In Bangkok

ผู้ว่าฯติดตามสถานการณ์โรคติดต่อกทม. ภาพรวมตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง



กรุงเทพฯ-(6 ต.ค.66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 โดยมี รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพหมานคร นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้แจ้งที่ประชุมว่า เนื่องจากคณะกรรมการฯ ชุดเดิมได้หมดวาระดำรงตำแหน่งลงจึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการในคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครชุดใหม่ขึ้น และวันนี้เป็นการประชุมติดตามสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ ที่มีการระบาดเพิ่มขึ้นสูงในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อเป็นการนำข้อมูลเรียนคณะกรรมการฯ ทราบ

ด้านรองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า สำหรับการประชุมวันนี้เป็นการติดตามโรคที่มีผู้ติดเชื้อค่อนข้างเยอะ ได้แก่ COVID-19 ฝีดาษลิง ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย ชิคุนกุนยา ไวรัสซิกา ไข้หวัดใหญ่ ไวรัสเอชพีวีและโรคพิษสุนัขบ้า สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง ไม่น่ากังวลแต่ยังเปิดให้บริการสามารถเข้ามาฉีดวัคซีนป้องกันได้ รวมถึงสถานการณ์โรคฝีดาษลิง ผู้ติดเชื้อก็ลดลงจาก 2 เดือนที่แล้ว แต่ก็ยังคงเตือนให้ระวังในกลุ่มเสี่ยงบางกลุ่ม ผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็ระมัดระวังตัวขึ้น ในขณะเดียวกันสถานที่ต่างๆ ก็มีการทำความสะอาดดีขึ้น ด้านโรคไข้เลือดออกโดยสถิติเห็นสัญญาณมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จึงมีความเป็นได้ว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน จากนั้นได้เฝ้าระวังทำให้พบว่าตัวเลขสูงขึ้น และกำหนดมาตรการเชิงรุก เช่น การฉีดยุง กำจัดลูกน้ำยุงลายตามแหล่งเพาะพันธุ์ และประชาสัมพันธ์เรื่องการเฝ้าระวังอาการ ขณะนี้ตัวเลขผู้ป่วยลดลง แต่ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์เช่นกัน เนื่องจากช่วงเวลานี้ยังคงมีฝนตกอยู่ตลอด และมีบางเขตที่ยังคงมีการระบาดมากอยู่ สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสูงมากถึง 2 เท่าของค่ามัธยฐานเมื่อเทียบจากปีที่ยังไม่มีการใส่หน้ากากอนามัย สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะผลิตเป็นล็อตในแต่ละปี ของกทม. หลังได้รับการจัดสรรมาก็ฉีดไปกว่า 95% แล้ว โดยเฉพาะ 7 กลุ่มเสี่ยงได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี ผู้มีโรคเรื้อรัง ดังนี้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) โรคอ้วน (น้ำหนัก> 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ แต่ตัวเลขก็ยังมีจำนวนมากอยู่ วันนี้จึงประชุมเพื่อหาแนวทางว่าจะดำเนินการอย่างไรที่ทำให้สามารถจัดสรรวัคซีนได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สามารถฉีดได้มากขึ้นในปีต่อไป และจากข้อมูลในปีนี้มีผู้ป่วยในกลุ่มเด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา (ป.1-ป.3) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่ได้มีอาการรุนแรงแต่อาจนำเชื้อไปแพร่สู่กลุ่มเสี่ยงที่บ้าน ดังนั้นกทม.คาดว่าในปีหน้าจะทำการฉีดเพิ่มขึ้นในกลุ่มนี้

สำหรับมาตรการป้องกันไวรัสเอชพีวีที่เป็นสาเหตุมะเร็งปากมดลูก โดยปกติกทม. มีการวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ให้กับเด็กชั้นป.5 อยู่แล้วทุกปี ยอดการฉีดกว่า 90% อีกทั้งตามนโยบายรัฐบาลต้องการเพิ่มกลุ่มเป้าหมายในการฉีดวัคซีน ดังนั้นก็จะมีการจัดสรรวัคซีนเพิ่มขึ้นเพื่อให้ครอบคลุม

สำหรับการประชุมในวันนี้ที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ COVID-19 ฝีดาษลิง ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย ชิคุนกุนยา ไวรัสซิกา ไข้หวัดใหญ่ ไวรัสเอชพีวีและโรคพิษสุนัขบ้า โดยสถานการณ์โรคต่างๆ มีจำนวนตัวเลขผู้ป่วยลดลง แต่ยังคงมีการติดตามและเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น อีกทั้งพิจารณาเรื่องการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยที่ประชุมให้สำนักอนามัยนำข้อคิดเห็นจากคณะกรรมการฯ เพื่อนำไปพิจารณาถึงความเหมาะสม และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด อีกทั้งเห็นชอบให้สำนักอนามัยเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวีในกลุ่มเป้าหมายนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (หรืออายุ 11 - 20 ปี) ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข และเห็นชอบให้ผลักดันการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ตามโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี