In Bangkok

นายกฯ แต่งตั้งคณะทำงานเร่งรัดพัฒนา บูรณาการแก้ปัญหาตอบโจทย์ประชาชน



กรุงเทพฯ-นายกฯ แต่งตั้งคณะทำงานเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร บูรณาการความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ แก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วตอบโจทย์ประชาชนมากขึ้น

(19 ก.ย.66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการเข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เมื่อวานนี้(18 ก.ย.66) ว่า เป้นการเข้าพบเพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรุงเทพมหานคร โดยท่านนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะทำงานเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร ซึ่งมีทั้งหมด 7 คน ประกอบด้วย 1.นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะทำงาน 2.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานคณะทำงาน 3.รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมเป็นรองประธานคณะทำงาน 4.เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นคณะทำงาน 5.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นคณะทำงาน 6.ผู้ว่าราชการเป็นคณะทำงาน และ7. ปลัดกรุงเทพมหานครเป็นคณะทำงานและเลขานุการ 

สำหรับคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องจากการเข้าพบท่านนายกรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้หารือถึงปัญหาต่างๆ ซึ่งท่านนายกฯ ก็ได้มองว่ากรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีบทบาทสำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทย มี GDP  33% ของ GDP ประเทศไทย (5.3 ล้านล้าน / 16 ล้านล้าน) รายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็น 30% ของประเทศ (3 แสนล้านบาท / 1 ล้านล้านบาท) ประชากรประมาณ 15% ของประชากรทั้งประเทศ (8-10 ล้านคน / 66 ล้านคน) จำนวนบริษัทที่จดนิติบุคคลคิดเป็น 36% ของทั้งประเทศ (320,000 /890,000 ราย)

ปัญหาสำคัญในการขับเคลื่อน กทม.คือ การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) การประปานครหลวง(กปน.) องค์การการขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ(กคช.) การกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) กระทรวงคมนาคม(คค.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) กรมควบคุมมลพิษ(คพ.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)

ที่ผ่านมา การประสานงานระหว่าง กทม. กับหน่วยงานต่างๆ เป็นไปได้ด้วยดีในระดับหนึ่ง แต่ก็ขาดการขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์อย่างบูรณาการ หลายๆครั้งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าร่วมกันใน
แต่ละเรื่อง ดังนั้นจึงได้มีการตั้งคณะทำงานเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนปัญหาเร่งด่วนของ กทม. ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน และไม่สามารถรอการปรับโครงสร้าง เช่น การแก้ พ.ร.บ.กทม. ในระยะยาวได้ โดยคณะทำงานดังกล่าว จะทำงานคล้ายๆรูปแบบ คณะกรรมการบริหาร (Executive Committee) ในภาคเอกชน เป็นคณะเล็กๆ มีความคล่องตัว ตัดสินใจและขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและตอบโจทย์พี่น้องประชาชนมากขึ้น โดยคณะทำงานฯ รายงานคืบหน้าผลการดำเนินงานทุกเดือน

สำหรับปัญหาเร่งด่วนของ กทม.ที่ต้องเร่งดำเนินการ 
ด้านการจราจร (กทม. สตช. รฟม. กทพ. รฟท. ขบ. ทล. ทช. ขสมก.) ได้แก่
- การกวดขันระเบียบวินัยจราจร การลดปัญหาจุดฝืด การทำผิดกฎจราจร การจอดรถในที่ห้ามจอด
- การกำกับดูแลการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรใน กทม. เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง สีเหลือง สีชมพู โครงการนำสายไฟฟ้าลงดิน
- การพัฒนาระบบสัญญานไฟจราจรให้เป็นแบบอัตโนมัติ และเชื่อมโยงกันระหว่างทางแยก
- การจัดการระบบการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงกัน รถไฟฟ้า รถเมล์ มอเตอร์ไซค์ รถสองแถว เรือ ทางเดินเท้า ให้มีราคาที่เหมาะสม และสะดวก

ด้านเศรษฐกิจ (กทม. รฟม. รฟท. กทพ. กทท. BOI กค. ศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ CEA) ได้แก่
- การใช้ทรัพยากรของรัฐช่วยเรื่องการทำมาหากินของผู้มีรายได้น้อย เช่น การจัดพื้นที่ให้ขายของ
- การเตรียมความพร้อมในเรื่องการส่งเสริมพัฒนาทักษะ (re-skill, up-skill) ให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐต้องการส่งเสริม อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงอุตสาหกรรมสีเขียว และอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศ
- การสนับสนุนเรื่องที่อยู่อาศัย ทั้งในส่วนของผู้มีรายได้น้อย และที่อยู่อาศัยใกล้งานสำหรับคนทำงาน
- การสนับสนุนการจัดทำ Special Economic Zone ใน กทม.เพื่อกระตุ้นการลงทุน
- IHO ดึงดูดบริษัทข้ามชาติให้มาตั้งสำนักงานใน กทม. (International Headquarters) เพื่อให้เกิดการจ้างงาน

ด้านการท่องเที่ยว (กทม. สตช. ททท. คค. CEA) ได้แก่
- ดึงอัตลักษณ์สร้างเศรษฐกิจ 50 ย่านทั่วกรุงเทพฯ (เศรษฐกิจสร้างสรรค์) เพื่อเพิ่มแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว
- ดูแลเรื่องความปลอดภัยในด้านต่างๆ อาทิ การเดินทาง การเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ตุ๊กๆ แท็กซี่ ไกด์ผี ด้านที่พัก คุณภาพ มาตรฐาน การให้บริการ ด้านแหล่งท่องเที่ยว ความปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวก การบริการ ได้มาตรฐาน ปลอดภัย ไม่หลอกลวง
- จัดงาน Winter Festival ในช่วง พ.ย.-ธค เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวในช่วงปลายปี

ด้าน PM2.5 (กทม. กษ. คค. ขบ. กค.) ได้แก่
- กำหนดมาตรการควบคุมการเผาข้าว อ้อย ผลิตผลทางการเกษตรทั้งในประเทศและนอกประเทศ
- ส่งเสริมการใช้รถยนต์ที่มีการปล่อยมลพิษน้อย เช่น รถ EV รถและน้ำมันมาตรฐาน EURO5

ด้านการนำสายสื่อสารลงดิน (กทม. กสทช. NT กฟน. ผู้ประกอบการโทรคมนาคม)
- เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กสทช การไฟฟ้านครหลวง NT ผู้ประกอบการ กทม. ในการร่วมกันจัดระเบียบสายสื่อสาร

ทั้งนี้ คาดว่าสัปดาห์หน้าหลังจากนายกรัฐมนตรีกลับจากราชการในต่างประเทศ จะมีการนัดหารือคณะทำงานฯ ในรอบแรก