In Bangkok
'จักกพันธุ์'ติดตามงานเขตราษฏร์บูรณะ ตรวจงานบัตร-แยกขยะ-สวน15นาที
กรุงเทพฯ-ติดตามระบบ BMA-TAX ลดขั้นตอนงานทะเบียนบัตร ตรวจแยกขยะเขตราษฎร์บูรณะ ส่องสวน 15 นาทีวัดแจงร้อน ชมคัดแยกขยะชุมชนราษฎร์บูรณะ 39 สำรวจ Hawker Center หน้า 7-11 วัดแจงร้อน คุมเข้มฝุ่นจิ๋วไซต์งานเฟล็กซี่สุขสวัสดิ์
(29 ก.ย. 66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตราษฎร์บูรณะ ประกอบด้วย
ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ การบันทึกข้อมูลรายการผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ รวมถึงให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่าง ๆ เน้นย้ำการปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบ เรียนรู้ทำความเข้าใจกับระบบต่าง ๆ ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 24,798 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 25,892 แห่ง ห้องชุด 10,796 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 61,486 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว
ตรวจเยี่ยมการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตราษฎร์บูรณะ ภาพรวมของระยะเวลาในการให้บริการประชาชนที่มาติดต่องานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน ตั้งแต่กดรับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนทั้งหมด ไม่รวมเวลารอคอย ซึ่งควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที โดยขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนที่มารับบริการในแต่ละวัน ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า ประสิทธิภาพของระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ใช้งาน โดยให้เขตฯ พิจารณารวมขั้นตอนบางอย่างเข้าด้วยกัน หรือลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนกันออกไป เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้รับบริการด้วยความรวดเร็ว
ตรวจเยี่ยมต้นแบบการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตราษฎร์บูรณะ มีข้าราชการและบุคลากร 204 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล แต่ละฝ่ายฯ จะมีจุดคัดแยกขยะรีไซเคิล โดยทุกคนมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะ ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ เก็บรวบรวมทุกวันศุกร์สุดท้ายของเดือน จัดกิจกรรมโครงการขยะแลกไข่ โครงการสำนักงานเขตปลอดขยะ 2.ขยะอินทรีย์ ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ นำถังสำหรับแยกเศษอาหารส่งมอบให้แต่ละฝ่าย เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บถังใส่เศษอาหารแต่ละฝ่าย โดยนำไปหมักรวมกับเศษกิ่งไม้ใบไม้ที่บดย่อยแล้ว เพื่อทำปุ๋ยหมักใบไม้แห้ง เพื่อนำไปบำรุงรักษาต้นไม้ แปลงผักในพื้นที่เขตฯ และสวน 15 นาที 3.ขยะอันตราย จัดเก็บเดือนละครั้งทุกสิ้นเดือน 4.ขยะทั่วไป ตั้งวางถังขยะทั่วไปตามจุดที่กำหนด แม่บ้านจะรวบรวมขยะมาไว้ที่ชั้น 1 สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 5,818 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 5,720 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 72 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 25 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 0.5 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อหลังคัดแยก 0.5 กิโลกรัม/เดือน นอกจากนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เยี่ยมชมการสาธิตการคัดแยกขยะ นวัตกรรมการตรวจวัดปริมาณขยะ และการทำผลิตภัณฑ์จากกากกาแฟ ต้นกล้วย และแผงไข่ อาทิ การผลิตถ่านเชื้อเพลิงอัดแท่งจากกากกาแฟ การผลิตสบู่จากกากกาแฟ ปุ๋ยหมักที่ผลิตจากกากกาแฟ ผลิตภัณฑ์กระดาษสาที่ทำจากใยกล้วยและแผงไข่ เพื่อลดปริมาณขยะในพื้นที่ สามารถนำขยะที่จะทิ้งมาใช้ประโยชน์
