EDU Research & ESG
ลุ้น!เช้ามืดของ17ก.ย.นี้ดูดาวหางนิชิมูระ หวั่นอุปสรรคหลักฟ้าปิดคือเมฆ-ฝน
ปราจีนบุรี-พรุ่งนี้เช้า (วันที่ 17 กันยายน 2566 )ลุ้น!ดูดาวหางนิชิมูระ หรือ C/2023 P1 (Nishimura) อุปสรรคหลักคือเมฆ-ฝน
เมื่อเวลา 22.30 น.วันนี้ 16 ก.ย.66 ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรีได้รับแจ้งจาก งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กรสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยภาพ “ดาวหางนิชิมูระ” บันทึกในช่วงเช้ามืด 4 กันยายน 2566 เวลาประมาณ 05:26 น. บริเวณอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏทางทิศตะวันออก บริเวณกลุ่มดาวปู นั้น
วันพรุ่งนี้เช้า ค่อนรุ่ง (วันที่ 17 กันยายน 2566 ) “ดาวหางนิชิมูระ” หรือ C/2023 P1 (Nishimura) จะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ที่ระยะห่าง 34 ล้านกิโลเมตร (ใกล้กว่าวงโคจรของดาวพุธประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์) คาดการณ์ว่าจะมีความสว่างมากขึ้น และอาจมีค่าความสว่างปรากฏมากถึง 3.0 มีเวลาสังเกตประมาณเกือบ 1 ชั่วโมง ก่อนจะตกลับขอบฟ้าตามดวงอาทิตย์ไป แต่เนื่องจากช่วงนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงมรสุม มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ มีเมฆมาก จึงอาจเป็นอุปสรรคทำให้สังเกตได้ค่อนข้างยาก
ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2566 เป็นต้นไป ดาวหางจะปรากฏในช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า อยู่บริเวณระหว่างกลุ่มดาวสิงโต (Leo) และกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) ตำแหน่งของดาวหางอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นมุมประมาณ 10 องศา
โดย ดาวหางนิชิมูระ หรือ C/2023 P1 (Nishimura) ได้รับยืนยันการค้นพบเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 เป็นดาวหางคาบยาว มีแหล่งที่มาจากเมฆออร์ต (Oort Cloud) มีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 437 ปี
โคจรมาใกล้โลกที่สุดเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา
และจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 17 กันยายน 2566 หลังจากนี้ดาวหางจะค่อย ๆ โคจรออกห่างจากดวงอาทิตย์ และมีความสว่างลดลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้อีก และจะโคจรกลับเข้ามาเฉียดโลกและดวงอาทิตย์อีกครั้งในอีกกว่า 400 ปีข้างหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงาน ทั้งนี้ ก่อนหน้า นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร.เปิดเผยว่า ขณะนี้ดาวหาง “C/2023 P1 (Nishimura)” หรือ "ดาวหางนิชิมูระ” กำลังจะโครจรเฉียดโลกในวันที่ 12 กันยายน 2566 และจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดวันที่ 17 กันยายน 2566 ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงที่สว่างที่สุด และยังมีมุมห่างจากดวงอาทิตย์ที่มากพอจนอาจสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าในช่วงหัวค่ำ
“ดาวหางนิชิมูระ” ถูกค้นพบครั้งแรกโดยฮิเดโอะ นิชิมูระ (Hideo Nishimura) นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ถ่ายภาพท้องฟ้าในช่วงรุ่งเช้าพบว่ามีวัตถุท้องฟ้าบางอย่างที่ไม่สามารถระบุได้บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) ปรากฏในภาพ และเมื่อตรวจสอบภาพถ่ายในวันก่อนหน้า ก็พบวัตถุเดียวกันนี้ แต่มีตำแหน่งปรากฏเปลี่ยนไปเล็กน้อย จึงคาดว่าน่าจะเป็นดาวหางดวงใหม่ที่ไม่เคยค้นพบมาก่อน
ดาวหางดวงนี้ได้รับการยืนยันการค้นพบ ในวันที่ 15 สิงหาคม 2566 และกำหนดชื่ออย่างเป็นทางการว่า C/2023 P1 (Nishimura) จัดเป็นดาวหางคาบยาว มีแหล่งที่มาจากเมฆออร์ต (Oort Cloud)มีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 437 ปี ขณะนี้กำลังโคจรเข้าใกล้โลกและดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อย ๆและจะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 17 กันยายน 2566
มานิตย์ สนับบุญ/ปราจีนบุรี