In Thailand
ก.อุตฯชู'สมบูรณ์ศิลาทอง'ต้นแบบMIND สมดุลสิ่งแวดล้อมสร้างรายได้ให้ชุมชน
ชุมพร-กระทรวงอุตสาหกรรม ชู “สมบูรณ์ศิลาทอง” ต้นแบบเหมืองแร่ MIND สร้างสมดุลสิ่งแวดล้อม กระจายรายได้สู่ชุมชน เผยภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยมีมูลค่าส่งออกมากกว่า 3 พันล้านบาท
เมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 22 ก.ย.66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.เขต 1 ชุมพร นายสันต์ แซ่ตั้ง สส.เขต 2 ชุมพร นายกิตติศักดิ์ พรหมรัตน์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ จ.ชุมพร เยี่ยมชมการดำเนินงาน บริษัท สมบูรณ์ศิลาทอง จำกัด ตั้งอยู่ตำบลนากระตาม อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร หนึ่งในต้นแบบสถานประกอบการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ชูนโยบาย 4 มิติ สร้างความสมดุลการประกอบกิจการในพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน พร้อมกระจายรายได้สู่ชุมชนโดยรอบ ตามแนวคิด “MIND" ใช้ “หัว” และ “ใจ” ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ให้สมดุลและยั่งยืน ควบคู่กับอุตสาหกรรมสู่วิถีใหม่ 4 มิติ ประกอบด้วย
มิติที่ 1 ความสำเร็จทางธุรกิจ ปรับธุรกิจและอุตสาหกรรม สู่ S-curve ปรับธุรกิจให้เหมาะสมกับโลกอนาคต ก้าวทัน Industry 4.0 ยกระดับสู่เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ มิติที่ 2 การดูแลสังคมและชุมชน ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างสถานประกอบการ ชุมชน และสังคม ให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตร เพื่อกระตุ้นให้เกิดการประกอบกิจการที่ดี มิติที่ 3 การรักษาสิ่งแวดล้อม ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก และ มิติที่ 4 การกระจายรายได้สู่ชุมชน การรักษาวิถีชีวิต สร้างประโยชน์ พัฒนาชุมชนรอบอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นการสร้างงานสร้างอาชีพ ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า “แร่” เป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศซึ่งภาครัฐให้ความสำคัญในการบริหารจัดการและควบคุมอุตสาหกรรมเหมืองแร่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากที่สุด ทั้งนี้พบว่ายังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนสำหรับภาคประชาชน เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดิน โดยเหมารวมไปถึงทรัพยากรแร่ ซึ่งจริงๆแล้ว แร่เป็นทรัพยากรของแผ่นดิน
นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทั้งในเชิงสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เข้าใจความรู้สึกของประชาชน โดยได้ดำเนินการอย่างเคร่งครัด ทั้งในด้านการกำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพในการทำเหมือง หรือ “เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง” เพื่อให้
สำหรับ บริษัท สมบูรณ์ศิลาทอง จำกัด นับเป็นผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง และโรงโม่ บดและย่อยหิน ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการ สามารถประกอบกิจการโดยไม่มีข้อร้องเรียนจากภาคประชาชน โดยทางบริษัทฯ ได้ดำเนินกิจการโดยใช้แนวทางตามนโยบาย 4 มิติ ของกระทรวงอุตสาหกรรม
ที่ผ่านมาปี 2563 บริษัท สมบูรณ์ศิลาทอง จำกัด ได้รับรางวัลอุตสาหกรรม สีเขียวระดับ 3 (Green System) รางวัลเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining Award 2017 -2021) และสถานประกอบการที่มีการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่องปี 2563
ขณะที่ความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัทฯ มีแผนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม ทั้งการจัดเจ้าหน้าที่เพื่อประสานงานรับข้อคิดเห็นจากชุมชน การให้ความช่วยเหลือสนับสนุนเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาด้านสาธารณูปโภคให้กับชุมชนในการใช้ไฟฟ้าฟรี และน้ำสำหรับการอุปโภค บริโภคในช่วงฤดูแล้ง การจัดทำโครงการเสริมสร้างอาชีพใหม่ให้กับชุมชน ผ่านกองทุนรอบโรงงานที่มีอยู่ และจัดเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบและเฝ้าระวังผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งการบริหารการใช้เครื่องจักรที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพเพื่อลดผลกระทบต่อส่วนรวม
ปัจจุบัน บริษัท สมบูรณ์ศิลาทอง จำกัด มีกำลังการผลิตหินปูนอยู่ที่ประมาณ 5 แสนตันต่อปี และมีปริมาณสำรองแร่ที่สามารถทำเหมืองได้ประมาณ 6 ล้านตัน สามารถจ้างงานแรงงานในพื้นที่ได้มากกว่า 90% และยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในพื้นที่เข้ามาขนส่งแร่และจำหน่าย เป็นการสร้างอาชีพต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างขอประทานบัตรเพิ่มเติมอีก 300 ไร่ ที่เป็นแหล่งหินปูนคุณภาพดี เหมาะสำหรับการใช้เป็นวัตถุดิบผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ รวมถึงผลิตภัณฑ์ หินเกล็ด หินฝุ่น หินคลุก เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง
ทั้งนี้ พื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา และสงขลา มีสถานประกอบการที่ได้รับประทานบัตร โรงแต่งแร่ โม่ บด ย่อยหิน จำนวน 160 ราย ส่วนใหญ่เป็นการทำเหมืองแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ยิปซัม แอนไฮไดรต์ โดโลไมต์ เฟลด์สปาร์ เป็นต้น มีมูลค่าการส่งออกในปี 2565 จำนวน 3,565.28 ล้านบาท นับว่าเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่สามารถสร้างเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจฝั่งอ่าวไทยได้เป็นจำนวนมาก