In Bangkok
'จักกพันธุ์'บุกเขตสะพานสูงติดตามงาน BMA-TAX/คัดแยกขยะ/สวน15นาที
กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ ลงพื้นที่เขตสะพานสูง ติดตามระบบ BMA-TAX เพิ่มความสะดวกงานทะเบียนบัตร ตรวจแยกขยะเขตสะพานสูง เช็กค่าฝุ่น PM2.5 น่ำเฮงคอนกรีต ชมคัดแยกขยะโรงเรียนสามแยกคลองหลอแหล สำรวจสวน 15 นาทีคลองบึงบ้านม้า
(20 ก.ย.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เขตสะพานสูง เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย
ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ การบันทึกข้อมูลและการค้นหารายชื่อผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) ซึ่งเขตฯ มีที่ดิน 45,365 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 41,317 แห่ง ห้องชุด 2,489 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 89,171 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่าง ๆ เน้นย้ำการทำงานด้วยความรอบคอบโปร่งใส เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
ตรวจเยี่ยมการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตสะพานสูง ภาพรวมระยะเวลาในการให้บริการประชาชนที่มาติดต่องานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน ตั้งแต่กดรับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนทั้งหมด ซึ่งควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที ไม่รวมเวลารอคอย โดยขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนที่มารับบริการในแต่ละวัน ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า ประสิทธิภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้วยความรวดเร็ว
พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตสะพานสูง มีข้าราชการและบุคลากร 548 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ทุกฝ่ายคัดแยกขยะและรวบรวมนำมาทิ้งบริเวณจุดแยกขยะรีไซเคิลที่กำหนด 2.ขยะอินทรีย์ ทุกฝ่ายคัดแยกขยะเศษอาหาร ก่อนทำความสะอาดภาชนะ โดยทิ้งในจุดที่กำหนดในห้องซักล้าง ไม่เทรวมกับขยะทั่วไปหรือขยะรีไซเคิล พนักงานทำความสะอาดรวบรวมขยะเศษอาหารที่คัดแยกแล้ว ส่งให้ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ นำไปทำปุ๋ยหมัก สำหรับใช้ในแปลงเกษตรปลอดสารพิษ 3.ขยะอันตราย ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ นำขยะอันตรายไปทิ้งที่ศูนย์กำจัดขยะ โดยจัดตั้งถังรองรับขยะอันตรายจากประชาชนที่นำมาทิ้ง และการจัดเก็บจากบ้านเรือนประชาชน 4.ขยะทั่วไป ทุกฝ่ายจัดถังรองรับขยะทั่วไป พนักงานทำความสะอาดรวบรวมไปทิ้งที่จุดรวมขยะทั่วไปที่กำหนด สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,000 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 500 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 20 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 50 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 50 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 2 กิโลกรัม/วัน
ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท น่ำเฮงคอนกรีต (1992) จำกัด ถนนรามคำแหง ซึ่งประกอบกิจการประเภทผลิตและจำหน่ายคอนกรีตผสมเสร็จ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน ประเภทแพลนท์ปูน/ควันดำในสถานที่ต้นทาง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนสามแยกคลองหลอแหล ถนนราษฎร์พัฒนา มีครูบุคลากรและนักเรียน 520 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2564 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ นำไปให้อาหารสัตว์เลี้ยง ทำปุ๋ยหมักจากเศษวัชพืช ทำน้ำหมักชีวภาพ 2.ขยะรีไซเคิล จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ภายในโรงเรียน ส่งเสริมให้นักเรียนคัดแยกขยะรีไซเคิล เพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ เช่น กล่องนม ขวดพลาสติก นำขยะรีไซเคิลมาประดิษฐ์เป็นของเล่นของใช้ภายในโรงเรียน จัดกิจกรรมทอดผ้าป่ารีไซเคิลภายในโรงเรียน และร่วมกับเขตฯ ในวันสำคัญทางศาสนา 3.ขยะทั่วไป รวบรวมในจุดทิ้งรอการจัดเก็บจากเขตฯ 4.ขยะอันตราย รวบรวมแยกไว้และแจ้งเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 30 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 30 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 80 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 50 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน
สำรวจสวน 15 นาที (สวนใหม่) บริเวณคลองบึงบ้านม้า ซอยกรุงเทพกรีฑา 27 แยก 2 ถนนกรุงเทพกรีฑา พื้นที่ 38 ไร่ เป็นที่สาธารณะ โดยเขตฯ จะดำเนินการปรับปรุงเป็นสวนสุขภาพและสวนป่า ประกอบด้วย ลู่เดินวิ่งรอบสวน ลานกีฬา สนามเด็กเล่น สนามบาสเก็ตบอล ลานจอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมทั้งปลูกต้นไม้ยืนต้น จำนวน 6,000 ต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับพื้นที่ สำหรับสวนสาธารณะเดิม ที่ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์คือ สวนสุวรรณพฤกษ์ ซอยรามคำแหง 118 แยก 67 พื้นที่ 1 ไร่ 3 งาน 72.3 ตารางวา โดยยกระดับผิวดินภายในสวนให้สูงขึ้น เพื่อให้การระบายน้ำดีขึ้น ปูหญ้าสนามใหม่ ปรับปรุงสนามเด็กเล่นที่พื้นยุบตัว โดยเพิ่มระดับพื้นทรายให้สูงขึ้น รวมทั้งปลูกต้นไม้เพิ่มเติม โดยใช้ไม้ดอก ไม้ประดับ และไม้หอม ประกอบด้วย ไม้ยืนต้น 23 ต้น ไม้พุ่ม 1,005 ต้น และไม้เถา 90 ต้น พร้อมทั้งปรับปรุงพื้นที่ทางกายภาพโดยรอบสวน ปรับพื้นทางเท้าที่ชำรุด ซ่อมแซมทาสีป้ายชื่อสวน และทาสีรั้วรอบสวน ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 100%
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายสุพจน์ หล้าจำศีล ผู้อำนวยการเขตสะพานสูง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสะพานสูง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล