In Bangkok

กทม.ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครอง เพิกถอนสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์



กรุงเทพฯ-นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการภายหลังศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร หรือสะพาน ค.ส.ล.ข้ามคลองมหาสวัสดิ์ เขตตลิ่งชันว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนย.ได้พิจารณาคำพิพากษาดังกล่าวพบว่า มีประเด็นการพิจารณาข้อกฎหมายที่คลาดเคลื่อนคือ ประเด็นกฎหมายว่าด้วยโบราณสถานแห่งชาติ แม้คลองมหาสวัสดิ์จะมีลักษณะเป็นโบราณสถานตามบทนิยามศัพท์ในมาตรา 4 แต่ในมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 กำหนดเพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาและการควบคุมโบราณสถาน ให้อธิบดีกรมศิลปากรมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา ขึ้นทะเบียนโบราณสถานใด ๆ ตามที่อธิบดีเห็นสมควรได้ และมาตรา 7 ทวิ กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคารภายในเขตของโบราณสถาน ซึ่งอธิบดีได้ประกาศขึ้นทะเบียน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี ดังนั้น การขึ้นทะเบียนโบราณสถานเป็นหลักการสำคัญของกฎหมายในอันที่จะคุ้มครองควบคุมดูแลรักษาโบราณสถาน ทั้งนี้ คลองมหาสวัสดิ์ มิได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามมาตรา 7 ซึ่งประชาชนและหน่วยงานราชการโดยทั่วไปมิอาจรู้ได้ว่าสถานที่แห่งใดบ้างที่เป็นโบราณสถานที่ถูกห้ามมิให้ก่อสร้างอาคารตามกฎหมายควบคุมอาคาร

ส่วนอีกประเด็นคือ กฎหมายว่าด้วยทางหลวง เนื่องจากมาตรา 6 พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 กำหนดให้ทางหลวงมี 5 ประเภท คือ (1) ทางหลวงพิเศษ (2) ทางหลวงแผ่นดิน (3) ทางหลวงชนบท (4) ทางหลวงท้องถิ่น และ (5) ทางหลวงสัมปทาน โดยมาตรา 10 กำหนดทางหลวงท้องถิ่นคือ ทางหลวงที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะ และบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงท้องถิ่น ทั้งนี้ สะพาน ค.ส.ล.ข้ามคลองมหาสวัสดิ์ เป็นการก่อสร้างสะพานโดยเอกชน ภายใต้การขออนุญาตก่อสร้างตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร เมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงยกให้เป็นสาธารณะ โดยยังมิได้ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวง จึงไม่ใช่ทางหลวงตาม พ.ร.บ.ทางหลวงฯ สอดคล้องกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.919-920/2560 ที่ได้วางแนวทางการพิจารณาว่า ถนนใดจะเป็นทางหลวงหรือไม่ นอกจากจะมีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในบทนิยามคำศัพท์ มาตรา 4 แล้ว ยังต้องมีการลงทะเบียนทางหลวงประเภทต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดด้วย และเมื่อสะพานดังกล่าวไม่ใช่ทางหลวง จึงมิได้อยู่ในข้อกำหนดที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ (EIA)                           

อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวยังเป็นปัญหาการตีความที่ยังไม่ได้ข้อยุติ โดย สนย.จะได้ยื่นอุทธรณ์ในประเด็นที่คลาดเคลื่อนดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป