In Bangkok

กทม.เตรียมพร้อมมุ่งสู่เป็นองค์กรต้นแบบ ด้านความเท่าเทียมทางเพศ 



กรุงเทพฯ-(2 ต.ค.66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมเพื่อแนะนำโครงการจัดทำตรารับรองความเท่าเทียมทางเพศสำหรับหน่วยงานรัฐของกรุงเทพมหานคร ณ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า สำหรับจุดเริ่มต้นของการดำเนินโครงการดังกล่าว กทม. ได้เริ่มต้นหารือกับ UNDP ประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2566 และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ลงนามแจ้งเจตจำนงเข้าร่วมโครงการจัดทำตรารับรองความเท่าเทียมทางเพศสำหรับหน่วยงานภาครัฐ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการดำเนินการด้านความเท่าเทียมทางเพศของกทม. วันนี้กทม. ร่วมกับ UNDP จึงได้จัดการประชุมเพื่อแนะนำโครงการจัดทำตรารับรองความเท่าเทียมทางเพศสำหรับหน่วยงานรัฐของกทม. เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการประเมินตนเองด้านความเท่าเทียมทางเพศ และวางแผนการดำเนินโครงการร่วมกันระหว่างกทม. กับ UNDP ประเทศไทย 

ด้านนาย Renaud Meyer UNDP Resident Represerntative ได้กล่าวแสดงความดีใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับกทม. และรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารกทม. ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ซึ่งไม่ว่าผลการประเมินกทม. จะได้ระดับใดนั้นไม่สำคัญ แต่สิ่งสำคัญคือทัศนคติที่อยากจะทำและผลักดันเรื่องเหล่านี้ นอกจากนี้กทม. จะเป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่จะประเมินตนเองด้านความเท่าเทียมทางเพศ ดังนั้นจึงเชื่อมั่นว่ากทม. จะสามารถเป็นตัวอย่างให้แก่หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ได้

ทั้งนี้โครงการจัดทำตรารองรับความเท่าเทียมทางเพศสำหรับหน่วยงานรัฐ (Gender Equality Seal for Public Institutions) เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและยกย่องหน่วยงานภาครัฐที่มุ่งมั่นในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและพัฒนาศักยภาพผู้หญิง นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals -SDGs) ข้อที่ 5 ด้านความเท่าเทียมทางเพศ และข้อที่ 16 สันติภาพ ยุติธรรม และสถาบันที่เข็มแข็ง

กทม. เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและพัฒนาศักยภาพผู้หญิง รวมไปถึงกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ และที่ผ่านมาได้ดำเนินการในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ โดยกำหนดนโยบายด้านความเท่าเทียมทางเพศและต่อต้านการคุกคามทางเพศในหน่วยงานทุกรูปแบบ พร้อมจัดทำประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง นโยบายการไม่เลือกปฏิบัติทางเพศ และการป้องกันการล่วงละเมิด หรือการคุกคามทางเพศในการทำงาน เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2565 และเวียนแจ้งให้ทุกหน่วยงานของกรุงเทพมหานครถือปฏิบัติโดยทั่วกัน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้าน ปลอดภัยดี “หน่วยงาน กทม. เข้าใจ สนับสนุนความเท่าเทียม และยอมรับความหลากหลายทางเพศ" ซึ่งกทม. มุ่งมั่นที่จะพัฒนาหน่วยงานและบุคลากรของกรุงเทพมหานครไปสู่องค์กรต้นแบบในด้านความเท่าเทียมทางเพศต่อไปในอนาคต