In News

'จุลพันธ์'ถกIMT-GT'29ที่เกาะเรียลคืบ! รุกเชื่อมปท.-เมืองยาพารา-คิวอาร์โค้ต



การประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)  ระหว่างวันที่ 28 - 29 กันยายน 2566 ณ เมืองบาตัม จังหวัดหมู่เกาะเรียล สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เดินหน้ากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจของ 3 ประเทศใน3ด้าน คือการเชื่อมโยงกันทางกายภาพ การสร้างเมืองยางพาราและการร่วมกันใช้คิวอาร์โค้ตในการชำระเงินของนักท่องเที่ยวในIMT-GT

นายจุลพันธ์  อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) แถลงว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันอังคารที่ 26 กันยายน 2566 มอบหมายให้ตนเป็นรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT และเดินทางเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงาน IMT-GT ณ เมืองบาตัม จังหวัดหมู่เกาะเรียล สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในระหว่างวันที่ 28 - 29 กันยายน 2566 เพื่อเข้าร่วมหารือกับรัฐมนตรีประสานงานกิจการเศรษฐกิจ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ ประเทศมาเลเซียโดย IMT-GT เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง 3 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ที่มีความเชื่อมโยงของ 3 ประเทศ โดยได้มีการหารือในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่

1. แผนงานการก่อสร้างความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical Connectivity Projects: PCPs) แผนงาน PCPs เป็นแผนงานที่มีมูลค่ารวมกว่า 2.10 ล้านล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมาโครงการของไทยที่มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมคือ โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่างด่านศุลกากรสะเดา-บูกิตกะยูฮิตัม โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 (สุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง) นอกจากนี้ ไทยจะมีการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในภาคใต้ อาทิ โครงการก่อสร้าง Motor Way หาดใหญ่-สะเดา โครงการก่อสร้าง Land Bridge ชุมพร-ระนอง

2. โครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง แผนงาน IMT-GT มีความก้าวหน้าที่ต่อยอดมาจากการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง ซึ่งได้ลงนามในการประชุมระดับรัฐมนตรีเมื่อเดือนกันยายน 2565 MOU นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการอำนวยความสะดวกการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้สู่เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของภาคใต้

3. ความร่วมมือด้านการเงินเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวประเทศไทยโดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยและอินโดนีเซีย ได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านทาง QR Code เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวสามารถชำระเงินเพื่อการซื้อขายสินค้าและบริการได้โดยไม่ต้องแลกเปลี่ยนเงิน และได้แจ้งฝ่ายมาเลเซียเพื่อให้การสนับสนุนเพื่อสร้างความร่วมมือในลักษณะเดียวกันต่อไป

ในการนี้ ที่ประชุมได้ให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการร่วมมือกันของประเทศสมาชิก IMT-GT ในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงการผลักดันให้พื้นที่อนุภูมิภาค IMT-GT พัฒนาไปอย่างยั่งยืนบนฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเป็นการเน้นย้ำถึงบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของไทยในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนาที่สำคัญในอนุภูมิภาค IMT-GT ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมกับประเทศเพื่อนบ้าน อันจะส่งผลให้ไทยมีบทบาทเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์และมีความร่วมมือกับนานาชาติในลักษณะที่จะเกื้อหนุนต่อความก้าวหน้าในทุก ๆ ด้าน รวมไปถึงการสร้างผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

อนึ่ง ในวันที่ 28 กันยายน 2566 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้มีโอกาสหารือทวิภาคีกับ Mr. Winfried F. Wicklein ผู้อำนวยการสำนักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ในประเด็นที่ประเทศไทยต้องการผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือทางการเงิน เช่น ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond: SLB) และการสร้างความร่วมมือทางการเงินเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตอันใกล้นี้ โดย ADB ได้ตอบรับประเด็นดังกล่าวและจะให้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดต่อไป