In Bangkok
'จักกพันธุ์'ลงพื้นที่เขตดินแดงติดตามงาน คุมฝุ่นจิ๋ว-ย้ายซากรถ-ดูผู้ค้า-แยกขยะ
กรุงเทพฯ-รองจักกพันธุ์ลงพื้นที่เขตดินแดง ติตามการคุมเข้มฝุ่นจิ๋วไซต์ก่อสร้างอาคารเขตหลังใหม่ ย้ายซากรถจอดทิ้งประชาสงเคราะห์ 23 จัดระเบียบผู้ค้าหน้าตลาดห้วยขวาง ชมคัดแยกขยะชุมชนศูนย์การกำลังสำรอง รวบขั้นตอนงานทะเบียนบัตร เช็กระบบ BMA-TAX ตรวจแยกขยะเขตดินแดง
(22 ก.ย.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตดินแดง ประกอบด้วย
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานเขตดินแดงแห่งใหม่ ถนนประชาสงเคราะห์ ดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัท วรนิทัศน์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด เป็นอาคาร ค.ส.ล.ความสูง 18 ชั้น ชั้นใต้ดิน 4 ชั้น จำนวน 1 อาคาร อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักการโยธา ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ได้กำชับผู้รับจ้างให้เพิ่มความสูงของรั้วให้มีความสูงประมาณ 6 เมตร โดย 2 เมตรด้านล่างเป็นรั้วทึบ อีก 4 เมตรด้านบนอาจทำเป็นแบบโปร่ง เปิดเครื่องพ่นละอองน้ำตลอดเวลาการทำงาน และเพิ่มบ่อล้างทำความสะอาดล้อรถยนต์ ล้อรถบรรทุกบริเวณด้านหน้าทางเข้าออกโครงการ
ติดตามการเคลื่อนย้ายซากยานยนต์ที่จอดทิ้งไว้บนถนนหรือสถานที่สาธารณะ บริเวณซอยประชาสงเคราะห์ 23 เขตดินแดง ซึ่งเขตฯ ได้สำรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่พบว่ามีซากยานยนต์จอดทิ้งไว้บริเวณดังกล่าว จำนวน 1 คัน โดยประสานสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ตรวจสอบทางด้านคดี พร้อมทั้งตรวจสอบทะเบียนรถในระบบกรมการขนส่งทางบก และปิดประกาศให้เคลื่อนย้ายซากยานยนต์ออกจากพื้นที่ภายในระยะเวลา 15 วัน จากการตรวจสอบไม่พบเจ้าของหรือผู้ครอบครอง และยังไม่มีผู้ใดมาทำการเคลื่อนย้าย โดยในวันนี้เขตฯ ร่วมกับสำนักเทศกิจ และกองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง ซึ่งให้การสนับสนุนรถสไลด์ดำเนินการเคลื่อนย้ายซากยานยนต์ เพื่อนำไปไว้บริเวณสถานที่เก็บรักษาของกลางเขตหนองแขม โดยกำหนดจัดเก็บซากยานยนต์ไว้เป็นระยะเวลา 6 เดือน หากไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองมาติดต่อ จะดำเนินการขายทอดตลาดซากยานยนต์ตามระเบียบของทางราชการว่าด้วยการดำเนินคดีต่อไป สำหรับผลการดำเนินงานจัดการซากยานยนต์จอดทิ้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562-2566 ตรวจพบซากยานยนต์ 1,349 คัน เจ้าของเคลื่อนย้ายเอง 1,147 คัน สำนักงานเขตเคลื่อนย้าย 179 คัน และรอเคลื่อนย้าย 23 คัน ทั้งนี้ได้มีการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว 32 คัน และขายทอดตลาด 20 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 22 ก.ย.66)
ตรวจความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน และสำรวจพื้นที่ Hawker Center บริเวณตลาดห้วยขวาง ถนนประชาสงเคราะห์ เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 8 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 313 ราย ดังนี้ 1.หน้าบริษัทไทยประกันชีวิต ถนนรัชดาภิเษก ผู้ค้า 102 ราย 2.หน้าธนาคารกรุงไทย ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 48 ราย 3.หน้าตลาดกลางดินแดง ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 10 ราย 4.หน้าตลาดห้วยขวาง ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 119 ราย 5.ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ผู้ค้า 17 ราย 6.โค้งพร้อมพรรณ ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 10 ราย 7.โค้งหอนาฬิกา ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 3 ราย และ 8.หน้า TVC แมนชั่น ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 4 ราย
ที่ผ่านมาเขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ในจุดที่มีความเหมาะสม เพื่อจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยใช้พื้นที่ว่างหรือตลาดนัดเอกชน เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้ซื้อ อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ จากการสำรวจพบว่ามีพื้นที่เหมาะสม จำนวน 5 จุด ได้แก่ 1.ตลาดสดห้วยขวาง ชั้น 2 พื้นที่ 512 ตารางวา ช่วงเวลาทำการค้า 24 ชั่วโมง รองรับผู้ค้าได้ 300 ราย 2.หน้าห้างเอสพลานาด พื้นที่ 54 ตารางวา ช่วงเวลาทำการค้า 10.00-22.00 น. รองรับผู้ค้าได้ 20 ราย 3.หน้าโครงการพร้อมรัชดา พื้นที่ 86 ตารางวา ช่วงเวลาทำการค้าในอาคาร เวลา 11.00-22.00 น. รองรับผู้ค้าได้ 300 ราย 4.ด้านหลังมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พื้นที่ 16 ตารางวา ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-19.00 น. หยุดทุกวันอาทิตย์ รองรับผู้ค้าได้ 10 ราย และ 5.หน้าห้าง The Steet รัชดา พื้นที่ 90 ตารางวา ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-10.00 น. และ 18.00-22.00 น. รองรับผู้ค้าได้ 35 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้าหรือเกินเส้นที่กำหนดไว้ รวมถึงขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน พร้อมทั้งพิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ เพื่อจัดทำ Hawker Center ตลอดจนหาแนวทางยุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดเดียวกัน หรือในจุดที่เขตฯ เตรียมจัดทำเป็น Hawker Center เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่
