In News
นายกฯมอบ'แพทองธาร'นั่งเป็นประธาน ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ลุยช่วงไฮซีซัน
กรุงเทพฯ-นายกฯ ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาตินัดแรก มอบ “แพทองธาร” เป็นประธานเดินหน้าขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ กำชับหน่วยงานรัฐและเอกชน เตรียมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงไฮซีซัน ระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค.นี้
วันนี้ (3 ตุลาคม 2566) เวลา 15.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยมีคณะกรรมการฯ ผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนภาคเอกชนเข้าร่วมประชุม
ภายหลังการประชุมฯ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความดีใจที่เห็นรอยยิ้มของผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการทำงาน พร้อมกล่าวขอบคุณสำหรับรอยยิ้มและการต้อนรับอย่างอบอุ่น นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการหารือระหว่างส่วนราชการ ภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อน Soft power ประเทศไทยอย่างบูรณาการ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญกับการส่งเสริม Soft power ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นว่าเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อีกทั้ง เป็นการส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทยในเวทีโลก รัฐบาลจึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ประเทศไทย โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนโครงการ แผนงาน และมาตรการต่าง ๆ ที่มีผลกระทบสูง ผ่านคอนเทนต์ 11 อุตสาหกรรม Soft power เป้าหมายของประเทศไทย โดยจะต้องเพิ่มความเข้มข้นในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมในทุกสาขาที่เกี่ยวข้อง
ทางด้าน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า ได้จัดทำแผนผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย โดยจะเร่งขับเคลื่อน 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ หรือ One Family One Soft Power (OFOS) และ Thailand Creative Content Agency (THACCA) มีเป้าหมายยกระดับทักษะคนไทยจำนวน 20 ล้านคน สู่การเป็นแรงงานทักษะขั้นสูงและแรงงานสร้างสรรค์ และจะสามารถสร้างรายได้อย่างน้อย 4 ล้านล้านบาทต่อปี สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านชอฟต์พาวเวอร์ของโลก
สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายตามตามนโยบาย OFOS และ THACCA ได้แบ่งขั้นตอนการดำเนินการเป็น 3 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 การพัฒนาคนผ่านกระบวนการส่งเสริมบ่มเพาะศักยภาพ โดยจะเฟ้นหาคนที่มีความฝันและอยากทำความฝันนั้นให้เป็นจริง ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ จำนวน 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครัวเรือน โดยให้แจ้งลงทะเบียนกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อบ่มเพาะผ่านศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ ทั้งด้านทำอาหาร ฝึกมวยไทย วาดภาพศิลปะ ฝึกการแสดง ร้องเพลง ออกแบบ แฟชั่น ฝึกแข่ง e-sport และอื่น ๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ขั้นที่ 2 การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์สาขาต่าง ๆ ภายในประเทศ 11 สาขา ได้แก่ อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบและแฟชั่น กำหนดให้เป็นหน้าที่ขององค์กร THACCA ที่จะถูกจัดตั้งขึ้นในอนาคต โดยจะดำเนินการปรับแก้กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สร้าง One Stop Service อำนวยความสะดวกในการดำเนินการของอุตสาหกรรมชอฟต์พาวเวอร์ต่าง ๆ พร้อมกับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยและพัฒนา การสร้างแรงจูงใจด้านภาษี การทลายกรอบบรรทัดฐานเดิมเพื่อให้เสรีภาพแก่ความคิดสร้างสรรค์ เปิดพื้นที่สาธารณะให้มากขึ้น ให้ทุกคนสามารถแสดงผลงานได้อย่างไร้ขีดจำกัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งจะมีการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบหรือ TCDC ในทุกจังหวัด มีการเพิ่มพื้นที่สำหรับ Co-Working Space ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ การพบปะกันเพื่อริเริ่มไอเดียสร้างสรรค์ และต่อยอดกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์อย่างมั่นคงตั้งแต่ระดับภูมิภาค ไปจนถึงระดับประเทศ
ขั้นที่ 3 การนำอุตสาหกรรมชอฟต์พาวเวอร์รุกสู่เวทีโลก จะเดินหน้าผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศสู่ระดับสากลด้วยการทูตเชิงวัฒนธรรม หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ จะร่วมมือกับภาคเอกชนนำซอฟต์พาวเวอร์ของไทยเผยแพร่สู่ตลาดโลกผ่านยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนด้วยการวิจัยข้อมูลเชิงพฤติกรรม กลยุทธ์การสื่อสาร และการร่วมจัดกิจกรรมในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งสามารถทำได้ทั้งที่เป็นกิจกรรมระดับโลกซึ่งจัดภายในประเทศ และการนำซอฟต์พาวเวอร์ศักยภาพสูงเข้าร่วมกิจกรรมระดับโลกในต่างประเทศ
“นับจากวันนี้ รัฐบาลได้เริ่มนับหนึ่งการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศแล้ว และได้กำหนดเป้าหมายระยะสั้นและกลาง คือ ภายใน 100 วัน หรือ 11 ม.ค. 2567 กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจะพร้อมให้ประชาชนลงทะเบียนแสดงความสนใจเข้ารับการบ่มเพาะ จะมีการปรับปรุงศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ พร้อมกับการปรับเปลี่ยนกฎหมายบางส่วนในระดับกฎกระทรวงหรือพระราชกฤษฎีกา ให้ส่งเสริมและสอดรับการดำเนินงานตามนโยบาย และจะร่วมจัด Winter Festival เทศกาลฤดูหนาวกับกรุงเทพมหานครอย่างยิ่งใหญ่ และภายใน 6 เดือน หรือภายในวันที่ 3 เม.ย. 2567 จะเริ่มต้นกระบวนการบ่มเพาะศักยภาพคนผ่านศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ พร้อมเสนอร่างพระราชบัญญัติ THACCA เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จะมีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ทั้งประเทศให้เป็นเทศกาลระดับโลก หรือ World Water Festival และจัดงานซอฟต์พาวเวอร์ฟอรัมนานาชาติ เพื่อระดมความคิดสร้างสรรค์ของคน ในวงการซอฟต์พาวเวอร์ทั้งระดับประเทศและระดับโลก จากนั้นภายใน 1 ปี หรือวันที่ 3 ต.ค.2567 กระบวนการบ่มเพาะศักยภาพคน จะสามารถสร้างแรงงานทักษะสูงและแรงงานสร้างสรรค์ ได้จำนวนอย่างน้อย 1 ล้านคน และคาดว่าร่างพระราชบัญญัติ THACCA จะได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาต่อไป รวมไปถึงการส่งเสริมการจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติและเทศกาลดนตรีนานาชาติ สนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในสาขาต่าง ๆ ไปร่วมงานในระดับโลก” น.ส.แพทองธารกล่าว
นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า ในช่วง ต.ค.-ธ.ค. ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซัน คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะใกล้ อาทิ จีน มาเลเซีย และอินเดีย และตลาดระยะไกล อาทิ รัสเซีย คาซัคสถาน และกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งรัฐบาลได้มีการกระตุ้นการท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มประเทศเป้าหมายเฉพาะไว้แล้ว ขอให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เร่งเตรียมจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงกีฬาอย่างมวยไทย และเทศกาลภาพยนตร์ ดนตรี และอาหาร เป็นต้น