In News

ไทยประกาศความมุ่งมั่นขับเคลื่อนSDGs ชู3แนวทางยกระดับคุณภาพชีวิตปชช.



ไทยประกาศความมุ่งมั่นการขับเคลื่อน SDGs พร้อมเสริมสร้างกรอบความร่วมมือพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ และสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศให้เข้มแข็ง

วันนี้ (19 กันยายน 2566) เวลา 17.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ) ณ Trusteeship Council Chamber สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี ค.ศ. 2023 (Sustainable Development Goals (SDG) Summit 2023) โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
 
นายกรัฐมนตรีรู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2023 ซึ่งถือเป็นการกล่าวถ้อยแถลงครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีที่องค์การสหประชาชาติ ซึ่งรัฐบาลยังคงเน้นย้ำเจตนารมณ์ในการให้ความสำคัญที่จะดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)
 
ทั้งนี้ ความร่วมมือของทุกประเทศในการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ของสหประชาชาติ ได้เผชิญกับความท้าทายร่วมกันมาถึงในช่วงครึ่งทางของวาระดังกล่าว และในทศวรรษนี้ ซึ่งสหประชาชาติได้กำหนดให้ทศวรรษนี้เป็นทศวรรษแห่งการลงมือทำ (Decade of Action) นายกรัฐมนตรียังสนับสนุนกรอบความร่วมมือพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ และสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งมุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนการจัดสรรแหล่งทรัพยากรและเงินทุน การลดช่องว่างทางการเงิน รวมถึงสรรหานวัตกรรมเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งจะช่วยให้ทุกประเทศสามารถรับมือกับความท้าทาย และการร่วมกันขับเคลื่อน SDGs ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ไทยสนับสนุนข้อเรียกร้องของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติในการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ผ่านมาตรการกระตุ้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Stimulus) เป็นจำนวนเงิน 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จนถึงปี ค.ศ. 2030 ซึ่ง สำหรับการดำเนินการของไทย รัฐบาลได้ออกมาตรการทางการเงิน 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว และ Thailand Green Taxonomy เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ผ่านการกระตุ้นการกำหนดกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคธุรกิจของไทย โดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand: GCNT) ซึ่งมีบริษัทมากกว่า 100 บริษัททั่วประเทศ ตั้งเป้าขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และจะลงทุนจำนวน 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ภายในปี ค.ศ. 2030

อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีมองว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน จำเป็นต้องมีแนวทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งประเทศไทยได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนโยบายเศรษฐกิจ BCG มาเป็นแนวทางเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยพร้อมประกาศความมุ่งมั่นระดับประเทศเพื่อขับเคลื่อน SDGs รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนี้

1. ไทยประกาศความมุ่งมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave no one behind) ผ่านหลักการไปให้ถึงและช่วยเหลือกลุ่มที่รั้งท้ายก่อน (reaching those furthest behind first) รวมทั้งลดความยากจนในคนทุกช่วงวัยภายในปี ค.ศ. 2027

2. ไทยประกาศความมุ่งมั่นในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศสำหรับประชากรทุกคนในประเทศ รวมถึงให้ความสำคัญกับสิทธิด้านสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยมีมาตรการที่สำคัญ ๆ เช่น การตั้งเป้าหมายที่จะให้ครัวเรือนที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนที่ยากจนหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล (Health impoverishment) ต้องมีจำนวนลดลงไม่เกินร้อยละ 0.25 ภายในปี ค.ศ 2027

3. ไทยประกาศความมุ่งมั่นที่จะผลักดันร่วมมือกับหุ้นส่วนความร่วมมือทุกระดับ ในการดำเนินการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงบริการพลังงานสมัยใหม่ (modern energy services) ในราคาที่เหมาะสมและมีความน่าเชื่อถือภายในปี ค.ศ 2030

นายกรัฐมนตรีหวังว่า การประกาศความมุ่งมั่นของไทยในเรื่องดังกล่าวจะสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่พร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายในการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เพื่อประชาชนและโลกที่ดีขึ้นต่อไป