In News

สธ.เปิด'Financial Data Hub'ให้ทุกรพ. ส่งข้อมูลเข้าตั้งแต่ต.ค.65-ปัจจุบัน



นนทบุรี-รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย มีการทำความเข้าใจระบบ “ศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน” (Financial Data Hub) กับโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง ย้ำให้ส่งข้อมูลขึ้นระบบทั้งเรื่องการเงิน การรักษาผู้ป่วย ตั้งแต่ ต.ค. 2565 - ปัจจุบัน เพื่อทดสอบการใช้งาน

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย มีการทำความเข้าใจระบบ “ศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน” (Financial Data Hub) กับโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง ย้ำให้ส่งข้อมูลขึ้นระบบทั้งเรื่องการเงิน การรักษาผู้ป่วย ตั้งแต่ ต.ค. 2565 - ปัจจุบัน เพื่อทดสอบการใช้งาน พร้อมมอบกองเศรษฐกิจสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยควบคุมข้อมูลให้เป็นชุดเดียว เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการเบิกจ่ายกับกองทุนสุขภาพต่างๆ ช่วยลดภาระงานบุคลากร สอดรับกับ quick win เรื่องดิจิทัลสุขภาพ และเกิด Big Data ที่ใช้ AI ช่วยวิเคราะห์นำไปสู่การวางแผนนโยบายด้านการเงินที่เหมาะสม

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ INET ดำเนินการเรื่องศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน (Financial Data Hub) ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะทำให้เกิดเครือข่ายข้อมูลสุขภาพดิจิทัล ในกรอบข้อมูลด้านการเงินและการเบิกจ่ายของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และนำข้อมูลมาจัดทำเป็น Big data วิเคราะห์ประมวลผลในรูปแบบ Business intelligence เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดภาระงานในการคีย์ข้อมูลของหน่วยบริการ รวมทั้งเป็นการเตรียมพร้อมข้อมูลสำหรับการเบิกจ่ายไปยังกองทุนต่างๆ ซึ่งสอดรับกับ quick win เรื่องดิจิทัลสุขภาพ โดยล่าสุด ได้มีการประชุมชี้แจงการใช้งานศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน (Financial Data Hub) กระทรวงสาธารณสุข ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ และได้เน้นย้ำให้หน่วยบริการส่งข้อมูลขึ้นระบบ อาทิ ข้อมูลด้านการเงิน สิทธิการรักษา ข้อมูลผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก การวินิจฉัย การส่งต่อ อุบัติเหตุ เป็นต้น ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน เพื่อทดสอบการใช้งานระบบ

“ทั้งหมดจะเป็นการสร้างเครือข่ายข้อมูลเข้ามาที่ส่วนกลาง โดยมีกองเศรษฐกิจสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็น Data Controller ควบคุมข้อมูล สนับสนุนอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับการรวบรวม จัดเก็บ หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อส่งไปยังกองทุนต่างๆ และแม้โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะมีการใช้ระบบบันทึกข้อมูลที่แตกต่างกัน แต่เราได้พัฒนาเกตเวย์ ใช้ระบบ API ทำให้ข้อมูลต่างๆ ที่ส่งเข้ามาอยู่ในชุดข้อมูลเดียวกัน เพื่อให้สะดวกและง่ายต่อการเบิกจ่ายหรือการเคลม พร้อมทั้งดำเนินการตามมาตรฐานของ INET มีการทดสอบและแก้ไขช่องโหว่ของระบบ เพื่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์” นพ.พงศ์เกษมกล่าว

นพ.พงศ์เกษมกล่าวต่อว่า สำหรับในระยะต่อไป ข้อมูลที่เข้ามาจำนวนมากจนเป็น Big Data นี้ จะมีระบบ AI มาวิเคราะห์ตรวจสอบเพื่อช่วยในเรื่องการเบิกจ่าย โดยขณะนี้ได้เริ่มการทดสอบแล้ว รวมถึงกำลังพัฒนาการใช้โรโบติกในการเชื่อมระบบ เพื่อให้การทำงานสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ลดภาระงานของบุคลากรตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ส่วนการพัฒนาไปสู่ Business intelligence ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะมาเชื่อมต่อเรื่องของการจ่ายค่าตอบแทนตามการปฏิบัติงาน (P4P) การเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาระหว่างโรงพยาบาลหรือระดับเขต เพื่อเป็นชุดข้อมูลที่สามารถนำไปใช้การวิเคราะห์ได้ในอนาคต