Health & Beauty
แอสตร้าเซนเนก้าจับมือแพลนอินเตอร์ฯ จัดงานส่งเสริมเด็กไทยให้ห่างไกลโรค
กรุงเทพฯ - แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย และ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกันจัดงาน ‘โรคไม่ติดต่อเรื้อรังภายใต้โครงการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีในเด็กและเยาวชนประจำปี 2023 (2023 Young Health Programme NCD Seminar)’ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ พร้อมอัพเดตภาพรวมการดำเนินงาน และสถานการณ์ปัจจุบันของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases) ให้แก่เด็กและเยาวชน โดยมีหน่วยงานและองค์กรชั้นนำ อาทิ มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) องค์การยูนิเซฟ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมให้ข้อมูล ณ โรงแรม เชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท
ข้อมูลของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประจำปี 2566 เผยว่า ในปัจจุบันประชากรไทยกว่า 17% เป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 10-24 ปี ซึ่งเมื่อรวมกับข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า กว่า 14% ของประชากรไทยมีโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทำให้หน่วยงานต่างๆ เล็งเห็นว่าประชากรกลุ่มนี้ควรได้รับการดูแลและให้ข้อมูลที่สำคัญอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่าเยาวชนไทยช่วงอายุ 13-15 ปี กว่า 15% มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ 77.5% ของเยาวชนอายุ 11-17 ปี ออกกำลังกายไม่เพียงพอ และเยาวชนช่วงอายุ 10-19 ปีกว่า 10% มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน รวมถึงเยาวชนในช่วงอายุ 18 ปีขึ้นไป ยังตรวจพบว่ามีโรคต่างๆ โดย 25% มีความดันโลหิตสูง 11% เป็นโรคอ้วน และ 10% มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ตามลำดับ
นอกจากนี้ รายงานประจำปีของกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 ยังชี้ให้เห็นว่าประชาชนไทยส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคเบาหวานและโรคหัวใจ การลดบริโภคเกลือและโซเดียม ซึ่งเป็นพฤติกรรมเสี่ยงหรือเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการนำไปสู่ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ดังนั้น การสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเยาวชน จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ควรปฏิบัติอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัยห่างไกลกลุ่มโรคเหล่านี้
ดร.รังสิมา ไอราวัณวัฒน์ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า “องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เป็นองค์การสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมด้านความรู้ของเยาวชนเป็นหลัก เพื่อให้เยาวชนสามารถเข้าถึงสิทธิ์ต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียม โดยทางองค์กรได้ร่วมงานกับ แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ภายใต้กรอบระยะเวลา 5 ปี เพื่อร่วมดำเนินงานในโครงการ Young Health Programme ในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังความรู้ด้านการดูแลสุขภาพแก่เยาวชน อายุ 10-24 ปี ให้ห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและปัญหาสุขภาพ โดยที่ผ่านมา เราได้จัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งการอบรมพัฒนาแกนนำเยาวชนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ การสร้างสรรค์แคมเปญประจำเดือนเพื่อให้ความรู้ในวันสำคัญทางสาธารณสุข การอบรมมาตรฐานบริการที่เป็นมิตรต่อวัยรุ่นและเยาวชนแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ไปจนถึงการจัดสัมมนาด้านการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง พร้อมได้ผลลัพธ์ในการสร้างแกนนำเยาวชนจำนวนกว่า 652 คน จาก 32 โรงเรียน และมหาวิทยาลัย 10 แห่ง เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ความรู้แบบเพื่อนสู่เพื่อนไปยังเยาวชนรายอื่นอีกกว่า 86,000 คน รวมถึงผู้ได้รับประโยชน์ในสังคมอีกกว่า 7.7 ล้านคน ด้วยการให้ความรู้ผ่านสื่อ”
“แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ได้นำวิทยาศาสตร์มาต่อยอดและพัฒนา เพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี ผ่านการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพ มอบความรู้ในการเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง และขยายโครงการตรวจหาโรคในระยะเริ่มต้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับโครงการ Young Health Programme ถือเป็นหนึ่งในภารกิจที่ช่วยสานต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน UN Sustainable Development Goal ข้อ 3.4 ที่ต้องการลดจำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เกี่ยวเนื่องกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังให้ได้ 1 ใน 3 ภายในปี 2030 โดยแอสตร้าเซนเนก้า พร้อมยกระดับการดูแลสุขภาพ และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีแก่สังคม เพราะเราเชื่อมั่นว่าอนาคตที่ยั่งยืนขึ้นอยู่กับการที่ประชาชน ชุมชน และโลกมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรง” นายโรมัน รามอส ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย กล่าว
โดยทูตเยาวชนนักสื่อสารสุขภาพของโครงการในนาม Young Health Programme Youth Ambassador ได้มีส่วนร่วมในงานสัมมนาเพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะจากเสียงของเยาวชน ในฐานะของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมสุขภาพของประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในเด็กและเยาวชน รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านสิทธิและอนามัยเจริญพันธุ์ ความเสมอภาคระหว่างเพศ และสุขภาวะทางอารมณ์ ซึ่งน้องๆ ได้นำเสนอผลงานในโครงการที่ตนเองดำเนินงานจากการเก็บข้อมูลพฤติกรรมและปัญหาด้านสุขภาพของวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาด้านสุขภาพจิต ปัญหามลพิษทางอากาศ และพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การออกกำลังกายไม่เพียงพอ จากการขาดข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องในการดูแลสุขภาพ
ภายในงานได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้งภาครัฐ องค์การสหประชาชาติ และองค์กรภาคประชาสังคม ได้แก่ กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) ร่วมพูดคุยและเน้นย้ำถึงสถานการณ์ของปัญหาทั้งในส่วนของปัจจัย และพฤติกรรมเสี่ยงในกลุ่มวัยรุ่น อันนำไปสู่ความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในอนาคต เพื่อผลักดันให้หน่วยงานที่มีส่วนในการสร้างเสริมสุขภาพ หรือให้บริการด้านสุขภาพกับวัยรุ่น ยกระดับการทำงานในเชิงรุก สร้างเสริมบริการสุขภาพที่เป็นมิตรต่อวัยรุ่นและเยาวชน (Youth-Friendly Health Service) ขับเคลื่อนและบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