In News
ครม.มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคกก.เงินดิจิทัล จัดเงินเงินหมื่นผ่านDigital Wallet
กรุงเทพฯ-คณะรัฐมนตรี (3 ตุลาคม 2566) มีมติเห็นชอบในหลักการในการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบาย4คณะมาดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ก่อนหน้านี้ รองนายกฯ นายภูมิธรรมฯ และ รมช. กค. นายจุลพันธ์ฯ แถลงประเด็นที่สังคมสนใจ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ Digital Wallet
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (3 ตุลาคม 2566) มีมติเห็นชอบในหลักการในการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
ซึ่ง ครม. เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 มีมติมอบหมายให้ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) เป็นเจ้าภาพจัดประชุมหารือร่วมกันระหว่าง กค. สงป. สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษารายละเอียดของแนวทางในการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ให้ชัดเจนแล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีโดยด่วน โดย รมช.กค. ได้จัดประชุมหารือเพื่อพิจารณากำหนดแนวทางฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2566 และ 27 ก.ย. 2566 และที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการในการแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน รวม 4 คณะ ได้แก่
1. คณะกรรมการนโยบายฯ โดยมี นรม. เป็นประธานกรรมการ รอง นรม.และรมว.พณ. (นายภูมิธรรม) รอง นรม.และรมว.กต. (นายปานปรีย์) รอง นรม. และรมว.มท. (นายอนุทิน) และรมว.ดศ. เป็นรองประธานกรรมการ โดยมีปลัด กค. และปลัด พณ. เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม
2. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการ
3. คณะทำงานด้านตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ และ
4. คณะทำงานด้านบริหารฐานข้อมูลโครงการฯ
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีวันนี้ (3 ตุลาคม 2566) จึงมีมติเห็นชอบในหลักการในการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ตามที่ กค. เสนอ ซึ่ง นรม. จะลงนามในคำสั่งตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
รองฯภูมิธรรมฯถกรมช.จุลพันธ์ฯแถลงประเด็นที่สังคมสนใจ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ Digital Wallet
ก่อนหน้านี้ ช่วง 12.00น. วันที่ 3 ตุลาคม 2566ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวเกี่ยวกับ Digital Wallet โดย นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสรุปสาระสำคัญการหารือ ดังนี้
แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่มีมติ ครม. เมื่อ 13 ก.ย. 2566 โดย นรม. ได้ลงนามจัดตั้ง คกก. ศึกษาแนวทางการทำประชามติ แก้ไขปัญหาความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยเป็นการสรรหาที่ได้คุยกันในหลักการก่อน โดยจะร่าง รธน. ผ่านการทำประชามติก่อน หลักการคือไม่แตะต้องหมวด 1-2 และไม่แตะต้องพระราชอำนาจ แต่มีกระบวนการเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และต้องเสร็จสิ้นภายใน 4 ปี ของการทำงานรัฐบาล โดยเสร็จสิ้นถึงกฎหมายลูกด้วย
วิธีการในการทำประชามติ 1 ประชาชน 50,000 คนเข้าชื่อ ซึ่งวิธีนี้ต้องใช้เวลาตรวจสอบตัวตนค่อนข้างมาก 2 ยื่นเสนอผ่านรัฐสภาใช้เวลามากเช่นกันและอาจตกได้ 3 ให้คณะรัฐมนตรีมีมติทำประชามติ ครม. ซึ่งถือเป็นการลัดขั้นตอน จึงตั้ง คกก. เพื่อจัดทำ โดยมีหลักการเดียวกัน แต่อาจแตกต่างในรายละเอียด
ทั้งนี้ คณะกรรมการทั้งสิ้น 35 คน ด้วยความคิดที่ต้องการให้ครอบคลุมที่สุด โดยจะเริ่มจากไปคุยกับคนจากกลุ่มวิชาชีพต่างๆ เช่น สภานักศึกษา กลุ่มนักธุรกิจ สมาคมต่างๆ สมาคมธนาคาร ประมง นักท่องเที่ยว กลุ่มเกษตรกร นายกสมาคมนักข่าว ซึ่งล้วนเป็นผู้ได้รับผลกระทบ อยากให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน เพื่อให้ได้ความคิดเห็นที่กว้างขวางที่สุดเท่าที่ทำได้ รวมทั้งจะเชิญตัวแทนพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ซึ่งวันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 256/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นแตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
โดย 1. นายภูมิธรรม เวชยชัย ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติและแนวทางร่างรัฐธรรมนูญ 2. นายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง 3. นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง 4. นายนิกร จำนง เป็นกรรมการและโฆษกคณะ 5. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 6. นายพิชิต ชื่นบาน เป็นตัวแทนที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 7. พล.อ.ชัชวาลย์ ขำเกษม 8. พล.ต.อ. สุเทพ เดชรักษา 9. พล.ต.อ.วินัย ทองสอง 10. นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ 11. นายศุภชัย ใจสมุทร 12. นายวิรัตน์ วรศสิริน 13. นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท 14. นายวิเชียร ชุบไธสง 15 นายวัฒนา เตียงกูล 16. นายยุทธพร อิสรชัย 17. นายไพบูลย์ นิติตะวัน 18. นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย 19. นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา 20. นายประวิช รัตนเพียร 21. นายนพดล ปัทมะ 22. นายธนกร วังบุญคงชนะ 23. นายธงชัย ไวยบุญญา 24. นายเทวัญ ลิปตพัลลภ 25. นายเดชอิศม์ ขาวทอง 26. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ 27. นายชาติพงษ์ จีระพันธุ 28. นายชนะโรจน์ เทียนธนะวัฒน์ 29. นางสิริพรรณ นกสวนสวัสดี 30. น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ 31. นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ 32. ผู้แทนพรรคก้าวไกล 33. ปลัดสำนักนายกฯ เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ 34. นายนพดล เภรีฤกษ์ รองเลขาธิการกฤษฎีกา 33. นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกฯ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
ต่อประเด็นเรื่อง Digital Wallet กระทรวงการคลัง เสนอเรื่องต่อ ครม. แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่ง กค. ได้หารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ธนาคารแห่งประเทศไทย และมีข้อสรุป ถึงความสำคัญของโครงการ ใช้งบประมาณจำนวนมาก ต้องมีความละเอียดรอบคอบ ซึ่งคณะกรรมการเมื่อพิจารณารายชื่อแล้วถือเป็น คกก. ที่มีองค์ประกอบชุดใหญ่ เหมือนเป็น ครม. ย่อยๆ โดย นรม. เป็นประธาน และมีรองประธาน 4 คน ได้แก่ รอง นรม./รมว.พณ รองนรม./รมว.กต. รอง นรม./รมว.มท. และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ซึ่งจะเห็นได้ว่าองค์ประกอบครอบคลุมทุกกลไกที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมี รมช.กค. ทั้ง 2 คน เป็น คกก. รวมถึงปลัด DES ปลัด มท. ปลัด กค. เป็นเลขานุการ รวมทั้งมี ผู้ว่า ธปท. เลขา สศช. ผอ.สงป. กฤษฎีกา อัยการสูงสุด ผู้อำนวยการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมต้นน้ำปลายน้ำ แนวนโยบาย กลไกต่าง ๆ รวมถึงงบประมาณที่ได้ริเริ่ม ติดตามตรวจสอบ การทุจริต รวมทั้งสรุปผลว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ เพื่อรายงาน ครม. เพื่อให้รับทราบต่อไป
ขณะนี้มีการนัดหมายการประชุม คกก. นัดแรกภายในสัปดาห์นี้ การประชุมนัดแรกนี้จะมีการหารือเรื่องการจัดตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน รวบรวมประเด็นรายละเอียดนำเสนอชุดใหญ่ ซึ่งอนุฯขับเคลื่อนจะมี รมช.จุลพันธ์ เป็นประธาน และมี นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.กค. ซึ่งจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบาย ทั้งนี้ เข้าใจดีถึงคำถามจากสื่อมวลชนที่จะเกิดขึ้น ขอรอเวลาให้แต่งตั้งคณะอนุชุดเล็ก และเสนอเข้าชุดใหญ่ก่อน คาดว่าไม่น่าจะเกิน 1 ถึง 2 สัปดาห์ และจะได้มาชี้แจงและลงรายละเอียดให้พี่น้องสื่อมวลชนได้ทราบต่อไป