In Bangkok

ประเพณีงานเจเยาวราช2566 ชูแนวคิด 'ใจบริสุทธิ์ สุขภาพดี มีมงคล'



กรุงเทพฯ-ประเพณีงานเจ เยาวราช 2566 ชูแนวคิด “ใจบริสุทธิ์ สุขภาพดี มีมงคล” ชวนสืบสานงานบุญ สร้างกุศลครั้งใหญ่แห่งปี 14–23 ตุลาคม นี้

(6 ต.ค. 66) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายวัลลภ เกียรติวรศรีกุล ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ นายประสิทธิ์ องค์วัฒนา ประธานจัดงาน “ประเพณีงานเจ เยาวราช 2566” และประธานสภาวัฒนธรรมเขตสัมพันธวงศ์ และพ.ต.อ.วุฒิชัย ไทยวัฒน์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 ร่วมแถลงข่าว “ประเพณีงานเจ เยาวราช 2566” ณ ห้องบอลรูม ชั้น 10 โรงแรมแกรนด์ ไชน่า เยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ โดยมี นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายพินิจ กาญจนชูศักดิ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์ ผู้บริหารสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการจัดประเพณีงานเจ เยาวราช 2566 และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นเกียรติในงานแถลงข่าว

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า  ทุกเทศกาลที่เป็นวัฒนธรรมนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นการส่งเสริมอัตลักษณ์และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ สำหรับประเพณีงานเจ เยาวราช ก็ถือเป็นประเพณีประจำปีที่สำคัญ เพราะเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายเพื่อจัดเทศกาลงานบุญให้เกิดขึ้น ตลอดจนเป็นการส่งเสริมกิจกรรมของชุมชนให้เข้มแข็ง และยังเป็นการอนุรักษ์ความดีงามเหล่านี้ให้เยาวชนรุ่นหลังได้ร่วมกันสืบทอดต่อไป

“กรุงเทพมหานครมีนโยบายในการยกระดับสตรีทฟู้ดและผลักดันให้อาหารมีความสะอาดถูกหลักอนามัย ซึ่งงานเจปีนี้เราคงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของสตรีทฟู้ดเยาวราชอย่างแน่นอน สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่เสียสละเวลา กำลังกาย กำลังใจ ช่วยกันจัดงานเจเยาวราชนี้ให้เกิดขึ้น” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว

ประธานจัดงานและประธานสภาวัฒนธรรมเขตสัมพันธวงศ์ เปิดเผยว่า  งานเจ เยาวราช เป็นประเพณีสำคัญประจำปีที่เกิดจากแรงบันดาลใจและความศรัทธาของคนไทยเชื้อสายจีนในย่านเยาวราชที่ได้ร่วมสืบทอดกันมาหลายยุคหลายสมัย ด้วยการงดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ สร้างกุศล เจริญศีลภาวนา แผ่เมตตาให้สรรพสิ่งทั้งปวง และสร้างเสริมสุขภาพ ถือเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่เกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งพ่อค้า ประชาชน ชุมชน ผู้ประกอบการภัตตาคาร ร้านอาหาร และกลุ่มผู้ร่วมสนับสนุนการจัดงานเป็นประจำทุกปี กลายเป็นเอกลักษณ์ของเทศกาลงานเจในกรุงเทพฯ ที่มีผู้ถือศีลกินเจทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อความเป็นสิริมงคลเป็นจำนวนมาก 

สำหรับ “ประเพณีงานเจ เยาวราช 2566” จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 14–23 ตุลาคม 2566 ณ บริเวณซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา ถนนเยาวราช ภายใต้แนวคิด “ใจบริสุทธิ์ สุขภาพดี มีมงคล” เพื่อให้ประชาชนได้สักการะและขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วทั้งเยาวราชที่อัญเชิญมาไว้ในมณฑลพิธี รักษาและดำรงไว้ซึ่งประเพณีถือศีลกินเจเยาวราชที่จัดขึ้นอย่างสมเกียรติและยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี ตลอดจนเพื่อให้ประชาชนได้รับประทานอาหารเจที่สะอาด ถูกหลักอนามัยและปลอดภัย โดยการจัดงานแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ งานด้านพิธีกรรม และงานด้านพิธีการ

● งานด้านพิธีกรรม ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่

1. มงคลสถาน: ใช้พื้นที่บริเวณซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เยาวราช ซึ่งเป็นมณฑลพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเยาวราชให้ความเคารพและเคยต้อนรับเจ้าฟ้ามหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์มาโดยตลอด เป็นพื้นที่มณฑลพิธีอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับประเพณีงานเจปีนี้

2. ตำนาน 22 ศาลเจ้า: ในแต่ละปีมีประชาชนจากทั่วทุกมุมโลกมากราบไหว้ขอพรที่ศาลเจ้าต่าง ๆ ทั้ง 22 ศาลเจ้าในเยาวราช และใน 1 ปี จะมีการรวมผงธูปเพื่อเป็นมวลสาระสำคัญในการประกอบพิธี โดยปีนี้จะมีพิธีรวมผงธูปจาก 22 ศาลเจ้า และจะอัญเชิญผงธูปมวลสารมาประดิษฐานที่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เยาวราช ตลอดงานกินเจ 10 วัน ซึ่งเปรียบเสมือนกับการรวมใจเป็นหนึ่งเดียว สามัคคีกลมเกลียวเป็นปึกแผ่น 

3. จิตแห่งศรัทธา: คณะกรรมการจะทำพิธีแห่อัญเชิญเทพเจ้าของการกินเจ “กิวอ๋อง ฮุกโจ้ว เต้าบ้อเนี้ย น่ำซิ้ง ปั๊กเต้าแชกุง” ทั้ง 12 องค์บนเกี้ยว โดยมีทหารจากกรมกิจการพลเรือนทหารบก กองบัญชาการทหารบก ซึ่งผ่านพิธีปวารณาตนถือศีลกินเจมาแล้วทั้งหมด ทำหน้าที่ในการแบกและแห่ จากวัดโลกานุเคราะห์มาประดิษฐานที่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เยาวราช ตลอดงานกินเจ 10 วัน เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชา 

● งานด้านพิธีการ 

คณะกรรมการได้จัดให้มีการทำอาหารเจมงคลกระทะใหญ่ “ผัดหมี่สวรรค์ ธัญพืชมงคล” โดยเชฟจากโรงแรมแกรนด์ ไชน่า เยาวราช มาเป็นมาสเตอร์เชฟในการปรุงอาหาร พร้อมแจกฟรีให้ผู้ร่วมงาน จำนวน 1,000 จาน ในพิธีเปิดงานวันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม 2566

รวมถึงได้จัดทำ “ขนมฮ๊วกก๊วย” ขนมมงคลที่ผ่านพิธีกรรมการบูชาเทพเจ้ามาแล้ว มาเป็นส่วนผสมในอาหารเจมงคลกระทะใหญ่ด้วย โดยบนขนมฮ๊วกก๊วยจะมีการประทับอักษรเจมงคล 4 ตัว ได้แก่ “กิ้ว อ๋อง เซ้ง อ้วย” โดย กิ้ว 九 หมายถึง เก้า 9 อ๋อง 皇 หมายถึง อ๋อง หรือกษัตริย์ เซ้ง 勝 หมายถึง ความสำเร็จ และ อ้วย 會 หมายถึง มวลมหาสมาคม ซึ่งหมายความว่า กษัตริย์หรือเทพเจ้าทั้ง 9 พระองค์ ได้ประธานความสำเร็จให้กับมวลมหาสมาคม ณ ที่แห่งนี้