เยี่ยมชมชุมชนต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนศูนย์การกำลังสำรอง พื้นที่ 8 ไร่ 2 งาน ประชากร 820 คน บ้านเรือน 357 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2560 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ตั้งวางถังขยะรองรับเศษอาหารภายในโรงอาหารของชุมชน และประสานให้เกษตรกรมารับไปเลี้ยงปลา ขอความร่วมมือประชาชนในชุมชนและนักศึกษาวิชาทหารแยกขยะเศษอาหาร 2.ขยะรีไซเคิล ตั้งวางถังสำหรับทิ้งขยะรีไซเคิลตามจุดต่างๆ ประชาชนในชุมชนและนักศึกษาวิชาทหารร่วมกันแยกขยะก่อนทิ้ง 3.ขยะทั่วไป ตั้งวางถังสำหรับทิ้งขยะทั่วไปบริเวณจุดที่กำหนด เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บขยะ 4.ขยะอันตราย ตั้งวางถังสำหรับทิ้งขยะอันตราย และแจ้งให้เขตฯ จัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,500 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 600 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1,000 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 60 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/เดือน
ตรวจเยี่ยมการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตดินแดง พร้อมทั้งสอบถามถึงภาพรวมของระยะเวลาในการให้บริการประชาชนที่มาติดต่องานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน ตั้งแต่กดรับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนการทำงานทั้งหมด ซึ่งควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที ไม่รวมเวลารอคอย โดยขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนที่มารับบริการในแต่ละวัน ประสิทธิภาพของระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ใช้งาน ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า โดยให้เขตฯ พิจารณารวมขั้นตอนบางอย่างเข้าด้วยกัน หรือลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนกันออกไป เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้วยความรวดเร็ว
จากนั้นติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ การบันทึกข้อมูลรายการผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) ซึ่งเขตฯ มีที่ดิน 26,179 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 45,376 แห่ง ห้องชุด 17,901 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 89,456 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว พร้อมทั้งสอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ ตลอดจนให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ เน้นย้ำการปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบ สร้างความเข้าใจเรียนรู้กับระบบต่างๆ ที่มีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตดินแดง มีข้าราชการและบุคลากร 759 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ตั้งวางถังคัดแยกขยะในแต่ละฝ่าย แม่บ้านจะรวบรวมนำมาทิ้งที่จุดรวม ขยะรีไซเคิล (โครงการมือวิเศษกรุงเทพ) บางฝ่ายมีการบริหารจัดการ เช่น แม่บ้านจะนำกระดาษไปขาย ตั้งวางจุดรองรับขยะพลาสติก และขยะกำพร้า เพื่อรวบรวมนำส่งสำนักสิ่งแวดล้อม 2.ขยะอินทรีย์ ตั้งวางถังขยะสำหรับทิ้งขยะเศษอาหารในแต่ฝ่าย ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จะจัดเก็บรวบรวมไว้ที่จุดรวมทิ้งขยะเศษอาหาร และประสานเกษตรกรมารับไปเลี้ยงปลาที่มีนบุรี 3.ขยะอันตราย กำหนดจุดทิ้งรวมขยะอันตราย แต่ละฝ่ายนำขยะอันตรายมาทิ้ง 4.ขยะทั่วไป รถเก็บขนมูลฝอยเข้าจัดเก็บขยะทุกวัน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 400 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 300 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 20 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 45-50 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 700-800 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายชูชาติ พุ่มน้อย ผู้อำนวยการเขตดินแดง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตดินแดง สำนักการโยธา สำนักเทศกิจ กองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล