In News

นายกฯลงภูเก็ตดูพัฒนาโครงข่ายพื้นฐาน เดินหน้า3สนามบินภูเก็ต-กระบี่-พังงา



ภูเก็ต-นายกฯ ลงพื้นที่ภูเก็ต ติดตามการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน เร่งเดินหน้า 3 สนามบินขยายสนามบินภูเก็ต พัฒนาสนามบินกระบี่และสร้างสนามบินอันดามัน-พังงา มูล่าร่วมกว่า 1.5 แสนล้านบาท พร้อมเร่งระบบคมนาคมขนส่ง เร่งรัดถนนมอเตอร์เวย์กระทู้-ป่าตองและเมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กะทู้ และเร่งขยายถนนเชื่อมสำคัญบนเกาะเป็น 4 เลนทั้งหมด ช่วยบ่ายนายกฯ ลงพื้นที่ก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต รับฟังความคิดเห็นการแก้ไขปัญหาจราจร-ขยายเส้นทางรองรับนักท่องเที่ยว ย้ำการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน

วันนี้ (29 กันยายน 2566) เวลา 12.50 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และคณะ ลงพื้นที่ตรวจติดตามการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน ณ จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดพังงา ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่ต้องการผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว
 
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีรับฟังภาพรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน ณ ห้องประชุม AOT ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต โดยมีประเด็นสำคัญ ๆ ดังนี้
 
การพัฒนาท่าอากาศยานแนวชายฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย 1) โครงการพัฒนาก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ระยะที่ 2 วงเงินลงทุน 5,800 ล้านบาท 2) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ วงเงินลงทุน 2,700 ล้านบาท และ 3) โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานพังงา หรือท่าอากาศยานนานาชาติอันดามัน ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา วงเงินลงทุน 80,000 ล้านบาท
 
ในส่วนของโครงการทางพิเศษ และโครงข่ายทางหลวงในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ประกอบด้วย 1) โครงการทางพิเศษใน จ.ภูเก็ต การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อยู่ระหว่างดําเนินโครงการทางพิเศษใน จ.ภูเก็ต จําแนกเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ช่วงกะทู้ - ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. และระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กะทู้ ระยะทาง 30.26 กม. 2) โครงการพัฒนาปรับปรุงโครงข่ายทางหลวง จ.ภูเก็ต กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง อยู่ระหว่างดําเนินโครงการพัฒนาปรับปรุงระบบคมนาคมขนส่งทางถนนในพื้นที่ จ.ภูเก็ต หลายโครงการ  มีโครงการที่เร่งรัดการดำเนินการในปีงบประมาณ 2567 ดังนี้ (1) โครงการก่อสร้างขยาย 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 4207 ระยะทาง 4.55 กิโลเมตร (2) โครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ 4 ช่องจราจร ได้แก่ ทางหลวงหมายเลข 4207 ระยะทาง 1.95 กิโลเมตร และ (3) โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับ ที่จุดตัด ทล.402 กับ ทล. 4207 (ทางลอดท่าเรือ) ที่ กม. 34+680 (ทล.402)
 
ภายหลังรับฟังบรรรยายสรุปภาพรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่เสนอแนวความคิดในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ รัฐบาลพร้อมร่วมมือกันทำงานเพื่อพัฒนาภาคการท่องเที่ยว และเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาอีกครั้ง พร้อมกับเชื่อมั่นในศักยภาพของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็น Model ที่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยความโดดเด่นของจังหวัด สามารถเชื่อมต่อไปสู่การท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดคลัสเตอร์ (ภูเก็ต กระบี่ พังงา) ซึ่งล้วนมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน เป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเลือกเดินทางมาที่นี่ 
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวอวยพรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ในนามของรัฐบาลขอขอบคุณที่ตลอดระยะเวลาการทำงาน ผู้ว่าฯ ทำงานมาด้วยความทุ่มเท อุทิศตนทำงานเพื่อประเทศชาติ หลังจากเกษียณราชการแล้ว ขอให้มีความสุขใช้ชีวิตอย่างมีความสุขต่อไป
 
นายกรัฐมนตรียืนยันว่า รัฐบาลมีการติดตามงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีโอกาสทำงานร่วมกับข้าราชการกระทรวงคมนาคม ถือเป็นแบบอย่างที่ดีของการทำงาน มีการขับเคลื่อนงาน รวมถึงมีการบริหารจัดการที่ดี ใช้งบประมาณที่มีอย่างจำกัดสร้างประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าตอบสนองนโยบายของรัฐบาล
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ถึงแม้จะมีการดำเนินโครงการสำคัญ ๆ ในจังหวัดภูเก็ตแล้ว ตลอดระยะเวลา 4 ปีของรัฐบาล จะต้องดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองระดับโลกจะต้องไม่หยุดการพัฒนา สิ่งที่สำคัญขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลนักท่องเที่ยว อยากให้ก้าวแรกจนถึงก้าวสุดท้ายที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจังหวัดภูเก็ตมีความสุข มีความปลอดภัย อย่าให้เกิดปัญหา นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับให้ตำรวจดูแลเรื่องความปลอดภัย สร้างความประทับใจ และในส่วนของ AOT ขอให้บริหารจัดการเรื่อง private jet ให้ดี อย่าให้กระทบต่อตารางการบินของนักท่องเที่ยว

นายกฯ ลงพื้นที่ก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต รับฟังความคิดเห็นการแก้ไขปัญหาจราจร-ขยายเส้นทางรองรับนักท่องเที่ยว

ในเวลา 14.00 น. ณ พื้นที่ก่อสร้างโครงการทางพิเศษ สายกะทู้ – ป่าตอง ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบปะตัวแทนหน่วยงานราชการและประชาชน เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการจราจร และการขยายเส้นทางเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ภายหลังรับฟังบรรยายสรุปฯ นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำรัฐบาลพร้อมเร่งผลักดันการอำนวยความสะดวกในส่วนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม การสร้างสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งการปรับปรุงสนามบิน การเพิ่มเที่ยวบิน และในทุกขั้นตอนการบริการที่เป็นประตูสู่ประเทศไทย ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาลพร้อมสนับสนุน และขอให้เร่งรัดการดำเนินการ เพื่อสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยพิจารณาทั้งในเรื่องการใช้งบประมาณ ระยะเวลาในการก่อสร้าง ให้มีความเหมาะสม เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด และเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนโดยรวม สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง การดำเนินการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนด้วย
 
สำหรับการก่อสร้างโครงการทางพิเศษ สายกะทู้ - ป่าตอง ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้มุ่งมั่นให้มีการศึกษาเพื่อพัฒนาอย่างรอบด้าน ทั้งด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษในจังหวัดภูเก็ต

ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ประกอบด้วย

ระยะที่ 1 : ช่วงกะทู้-ป่าตอง เป็นทางพิเศษยกระดับและอุโมงค์ขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง โดยเป็นทางยกระดับข้ามถนนพิศิษฐ์กรณีย์จนถึงเขานาคเกิด แล้วจึงเป็นอุโมงค์คู่ หลังจากนั้นเป็นทางยกระดับ และสิ้นสุดโครงการที่ ตำบลกะ บริเวณจุดตัดกับ ทล. 4029 รวมระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร

ระยะที่ 2 : ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ เป็นทางพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร ช่องจราจรละ 3.5เมตร เกาะกลาง 16.20 เมตร รองรับการขยายช่องจราจรในอนาคต ไหล่ทางด้านใน 1.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอก 2.5-เมตร และเนื่องจากรูปแบบโครงการเป็นทางพิเศษที่มีการควบคุมการเข้าออก จึงจำเป็นต้องมีการออกแบบทางบริการฝั่งละ 2 ช่องจราจรแบบวิ่งสวนทิศทางจราจรตามความเหมาะสมเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถสัญจรได้ตามเดิม โดยไม่ถูกทางพิเศษปิดกั้น สำหรับช่วงแนวเส้นทางในการต่อขยายเข้าสู่กะทู้ และเชื่อมต่อกับทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง แนวเส้นทางผ่านพื้นที่เขากมลาซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขาสูงชัน จึงออกแบบเป็นอุโมงค์คู่ อุโมงค์ละ 2 ช่องจราจร และช่วงแนวเส้นทางที่ผ่านพื้นที่เมืองกะทู้จะออกแบบเป็นทางพิเศษยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร มีแนวเส้นทางอยู่บนถนนเดิมรวมระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร

นายกฯ รับฟังข้อสรุปโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติอันดามัน จ.พังงา ย้ำกำหนดแผนการเวนคืนที่ดิน-การจ่ายเงินชดเชยให้ชัดเจน กำชับเชื่อมต่อระบบคมนาคมอย่างเหมาะสม ระบบสาธารณูปโภคต้องพร้อมรองรับความเจริญในอนาคตวันนี้ (29 กันยายน 2566) เวลา 15.10 น. ณ พื้นที่ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รับฟังข้อสรุปเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติอันดามัน ซึ่งใช้พื้นที่ในการก่อสร้างประมาณ 7,400 ไร่ จากการสำรวจมีความเหมาะสมต่อการสร้างสนามบิน 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำการก่อสร้างจะต้องไม่สร้างปัญหา กระทบต่อประชาชนทั้งที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ส่วนการจ่ายเงินชดเชยค่าเวนคืนที่ดินจะต้องเป็นธรรม โดยเฉพาะเรื่องระยะเวลาเวนคืนและการจ่ายเงินจะต้องกำหนดเป็นแผนให้ชัดเจน พร้อมกำชับเรื่องการเชื่อมต่อระบบคมนาคมอย่างเหมาะสม รวมถึงระบบสาธารณูปโภคจะต้องมีความพร้อมรองรับความเจริญเติบโตในอนาคต

“นายกรัฐมตรีย้ำว่า การลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดพังงาไม่ได้มีนัยยะทางการเมือง มาในฐานะนายกรัฐมนตรี ในนามของรัฐบาล เพื่อรับฟังปัญหา ติดตามงานตามข้อสั่งการ” นายชัย กล่าว