In Bangkok
17ต.ค.นี้นัดลงนามเครือข่ายสาธารณสุข ทั่วกทม.จับมือทำงานร่วมกันไร้รอยต่อ
กรุงเทพฯ-(3 ต.ค.66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารระบบสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ณ ห้องประชุมแพทยพัฒน์ ชั้น 5 สำนักการแพทย์ และผ่านระบบออนไลน์
เนื่องจาก 1 ปีที่ผ่านมาหลังการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้านการแพทย์และสาธารณสุขมีความก้าวหน้าหลายด้าน และเพื่อเป็นการเดินหน้าดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย สำนักงานเขตพื้นที่ สถานพยาบาลรัฐ สถานพยาบาลเอกชน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเครือข่ายภาคประชาชนกรุงเทพมหานคร จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร รวม 7 คณะ เพื่อให้มีการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขกรุงเทพมหานครอย่างมีประสิทธิภาพ ขับเคลื่อนบูรณาการระบบสาธารณสุข (Bangkok Health Zoning) พัฒนาระบบบริการเครือข่ายสาธารณสุขสู่เส้นเลือดฝอย พัฒนามาตรฐานระบบเครือข่ายสุขภาพ (Healthcare Network System Standard) ยกระดับคุณภาพชีวิตและเวชศาสตร์เขตเมือง (Service Plan Zoning) และพัฒนาข้อมูลสุขภาพดิจิทัลกรุงเทพมหานคร (Health Data Center)
ซึ่งบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการฯ คือให้คำแนะนำการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพดีในทุกมิติ ในการดำเนินการด้านการแพทย์และสาธารณสุขวางแผนขับเคลื่อน ให้ข้อเสนอแนะ และติดตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผ่านคณะกรรมการบูรณาการระบบสุขภาพ คณะกรรมการพัฒนามาตรฐานระบบเครือข่ายสุขภาพ คณะกรรมการยกระดับคุณภาพชีวิตและเวชศาสตร์เขตเมือง คณะกรรมการข้อมูลดิจิทัลกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการ Bangkok Health Zoning และคณะกรรมการทีมประสานบูรณาการขับเคลื่อนเร็ว (Ad hoc Team) เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ประสานขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมการดำเนินงานระหว่างหน่วยงาน โดยภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง คือหน่วยงานด้านสาธารณสุขและสังกัดอื่นๆ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย สมัชชาสุขภาพ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สถาบันรองรับคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหมโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงมหาดไทย โรงพยาบาลระดับโรงเรียนแพทย์ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลเอกชน คลินิกอบอุ่น และภาคประชาชนอย่างสร้างสรรค์ส่งเสริมและสร้างนโยบายการมีส่วนร่วมและและพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ และโรงพยาบาลระดับโรงเรียนแพทย์ สร้างระบบที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายไร้รอยต่อเพื่อผลักดันสู่นโยบายสู่ระบบบริการที่เข้าถึงง่าย และมีบริการเชิงรุกสู่ระดับเส้นเลือดฝอยบนข้อจำกัดของทรัพยากร อีกทั้งวิเคราะห์สถานการณ์ และสภาพปัญหาการดำเนินงาน เพื่อสนับสนุนพัฒนากลไกการขับเคลื่อน และการประสานเชื่อมโยงเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ความก้าวหน้าในเรื่องสาธารณสุขด้านความร่วมมือกับเครือข่าย กทม. กำหนดการลงนามความร่วมมือ Memorandum of Understanding (MOU) ระหว่างสภาเภสัชกรรม กรุงเทพมหานคร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ มูลนิธิเภสัชกรรมชุมชน ในวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ณ สภาเภสัชกรรม
นอกจากนี้ที่ประชุมได้เสนอเรื่องเพื่อพิจารณานโยบายสาธารณสุข ปี พ.ศ.2567 ได้แก่ นโยบายกระทรวงสาธารณสุข เขต 13 กทม. 50 โรงพยาบาล 50 เขต นโยบายกรมสนับสนุนบริการ กระทรวงสาธารณสุข 250 สถานชีวาภิบาล 50 เขต นโยบายกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งล้วนเป็นนโยบายที่จะบูรณาการทำงานร่วมกันกับเครือข่ายและยกระดับบริการสาธารณสุขในกทม.