EDU Research & ESG
วิศวะมหิดลหนุนอุตฯEV เปิดโครงการ พัฒนานวัตกรรมEVสู่ช่างชุมชนตะวันตก
กรุงเทพฯ-คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ คณบดี ผศ. ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ และขับเคลื่อนนโยบายชี้นำสังคม พร้อมด้วย ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และ ผศ.ดร.รุ่ง กิตติพิชัย หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ร่วมกับ บริษัท ลิงค์เทค (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท สมาร์ทไลฟ์ อินโนเวชั่น จำกัด เปิด“โครงการพัฒนาความรู้นวัตกรรม EV สู่ช่างชุมชน ภาคตะวันตก รุ่นที่ 1” ณ ห้อง Innogineer Studio คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ LAB GOD GARAGE สมาร์ทไลฟ์ฯ
รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประเทศไทยและนานาประเทศทั่วโลกกำลังเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ จากยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาขาดแคลนพลังงานน้ำมันปิโตรเลียม ลดมลพิษ ลดผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อน และ Climate Change ทั้งนี้ วิศวะมหิดล ได้ริเริ่ม “โครงการพัฒนาความรู้นวัตกรรม EV สู่ช่างชุมชน ภาคตะวันตก รุ่นที่ 1” และประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยมีช่างชุมชนเข้าร่วมการอบรมสัมมนาจากภาคตะวันตก จำนวนกว่า 35 คน วัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดความรู้และฝึกฝนทักษะ การพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติและเรียนรู้การใช้นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่จากของจริง เพื่อนำความรู้และทักษะที่ได้ไปใช้ในกระบวนการทำงานและพัฒนาต่อยอดในสถานประกอบการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจ EV ในท้องถิ่นและภูมิภาคต่างๆของไทย ไม่ว่าจะเป็นช่างซ่อมบำรุง อู่รถยนต์ไฟฟ้า-มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า, การดัดแปลงรถน้ำมันเป็นรถไฟฟ้า การพัฒนามอเตอร์ไซค์และพาหนะพลังงานไฟฟ้ารูปแบบอื่นๆ อย่างมีคุณภาพและปลอดภัยตามหลักวิศวกรรม
ผศ. ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ และขับเคลื่อนนโยบายชี้นำสังคม กล่าวว่า วิทยากรจากวิศวะมหิดล และผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรม นำโดย อ.วรวิทย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี EV แก่ช่างชุมชนภาคตะวันตกในความรู้ด้านเทคโนโลยีไฟฟ้า พร้อมทฤษฎีและหลักการต่างๆ อาทิ ภาพรวมเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า, ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า, สัญญาณทางไฟฟ้าและเครื่องมือวัด และเรียนรู้ถึงการเลือกใช้อุปกรณ์ในการดัดแปลงที่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม, มอเตอร์ไฟฟ้าและระบบขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่และระบบการจัดการพลังงานสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า, ระบบประจุไฟฟ้าในยานยนต์ไฟฟ้า (Charging System), ระบบระบายความร้อน (Cooling), การปรับปรุงยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า, วิธีการคิดและออกแบบระบบส่งกำลัง ของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า, มาตรฐานและการทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า (Standard and Testing) ประเภทมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และ การสาธิตเทคโนโลยีกับยานยนต์ไฟฟ้าของจริง เป็นต้น นอกจากการอบรมภาคทฤษฎีแล้ว ยังได้ฝึกทักษะภาคปฏิบัติจริง ซึ่งเติมเต็มการเรียนรู้และประสบการณ์ตรงแก่ช่างชุมชนอีกด้วย