EDU Research & ESG

CMMUแนะธุรกิจยังต้องตั้งรับ'วูก้าเวิลด์' ชี้ผู้บริหารให้ปรับ3บทบาทสร้างทางรอด



กรุงเทพฯ 29 กันยายน 2566 – วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) เผยผลกระทบจากสถานการณ์ VUCA World ทำให้องค์กรธุรกิจต้องพร้อมปรับตัว เพื่อรับมือกับความผันผวน ความไม่แน่นอน และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด ชี้ 4 ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อธุรกิจในอนาคต ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงของประชากร พร้อมแนะแนวทางการปฏิรูปองค์กรผ่านผู้นำ ด้วย  3 ลักษณะ ได้แก่  การเป็นผู้นำเชิงปฏิรูปต้องพร้อมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ  การอัปสกิลและรีสกิลให้กับทรัพยากรมนุษย์ และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้มีเอกภาพ นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรที่มุ่งสร้างและพัฒนาศักยภาพนักบริหารจัดการธุรกิจสมัยใหม่จัดการแบบรู้รอบหรือ Expert Generalist เพื่อต่อยอดความก้าวหน้าและสร้างโอกาสการเติบโตในหน้าที่การงาน

ผศ. ดร.กิตติชัย ราชมหา หัวหน้าสาขาการจัดการธุรกิจ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า การจัดการธุรกิจภายใต้สภาพแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างรวดเร็วและไม่สามารถคาดเดาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ หรือที่เรียกว่าสถานการณ์ VUCA World : วูก้าเวิลด์ จะแตกต่างจาก Disruption ในบริบทของการจัดการธุรกิจ โดย VUCA หมายถึงสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบให้องค์กรธุรกิจต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แตกต่างจาก Disruption โดยเฉพาะ Disruption Innovation ซึ่งหมายถึง การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในระบบจัดการ กระบวนการ ผลิตภัณฑ์ เพื่อมาช่วยแก้ปัญหาแทนสิ่งเดิมที่ไม่สามารถแก้ได้

VUCA World : วูก้าเวิลด์ เกิดจากสังคมโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จาก 4 ปัจจัย ได้แก่ ความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความซับซ้อน (Complexity) และความคลุมเครือ (Ambiguity) โดยสถานการณ์การจัดการธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมากเพราะต้องเผชิญกับความผันผวนต่างๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี ประชากร สังคม การเมืองและกฎหมาย รวมถึงพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค และคู่แข่งขัน เป็นต้น โดย VUCA World ยังเป็นสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบได้ทั้งในวงกว้างและแบบเฉพาะเจาะจงกับแต่ละอุตสาหกรรมโดยตรง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่องค์กรธุรกิจไม่สามารถควบคุมได้ ยากต่อการคาดการณ์ และเกิดขึ้นได้อย่างไม่สิ้นสุด

ทั้งนี้ องค์กรธุรกิจ จึงจำเป็นต้องปรับตัวให้ยืดหยุ่น (Adaptive Organization) เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การปรับตัวให้เกิดความยืดหยุ่นด้านการจัดการ ทบทวนวิสัยทัศน์ พันธกิจ จุดมุ่งหมาย กลยุทธ์ในทุกระดับขององค์กร ปรับโครงสร้างองค์กร วัฒนธรรมองค์กร ระบบบริหารจัดการ โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงทรัพยากรมนุษย์”

ผศ. ดร.กิตติชัย  กล่าวเพิ่มเติมว่า 4 ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ส่งผลต่อธุรกิจในอนาคต ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลกระทบต่อองค์กรในวงกว้างในทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงเรื่องกฎเกณฑ์หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลต่อทุกภาคอุตสาหกรรมทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดโลก การเปลี่ยนแปลงความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ หรือเทคโนโลยีชีวภาพ และการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มประชากรที่มีแนวโน้มเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มผู้บริโภคและพฤติกรรมของผู้บริโภค ทั้งการยอมรับ การใช้งาน การบริโภค การซื้อ

นอกจากนี้ ยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า องค์กรธุรกิจจะอยู่รอดได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ ปรับตัว สร้างสรรค์การออกแบบธุรกิจด้วยแนวคิดใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องและไม่สิ้นสุด โดยคุณลักษณะที่สำคัญที่สุดที่ผู้นำองค์กรต้องมี คือ ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงหรือผู้นำเชิงปฏิรูป (Transformative Leadership) จึงจะสามารถพาองค์กรปรับตัว อยู่รอด และเติบโตท่ามกลางภาวะผันผวนเช่นนี้ได้ โดยมี 3 ปัจจัยหลักที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ดังนี้

1. ผู้นำองค์กรที่พร้อมเปลี่ยนแปลงเสมอ ต้องเป็นผู้นำเชิงปฏิรูป ยอมรับและพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ พันธกิจ จุดมุ่งหมาย (Goal) กลยุทธ์องค์กรในทุกระดับ มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรให้มีความยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์
ที่เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนไป โดยมุ่งเน้นการทำงานร่วมกันในลักษณะเครือข่าย พันธมิตร การทำงานแบบบูรณาการเชื่อมโยงกันในรูปแบบ Virtual Network และ Team Structure

2. ปฏิรูปทรัพยากรความรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่อง มีการอัปสกิล
และรีสกิลในความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่เพียงความรู้ที่เกี่ยวข้องในสายงานเท่านั้น แต่องค์กรต้องเปิดโอกาสให้พนักงานได้เรียนรู้ความรู้ที่หลากหลายแบบข้ามศาสตร์ ให้มีทั้งความรู้ที่กว้างและรู้ลึกเพื่อพัฒนาคน
ให้มีคุณลักษณะที่สามารถเติบโตเป็นนักบริหารในรูปแบบ Expert Generalist ได้

3. สร้างวัฒนธรรมองค์กรร่วมให้เกิดเอกภาพ โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่เน้นการปรับตัว ยืดหยุ่น สามารถตอบสนองได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป พนักงานสามารถปรับตัวและปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันได้ มีอิสระในการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อให้พร้อมรองรับการปรับตัว เปลี่ยนแปลง และปฏิรูปองค์กรอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ท่ามกลางสถานการณ์ VUCA World ในปัจจุบันที่หลากหลายธุรกิจต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้ คือ การอัปสกิลการเรียนรู้ ผ่านสาขาการจัดการธุรกิจ (BM) วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้จริงในการทำงาน ครอบคลุมกระบวนการเรียนรู้ศาสตร์ด้านการจัดการ 4 M’s ประกอบด้วย บริหารคน (Managing People) บริหารกลยุทธ์ (Managing Strategy) บริหารการดำเนินงานและโครงการธุรกิจ (Managing Business Process & Project) และบริหารการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ เพื่อการวางแผน ควบคุม และตัดสินใจ (Managing Data Analysis) อย่างมีประสิทธิภาพ สอนโดยคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิและนักบริหารจัดการองค์กรภาคธุรกิจชั้นนำ เพื่อมุ่งสร้างและพัฒนาศักยภาพนักบริหารจัดการธุรกิจสมัยใหม่อย่างมืออาชีพที่มีทักษะการจัดการแบบรู้รอบและรู้ลึก หรือที่เรียกว่า “Expert Generalist” เพื่อต่อยอดความก้าวหน้าและสร้างโอกาสการเติบโตในหน้าที่การงาน ผศ. ดร.กิตติชัย กล่าวเสริม

ทั้งนี้ ผู้สนใจเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท หลักสูตรไทยและหลักสูตรนานาชาติ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเพจเฟซบุ๊ก CMMU Mahidol (https://www.facebook.com/CMMUMAHIDOL)