In Bangkok

รร.กทม.วางระบบดูแลติดตามพฤติกรรม นักเรียน-เสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อ



กรุงเทพฯ-นางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม.กล่าวถึงแนวทางการติดตามดูแลความประพฤติของเด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.โดยเฉพาะกลุ่มเด็กนักเรียนที่มีแนวโน้มใช้ความรุนแรงเป็นพิเศษว่า โรงเรียนสังกัด กทม.มีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ให้ความรู้ ให้คำแนะนำแก่นักเรียนทั้งในกิจกรรมเคารพธงชาติตอนเช้า ชั่วโมงแนะแนว พร้อมทั้งติดต่อประสานกับผู้ปกครองโดยจัดประชุมผู้ปกครองและติดต่อผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ขณะเดียวกันในทุกต้นปีการศึกษา ครูประจำชั้นจะจัดทำข้อมูลประวัตินักเรียนเพื่อเป็นข้อมูลนักเรียนต่อเนื่อง ครูทุกคนสามารถทราบถึงประวัติและพฤติกรรมนักเรียนในระหว่างภาคเรียนผู้บริหารโรงเรียนและครูจะออกเยี่ยมบ้านนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนที่มีปัญหา มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ขาดเรียนมาก ก้าวร้าว และจะแก้ปัญหาโดยจัดกิจกรรมที่นักเรียนสนใจ เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ เพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาสแสดงออกและให้ความเอาใจใส่อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน กทม.ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ สร้างความเข้าใจให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.เกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อ การใช้ประโยชน์สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) อย่างเหมาะสม สร้างสรรค์และปลอดภัยและมีวิจารณญาณอย่างต่อเนื่อง โรงเรียนสามารถประยุกต์ใช้ในหลักสูตรวิชาวิทยาการคำนวณ รวมกิจกรรมนอกเวลาได้อย่างเหมาะสม ดังนี้ (1) เรื่องการจัดการควบคุมอารมณ์ตนเอง โดย กทม.ร่วมกับกรมสุขภาพจิต และบริษัทโทรีเซนไทยเอเยนต์ซี่ส์ จำกัด พัฒนาแอปพลิเคชัน“BuddyThai”เพื่อประเมินอารมณ์ตนเอง มีช่องทางให้คำปรึกษากับกรมสุขภาพจิตได้ด้วยตนเอง เพื่อให้นักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.นำไปใช้ (2) การให้ความรู้เกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อและการใช้อย่างมีวิจารณญาณ โดยจัดกิจกรรม BMA x Teur Safe Internet (School Tour) ให้ความรู้เรื่องอินเทอร์เน็ตปลอดภัยภายในโรงเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 5-6 และจัดกิจกรรมโต้วาที “ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา” สำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษาและจะนำหลักสูตรรู้เท่าทันออนไลน์ให้โรงเรียนนำไปใช้ (TRUE&DTAC) รวมทั้งแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ “อุ่นใจไซเบอร์”(ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กรมสุขภาพจิตและ AIS) แพลตฟอร์มการเรียนรู้ในลักษณะเกมออนไลน์ be internet awesome (Google) และคลิปการเรียนรู้การรู้เท่าทันสื่อ (ตำรวจไชเบอร์)