EDU & Tech-Innovation

อว.-เอ็นไอเอดันอันดับของนวัตกรรมไทย เป้ารั้งท็อป30โลกจาก43ของดัชนีปัจจุบัน



กรุงเทพฯ 28กันยายน 2566-กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIAเผยผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2566หรือGlobal Innovation Index 2023(GII 2023) ภายใต้ธีมผู้นำนวัตกรรมท่ามกลางความไม่แน่นอน(Innovation in the face of uncertainty) ซึ่งจัดโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) เพื่อวัดระดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมของ 132 ประเทศทั่วโลก โดยในปีนี้

ประเทศไทยยังครองอันดับที่ 43คงเดิมจากปีที่แล้ว โดยมีปัจจัยเข้าทางนวัตกรรม (Innovation input sub-index) ดีขึ้น 4 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 44 และปัจจัยย่อยผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation output sub-index) ดีขึ้น1 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 43ถือเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนรองจากประเทศสิงคโปร์ (5) และประเทศมาเลเซีย (36) ทั้งนี้ มีอันดับของกลุ่มปัจจัยขยับขึ้น 5 จาก 7 กลุ่ม โดยกลุ่มที่มีการขยับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นได้แก่ กลุ่มปัจจัยด้านระบบตลาด (Market sophistication)ที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 22 จาก 132 ประเทศ

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)เปิดเผยว่าอว.เห็นความสำคัญของการนำงานวิจัยและนวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่ประเทศรายได้สูงและสร้างความพร้อมสำหรับอนาคตเพื่อแข่งขันในเวทีโลก แต่การที่นวัตกรรมของไทยจะสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้นั้น ต้องอาศัยความเข้มแข็งของภาคเอกชนโดยมีภาครัฐเป็นกองหนุนสำคัญที่จะสร้างการรับรู้ ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น “ชาตินวัตกรรม”และก้าวสู่อันดับที่ 30ของประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมของโลกภายในปี 2573ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งดำเนินการ

โดยมุ่งเน้น6 แนวทาง ได้แก่รัฐจะต้องเป็นSandbox และ Accelerator ของนวัตกรรม เพื่อให้เกิดพื้นที่นำร่องและสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยนวัตกรรมเร่งการเติบโตในการลงทุนทางนวัตกรรมเชื่อมกับการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยโดยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ การลงทุน และการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิจัยพัฒนาและสร้างผลผลิตทางนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกกระตุ้นกิจกรรมด้านตลาดการเงินนวัตกรรมและตลาดทุนทางเทคโนโลยีด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้กับตลาดทุน

สร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแก่ธุรกิจที่ดำเนินการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพิ่มจำนวนวิสาหกิจฐานนวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปโครงสร้างทางธุรกิจเพื่อสร้างการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและองค์ความรู้ สร้างธุรกิจใหม่ที่ตอบสนองความเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่มูลค่า และสร้างตลาดแรงงานทักษะสูง กระตุ้นการจดทะเบียนสิทธิบัตรและใช้ประโยชน์สิทธิบัตรเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการผ่านการพัฒนานโยบายเชิงรุกด้านการลงทุน การคุ้มครองและการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา และสุดท้ายเพิ่มจำนวนนวัตกรรมฐานความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรมถือเป็นจุดเด่นของประเทศไทยที่จะนำซอฟท์พาวเวอร์มาพัฒนาสู่นวัตกรรมในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อาหาร แฟชั่นและบันเทิง

ดร.กริชผกา บุญเฟื่องผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIAกล่าวว่า สำหรับผลการจัดอันดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมในปีนี้ ประเทศไทยยังอยู่อันดับที่ 43จากประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก 132 ประเทศเท่ากับปีที่ผ่านมา โดยปีนี้ปัจจัยย่อยผลผลิตทางนวัตกรรมอยู่อันดับที่ 43 (ดีขึ้น 1 อันดับ) ขณะที่ปัจจัยเข้าทางนวัตกรรมดีขึ้น4อันดับ จากอันดับที่ 48 ในปีที่ผ่านมาอยู่ในอันดับที่ 44แต่ยังคงอยู่ท็อป 5 ในกลุ่มประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางระดับบน จาก 36 ประเทศ โดยประเทศไทยมีอันดับที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยในหลายปัจจัย เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 9 จาก 16 ประเทศและยังคงอยู่อันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน

ขณะที่ปัจจัยชี้วัดความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศไทยที่เป็นจุดแข็งมากที่สุด เป็นกลุ่มปัจจัยด้านระบบตลาดอยู่อันดับที่ 22ปรับตัวขึ้นจากปีที่แล้ว 5 อันดับนอกจากนี้กลุ่มปัจจัยที่มีอันดับดีขึ้น ได้แก่กลุ่มปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานดีขึ้น 5อันดับ มาอยู่อันดับที่ 49และกลุ่มปัจจัยด้านผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ ที่ภาพรวมปรับตัวดีขึ้น5อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 44โดยมีจุดแข็งด้านการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ (อันดับที่ 1) ส่วนกลุ่มปัจจัยที่ปรับอันดับลดลงได้แก่ กลุ่มปัจจัยด้านสถาบัน กลุ่มปัจจัยด้านทุนมนุษย์และการวิจัย โดยปัจจัยด้านสถาบันอันดับลดลงมากที่สุดถึง 7อันดับ อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังคงรักษาประสิทธิภาพทางนวัตกรรมที่สะท้อนความคาดหวังตามระดับรายได้ (GDP per capita) คงอยู่ในระดับบวกมีความก้าวหน้าทางด้านนวัตกรรมที่สูงกว่าความคาดหมาย

ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า ดัชนีนวัตกรรมโลกเป็นการจัดอันดับความสามารถทางนวัตกรรมของประเทศ ต่าง ๆ ทั่วโลก ผ่านการประเมินตัวชี้วัดทั้งสิ้น 80 ตัวชี้วัด ซึ่งจัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 โดยปีนี้อยู่ภายใต้ธีมผู้นำนวัตกรรมท่ามกลางความไม่แน่นอนเน้นนำกระแสแนวโน้มการพัฒนานวัตกรรมเทียบกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในยุคที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนจากภาวะความผันผวนทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อที่นำไปสู่อัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การลดการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อ

การพัฒนานวัตกรรมในห่วงโซ่อุปทานโลก ภาวะปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของนวัตกรรม ความแตกต่างประสิทธิภาพทางนวัตกรรมของประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาในช่วงที่ผ่านมา โดยจะเห็นได้ว่าผลการจัดอันดับ GII สะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีพัฒนาการความสามารถทางนวัตกรรมที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยการขับเคลื่อนของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐการศึกษาเอกชน และประชาชนที่มีความพยายามที่จะพัฒนาและยกระดับความสามารถเพื่อก้าวเป็นประเทศชั้นนำที่ขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม

นอกจากนี้ WIPO ยังได้เปิดผลการจัดอันดับเมืองคลัสเตอร์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (GII Science and Technology Clusters) 100 อันดับแรกของโลก โดยคลัสเตอร์ชั้นนำทั้ง 5 แห่งแรกอยู่ในทวีปเอเชียตะวันออก อันดับ 1 คือ โตเกียว-โยโกฮาม่าของประเทศญี่ปุ่น รองลงมาคลัสเตอร์เซินเจิ้น-ฮ่องกง-กวางโจว ตามด้วยโซลของสาธารณรัฐเกาหลี ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้-ซูโจวของประเทศจีน ตามลำดับ ส่วนประเทศไทย มีกรุงเทพเป็นพื้นที่กลุ่มคลัสเตอร์ที่มีการขยายตัวที่สุด แต่ยังไม่ติดอันดับท็อป 100 ซึ่งกลุ่มคลัสเตอร์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในการประเมินดัชนี GII ที่สะท้อนประสิทธิภาพของระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศต่างๆ