ในวันเดียวกัน จะมีขบวนแห่รถบุปผชาติองค์สมมติพระโพธิสัตว์กวนอิมที่ยิ่งใหญ่และสวยงาม การแสดงโชว์เชิดมังกรปีนเสา ล่อแก้ว พ่นไฟ และสิงโตต่อตัวตีลังกา ขบวนเทิดพระเกียรติ ขบวนจากผู้สนับสนุน และขบวนอื่น ๆ อีกมากมาย รวมทั้งการจำหน่ายอาหารเจคุณภาพเลิศรสจากผู้ประกอบการกว่า 150 ร้านค้า เรียงรายเต็มพื้นที่ 2 ฟากฝั่งถนนเยาวราช ตลอดระยะเวลา 10 วัน 10 คืน พร้อมยกระดับมาตรฐานอาหารเจแบบสตรีทฟู้ดสู่สากล

“ชาวไทยเชื้อสายจีนในย่านเยาวราชได้ส่งต่อแรงศรัทธาจากรุ่นสู่รุ่น และพร้อมใจร่วมกันสืบสานการจัดงานประเพณีงานเจ เยาวราช 2566 ให้ยิ่งใหญ่ระดับเวิลด์คลาส และเป็น Soft Power ให้ผู้คนทั่วโลกได้เห็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของเยาวราช ท่ามกลางสีสันบรรยากาศวัฒนธรรมจีนร่วมสมัย และพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ โอกาสนี้ จึงขอเชิญชวนคนไทยทุกท่านได้ร่วมถือศีลกินเจ สักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วทั้งเยาวราชที่อัญเชิญมาไว้ ณ บริเวณซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เยาวราช และเลือกซื้ออาหารเจคุณภาพในรูปแบบสตรีทฟู้ดรสชาติอร่อยและสะอาดตามมาตรฐานสุขอนามัย ระหว่างวันที่ 14–23 ตุลาคม 2566 โดยต้องขอขอบคุณการสนับสนุนจากสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย 1 สถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย 2 และสถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิ ที่เตรียมจัดกำลังพลไว้ประจำจุดต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจรและดูแลความเรียบร้อยภายในงาน รวมถึงเส้นทางถนนเยาวราช ตลอดการจัดงานในครั้งนี้ด้วย” ประธานจัดงานฯ กล่าวในตอนท้าย

ในส่วนของกำหนดการขบวนแห่ประเพณีงานเจ เยาวราช 2566 มีดังนี้

    * วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2566 เวลา 14.00 – 16.00 น. พิธีแห่อัญเชิญเทพเจ้า “กิวอ๋อง ฮุกโจ้ว เต้าบ้อเนี้ย น่ำซิ้ง ปั๊กเต้าแชกุง” บนเกี้ยว ตั้งแต่วัดโลกานุเคราะห์ ไปประดิษฐานที่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เยาวราช

    * วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม 2566 เวลา 18.00 – 20.00 น. ขบวนแห่รถบุปผชาติองค์สมมุติพระโพธิสัตว์กวนอิม ขบวนสิงโต มังกร ขบวนเทิดพระเกียรติ ขบวนจากผู้สนับสนุนที่พร้อมใจกันพาเหรดเพื่อประเพณีงานเจ เยาวราช 2566 ตั้งแต่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เยาวราช – ถนนเยาวราช – แยกราชวงศ์ – แยกเสือป่า – ถนนเจริญกรุง และสิ้นสุดที่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เยาวราช

    * วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2566 เวลา 14.00 – 20.00 น. ขบวนแห่กระทงสะเดาะเคราะห์ ตั้งแต่วัดโลกานุเคราะห์ – แยกราชวงศ์ – แยกเสือป่า – ถนนเจริญกรุง – ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เยาวราช – ถนนเยาวราช – ถนนมังกร – ถนนทรงวาด – ท่าน้ำสวัสดี / ถนนตรีมิตร – ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เยาวราช – ถนนเยาวราช – แยกราชวงศ์ และสิ้นสุดที่วัดโลกานุเคราะห์

    * วันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม 2566 เวลา 21.00 – 22.00 น. พิธีแห่อัญเชิญเทพเจ้า “กิวอ๋อง ฮุกโจ้ว เต้าบ้อเนี้ย น่ำซิ้ง ปั๊กเต้าแชกุง” บนเกี้ยวกลับ ตั้งแต่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เยาวราช และสิ้นสุดที่วัดโลกานุเคราะห์
—————————