In News

​ไทยร่วมมือกับอาเซียนเสริมสร้างโอกาส ดึงดูดการลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว



​ไทยร่วมมือกับอาเซียน เสริมสร้างศักยภาพและโอกาส ดึงดูดการลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว มุ่งสู่ภูมิภาคของการผลิตที่ยั่งยืน

วันนี้ (20 กันยายน 2566) เวลา 13.15 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครนิวยอร์ก) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเปิดกิจกรรมของอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (UNGA78) โดยภายหลังเสร็จสิ้นพิธีเปิด นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีรู้สึกยินดีที่ได้มากล่าวเปิดกิจกรรมของอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเจ้าภาพร่วมกับ UNESCAP สำนักเลขาธิการอาเซียน และศูนย์อาเซียนด้านการศึกษาและการหารือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue : ACSDSD) ได้จัดขึ้น เพื่อเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายในการผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนในอาเซียน

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ได้เป็นเพียงแค่เป้าหมายสำคัญของรัฐบาลไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นประเด็นที่สำคัญในระดับภูมิภาคที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและขับเคลื่อนสังคมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยประเทศไทยยืนยันที่จะรักษาบทบาทสำคัญในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่ออนาคตของภูมิภาคที่ยั่งยืนและสามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรีมุ่งหวังที่จะยกระดับความร่วมมือของทุกประเทศ เพื่อจัดการปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ ที่ได้เผชิญร่วมกันในช่วงครึ่งทางของการมุ่งไปสู่การบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ โดยอาเซียนเผชิญกับอุปสรรคทั้งเรื่องงบประมาณ ช่องว่างของเทคโนโลยี ความแตกต่างทางสังคม ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทั้งในระดับภูมิภาคและกับประชาคมโลก เพื่อเปลี่ยนผ่านความท้าทายไปสู่โอกาสของภูมิภาคต่อไป

โดยนายกรัฐมนตรีนำเสนอแนวทางด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับบริบทของวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2045 ดังนี้

ประการแรก ทุกฝ่ายควรมุ่งมั่นเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับความพยามร่วมกันของประชาคมโลก เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยอาเซียนต้องมี Roadmap เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนแบบองค์รวมและไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งไทยยินดีร่วมมือกับอาเซียนขับเคลื่อนการจัดทำ ASEAN Green Agenda ให้เป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างยั่งยืน

ประการที่สอง อาเซียนควรสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งเพื่ออุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไทยกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ ตลอดจนดึงดูดการลงทุนจากอุตสาหกรรมสีเขียวเข้ามาในภูมิภาค โดยพร้อมทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานในอาเซียนและพันธมิตรภายนอก เพื่อโครงการที่ส่งเสริมการเกษตรอัจฉริยะ เร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมไปถึงการส่งเสริมแนวคิดการเงินสีเขียว (Green Finance) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการปรับตัวของอาเซียน และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาค

ประการที่สาม อาเซียนในฐานะภูมิภาคที่มีพลวัตของการเจริญเติบโตสูง จึงมีศักยภาพที่จะสามารถเป็นแหล่งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สำคัญต่อโลกผ่านการดึงดูดการลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน ซึ่งคาดว่าจะเติบโตมากกว่า 32% ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ดังนั้น อาเซียนซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรและศักยภาพจึงสามารถเป็นศูนย์กลางของการผลิตที่ยั่งยืน และสามารถเป็นแหล่งเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน (Sustainable Supply Chain) ของโลกได้

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งระดับรัฐบาล ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และภาคธุรกิจ พร้อมเชิญชวนให้ทุกฝ่ายร่วมมือกับไทยและอาเซียน เพื่อมุ่งเป้าไปสู่การเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของการพัฒนาที่ยั่งยืนไปสู่แนวทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นมรดกสำคัญที่ทุกคนจะสามารถทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้มีอนาคตที่ดีมากยิ่งขึ้น