่น​ ชุมชนโมราวรรณ​ ซึ่งเขตสวนหลวงมีปัญหาในหลากหลายมิติ เพราะมีทั้งหมู่บ้านชุมชนแออัดและคลอง ก็ต้องบริหารจัดการให้ดี ซึ่งที่ผ่านมาก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นในเรื่องของการแก้ปัญหาน้ำท่วม​ โดยขณะนี้ได้นำงบประมาณปี 2567 นำมาลงสู่พื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาแล้ว 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า เรื่องเร่งด่วนอีกเรื่อง​ คือ​เรื่องการสร้างเขื่อนริมคลองประเวศบุรีรมย์​ ซึ่งยังมีพื้นที่ฟันหลออยู่​ รวมถึงการขุดลอกคลองย่อยที่ประชาชนยังใช้สัญจรอยู่ในปัจจุบัน เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เขตสวนหลวง​ โดยจะทำการขุดลอกคลองให้มีความลึกมากยิ่งขึ้น​ รวมถึงก่อสร้างสะพานข้ามคลองในบางจุด เพื่อให้ประชาชนเดินทางสัญจรได้ดีขึ้น ปัญหาอีกเรื่องคือเรื่องการจัดเก็บขยะ​ บริเวณถนนกำแพงเพชร 7​ ซึ่งเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย​ ที่ยังมีปัญหาน้ำท่วมขังอยู่ รวมถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์สวนสาธารณะในพื้นที่เขตสวนหลวง ให้มีสภาพดีขึ้นรองรับความต้องการของประชาชน 

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันจันทร์นี้ช่วงบ่ายจะเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อแจ้งปัญหาเร่งด่วนของกรุงเทพมหานคร​ และหารือแนวทางในการดำเนินการ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้หารือไปแล้ว 1 ครั้ง​ ซึ่งน่าจะมีการแถลงข่าวในวันจันทร์​ โดยนายกรัฐมนตรีก่อนที่ท่านจะเดินทางไปต่างประเทศ​ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดี ที่จะร่วมมือกันกับหน่วยงานต่างๆในการแก้ไขปัญหา เร่งด่วนให้มีประสิทธิภาพ ในส่วนของข้อสั่งการของกระทรวงมหาดไทยที่ให้รวบรวมรายชื่อผู้มีอิทธิพลในพื้นที่จังหวัด​นั้น ทางกทม.ได้มอบหมายให้พล.ต.อ.อดิศร์  งามจิตสุขศรี​ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​ เป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว​ แต่กรุงเทพฯ​ อาจจะแตกต่างจากทางจังหวัดอื่นเนื่องจากจังหวัดอื่นผู้ว่าราชการจังหวัดดูในส่วนของตำรวจด้วย​ แต่กทม.จะเป็นอิสระและแตกต่างกัน​ จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องผู้มีอิทธิพลโดยตรงและไม่ได้กำกับเรื่องการปกครอง​ แต่จะร่วมมือโดยการทำข้อมูลสนับสนุนเพิ่มเติมหากตำรวจประสานขอความร่วมมือมา​ 

ส่งกำลังใจผ่านมื้อกลางวันสัญจรกับบุคลากรเขตสวนหลวง 

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้รับประทานอาหารกลางวันร่วมกับบุคลากรสำนักงานเขตสวนหลวง จำนวน 5 คน ได้แก่ นางสาวลักษณา รักกำเหนิด ลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพนักงานทั่วไป (กวาด) นางชุตินันท์ ยิ่งปัญญา ลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งพนักงานทั่วไป (กวาด) นายเฉลา หวังชอบ ลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพนักงานทั่วไป (เก็บขนมูลฝอย) นางสาววิสา แสนสุรินทร์ ลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งพนักงานสวนสาธารณะ และนางวาสนา จุ้ยพูล ลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพนักงานทั่วไป (ระบายน้ำ) บ.2 พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงเรื่องทั่วไป ชีวิตความเป็นอยู่ อายุราชการ ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน รวมถึงรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ ปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน

ตลอดจนให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ในความรับผิดชอบ ทำงานเพื่อประชาชนและร่วมกันพัฒนากรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ การรับประทานอาหารกลางวันเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม “ผู้ว่าฯ สัญจร” โดยให้ความสำคัญกับบุคลากรทุกคนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งบุคลากรดังกล่าวเปรียบเสมือนโซ่ข้อสุดท้าย จะปฏิบัติงานใกล้ชิดกับประชาชน อยู่ในพื้นที่จริงและเข้าถึงปัญหามากที่สุด สำหรับรายการอาหาร ประกอบด้วย ข้าวหมกไก่ ซุปไก่ สลัดแขก เนื้อสะเต๊ะ ไก่สะเต๊ะ ขนมหวาน บัวลอย ผลไม้ 

ตรวจเยี่ยมชุมชนในพื้นที่ พร้อมติดตามการแก้ไขปัญหา 

จากนั้นในช่วงบ่าย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารลงพื้นที่ ดังนี้ จุดที่ 1 ตรวจจุดพักคัดแยกขยะ หมู่บ้านเอื้อสุข ซ.พัฒนาการ 58 ซึ่งทางหมุ่บ้านจะรวบรวมขยะตามบ้านเรือนประชาชน ซึ่งผ่านการคัดแยกแล้ว มาไว้ที่จุดพักขยะบริเวณท้ายหมู่บ้าน เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการจัดเก็บของเขตฯ จุดที่ 2 ตรวจเยี่ยมการจัดกิจกรรมเวทีเรียนรู้ สวนหลวง EF Show Day บริเวณห้องประชุม ชั้น 5 วัดปากบ่อ (ซ.อ่อนนุช 35) จุดที่ 3 ตรวจเยี่ยมศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนอัลกุ๊บรอ (ซ.พัฒนาการ 32) พร้อมมอบอุปกรณ์ของเล่นเสริมพัฒนาการ เยี่ยมชมมัสยิดอัลกุ๊บรอ หรือสุเหร่าใหญ่ (มัสยิดแห่งแรกของเขตสวนหลวง สร้างขึ้นต้นยุครัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 1) พร้อมพบอิหม่ามประจำมัสยิด เยี่ยมชมจุดท่องเที่ยว DD Farm (ฟาร์มแพะ) โดยนายอนุชา เงาะไพรวรรณ ประธานชุมชนอัลกุ๊บรอ ร่วมให้ข้อมูล จุดที่ 4 ตรวจการจราจรบริเวณแยกกระเทียม ซอยอ่อนนุช 17 ซึ่งภายหลังการติดตั้งไฟสัญญาณจราจรและเปิดใช้งาน

พบว่ามีปัญหาการจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วน เนื่องจากแยกดังกล่าวอยู่ติดกับชุมชนและใกล้ตลาด ในเบี้องต้นได้ปรับเปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟกระพริบแทน เพี่อให้รถชะลอความเร็วก่อนถึงสามแยก และประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน จุดที่ 5 เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ชุมชนเจริญพัฒนาถาวร (ท้ายซ.พัฒนาการ 38) พื้นที่ต้นแบบชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) โดยนายศราวุฒิ นาคนาวา ประธานชุมชนเจริญพัฒนาถาวร ร่วมให้ข้อมูล เยี่ยมชมจุดเช็คอินสะพานสีรุ้ง มุ่งสู่ฝัน ของนักท่องเที่ยว แวะชมฟาร์มสุข ปลูกได้ที่บ้านเราเอง ซึ่งเป็นฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์ ผักปลอดสารพิษ โดยนายอรุณสิทธ์ หมัดรอด เยี่ยมชมการนำวัสดุเหลือใช้มาเพิ่มมูลค่า

พร้อมทั้งถ่ายทอดให้กับสมาชิกในชุมชนและผู้สนใจทั่วไป บริเวณร้าน STEAK บัยตี ซึ่งเป็นร้านอาหารสไตล์วินเทจ โดยนางสาวมุกดา เยนา จุดที่ 6 เดินทางไปยังถนนกำแพงเพชร 7 ตรวจประตูระบายน้ำคลองลาว ปัญหาการระบายน้ำลงคลองบางโคล่ (ระบายน้ำจากคลองกะจะ) จุดที่ 7 ตรวจจุดการจราจรฝืดบริเวณถนนพัฒนาการ หน้าโรงเรียนปาณยาพัฒนาการ และปัญหาการเก็บค่าผ่านทาง ซ.พัฒนาการ 44 (ซอยเอกชน) และจุดที่ 8 ตรวจจุดเสี่ยงภัยบริเวณสวนสาธารณะทางลงจากมอเตอร์เวย์ถนนศรีนครินทร์ (ขาเข้า) 

ทั้งนี้ ในช่วงเช้าก่อนการประชุม “ผู้ว่าฯ สัญจร” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ส.ก.เขตสวนหลวง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ตรวจพื้นที่ปัญหาขาดทางเข้าออกชุมชนเจ็ดขนัด บริเวณวัดยาง ซ.อ่อนนุช 23 ซึ่งประชาชนในชุมชนต้องใช้เรือในการเดินทางเข้า-ออกชุมชน โดยทางชุมชนได้ร่วมกันร้องเรียนว่ามีความประสงค์ให้กทม. สร้างสะพานข้ามคลองประเวศบุรีรมย์ (คลองพระโขนง) เพื่อความสะดวกในการเดินทางสัญจรออกมาฝั่งถนนอ่อนนุช (สุขุมวิท 77) โดยกทม. ได้รับเรื่องและจะนำไปประสานงานต่อไป