In Bangkok

กทม.ชูโมเดลสวน15นาทีพัฒนาพื้นที่ สุขภาวะที่ทุกคนมีส่วนร่วม 



กรุงเทพฯ-(28 ก.ย.66) เวลา 16.00 น. นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ร่วมงานเสวนาวิชาการและนโยบายด้านกิจกรรมทางกาย EP1-พัฒนาพื้นที่สุขภาวะที่ทุกคนมีส่วนร่วม: Active Environment for All พร้อมทั้งร่วมเสวนาใน Session3-มหานครกรุงเทพกับโมเดลสวน 15 นาที โดยมี นายยศพล บุญสม โครงการ we!park ผศ.ปาณิทัต รัตนวิจิตร โครงการ we!park และ ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ร่วมเสวนา ณ ห้องประชุม MR208 ชั้น 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย 

“กรุงเทพมหานครได้ปรับกระบวนการในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ โดยนำพื้นที่โล่งว่างที่รอการพัฒนา พื้นที่รกร้างว่างเปล่า ปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ด้วยการเดินเท้าภายในเวลา 15 นาที หรือระยะทางประมาณ 800 เมตร จากการสำรวจที่ดินเพื่อนำไปพัฒนาเป็นสวน 15 นาที ในปัจจุบันแบ่งเป็นที่ดินของกรุงเทพมหานคร 69 แห่ง ที่ดินของภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ 44 แห่ง และที่ดินเอกชน 34 แห่ง รวมทั้งสิ้น 147 แห่ง โดยมีเป้าหมายในการสร้างสวน15 นาที จำนวน 500 แห่ง ทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร เรื่องสำคัญอีกหนึ่งเรื่อง นอกจากการสร้างสวน 15 นาทีแล้ว เราจะดูแลบำรุงรักษาสวนเหล่านี้ได้อย่างไร ที่สำคัญคือภาคประชาชนและชุมชนที่ตั้งอยู่โดยรอบพื้นที่ หากมีกลไกในการส่งเสริมและสนับสนุนจากองค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆ จะช่วยทำให้สวน 15 นาทีที่เกิดขี้น ซึ่งเป็นสวนใกล้บ้านสามารถนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต” รองฯ วรนุช สำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวในการเสวนา 

ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเสวนาวิชาการและนโยบายด้านกิจกรรมทางกาย EP1-พัฒนาพื้นที่สุขภาวะที่ทุกคนมีส่วนร่วม: Active Environment for All เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจถึงความหมาย ความสำคัญของพื้นที่สุขภาวะ (Healthy Space) ที่มีต่อการดำเนินชีวิตของคน สร้างแรงบันดาลใจกับเมืองและท้องถิ่นทั่วประเทศ ร่วมกันพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่มีความหลากหลาย ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของคนเมือง โดยมีตัวอย่างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากนโยบายและการทำงานของกรุงเทพมหานครเป็นต้นแบบ สำหรับกิจกรรมการเสวนา ประกอบด้วย Session 1-ความสัมพันธ์ของพื้นที่สุขภาวะและวิถีสุขภาวะของคนทุกคน Session2-ก่อนจะเป็นพื้นที่สุขภาวะ: จุดเริ่มต้นและกระบวนการพัฒนา Session3-มหานครกรุงเทพกับโมเดลสวน 15 นาที เปิดตัวคู่มือการจัดกิจกรรม WalkShop: เครื่องมือส่งเสริมการจัด Healthy Meeting และกิจกรรม WalkShop-เส้นทางสะพานเขียว และสวนเบญจกิติ