สำรวจสวน 15 นาทีแห่งใหม่ บริเวณวัดแจงร้อน ซอยราษฎร์บูรณะ 37 พื้นที่ 2 ไร่ โดยเขตฯ จะดำเนินปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ ด้านข้างและด้านหลังโบสถ์ สวนไผ่ และบริเวณริมน้ำทางขึ้นสะพานท่าเรือ เพื่อพัฒนาเป็นสวนสุขภาพและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ที่ผ่านมา เขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงสวนสุขเวชชวนารมย์ ซอยสุขสวัสดิ์ 26 แยก 2 พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 23 วา (1,123 ตารางเมตร) ซึ่งเป็นพื้นที่เอกชนมอบให้กรุงเทพมหานคร จัดทำเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ โดยได้ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิ์เหนือพื้นดินเสร็จสิ้น และเข้าปรับปรุงเป็นสวนหย่อมสถานที่ออกกำลังกาย โดยเปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการภายในสวนแล้ว
สำรวจพื้นที่ Hawker Center บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ 7-11 วัดแจงร้อน เขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ว่างที่มีความเหมาะสม เพื่อจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยใช้พื้นที่ว่างหรือตลาดนัดเอกชน เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้ซื้อ อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ ที่ผ่านมาเขตฯ ได้จัดทำ Hawker center บริเวณซอยราษฎร์บูรณะ 22 พื้นที่ 30 ตารางวา สามารถรองรับผู้ค้าได้ 60 แผง ช่วงเวลาทำการค้า รอบเช้า 06.00-14.00 น. รอบบ่าย 15.00-21.00 น. จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่กำหนด นอกจากนี้เขตฯ ได้สำรวจพื้นที่บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ 7-11 สุขสวัสดิ์ 26 เพื่อจัดทำ Hawker Center เพิ่มเติมอีก 1 แห่ง ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า บริเวณหน้าโรงพยาบาลราษฎร์บูรณะ ซึ่งเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 20 ราย ดังนี้ 1.ซอยสุขสวัสดิ์ 26 ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-19.00 น. 2.ซอยราษฎร์บูรณะ 16 ผู้ค้า 4 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-20.00 น. 3.หน้าโรงพยาบาลราษฎร์บูรณะ ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-19.00 น. โดยมอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ เพื่อจัดทำ Hawker Center ตลอดจนหาแนวทางยุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดเดียวกัน หรือในจุดที่เขตฯ จัดทำเป็น Hawker Center เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนซอยราษฎร์บูรณะ 39 พื้นที่ 5 ไร่ ประชากร 256 คน บ้านเรือน 39 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2565 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ เขตฯ จัดเก็บเศษอาหารตามบ้าน นำไปทำปุ๋ยหมักใบไม้แห้ง 2.ขยะรีไซเคิล ประชาชนคัดแยกไว้จําหน่ายเป็นรายได้ของครอบครัว เขตฯ คัดแยกแล้วนำมาใช้ประโยชน์ 3. ขยะทั่วไป ตั้งวางถังรองรับมูลฝอยภายในชุมชน ประชาชนแต่ละบ้านนําขยะทั่วไปมาทิ้งใส่ถังที่ตั้งวางไว้ เขตฯ จัดเก็บขยะวันเว้นวัน 4.ขยะอันตราย ประชาชนแยกทิ้งในถังขยะแยกประเภท (ถังสีส้ม) เขตฯ จัดเก็บเดือนละ 2 ครั้ง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 10,000 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 7,500 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 50 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 50 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 20 กิโลกรัม/เดือน
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการเฟล็กซี่สุขสวัสดิ์ ซอยสุขสวัสดิ์ 13 เป็นโครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัย ความสูง 8 ชั้น จำนวน 3 อาคาร ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้รับจ้างให้ปรับสภาพพื้นที่ด้านหน้าทางเข้าออกโครงการและฉีดล้างทำความสะอาด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสะสมของฝุ่น เปิดเครื่องพ่นละอองน้ำบริเวณพื้นที่โดยรอบตลอดเวลาปฏิบัติงาน นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทการต่อ ประกอบ เคาะ ปะผุ พ่นสี หรือพ่นสารกันสนิมยานยนต์ 5 แห่ง ประเภทสถานประกอบการที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) 10 แห่ง ประเภทหลอมหรือหล่อโลหะ 4 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 3 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 4 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายดลจิตร์ เสรีรักษ์ ผู้อำนวยการเขตราษฎร์บูรณะ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตราษฎร์บูรณะ สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล