In Bangkok
กทม.จับมือCRAESหาต้นตอฝุ่นPM2.5 กำหนดแนวทางป้องกัน/แก้ไขปัญหา
กรุงเทพฯ-(9 ต.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับ ศาสตราจารย์สวี ฉีกง (Prof. Xu Qigong) รองประธานสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจีน (Vice President of Chinese Research Academy of Environmental Sciences : CRAES) นางสาวจาง เมิ่งเหิง (Ms. Zhang Mengheng) ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศ (Director of International Cooperation Center) CRAES และคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อรับฟังวิสัยทัศน์และแนวทางการรับมือกับความท้าทายของการพัฒนาที่ยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร และแสวงหาความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมกับกรุงเทพมหานคร รวมทั้งความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสำนักงาน CRAES ในประเทศไทย ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
ด้านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีปัญหาจำนวนมากที่ต้องการวิเคราะห์จากภาคเอกชนเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหา ปัญหาหลักของกรุงเทพมหานคร คือ คุณภาพอากาศ ทั้งนี้ ในอีกไม่กี่เดือนจะมีฝุ่น PM2.5 ซึ่งเรื่องนี้เป็นวาระระดับชาติ ไม่ใช่แค่กรุงเทพมหานคร โดยฝุ่น PM2.5 มาจากรถยนต์ การเผา และอื่น ๆ ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร พยายามหาต้นตอของฝุ่น PM2.5 แต่ยังไม่รู้ว่ามาจากไหนกันแน่ จึงต้องการงานวิจัยที่จริงจัง ต้องมีการวิเคราะห์ก่อน งานของสถาบันฯ ที่มีกับแต่ละประเทศมีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน กรุงเทพมหานครต้องการความรู้ที่ดี เป็นขั้นตอนที่ดีในการเข้าใจว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 มาจากไหน ซึ่งยังไม่มีใครศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งนี้ ทาง CRAES มีประสบการณ์ที่ดีในการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ กรุงเทพมหานครจึงอยากร่วมมือกับทางสถาบันฯ เพื่อให้เข้ามาวิจัยต้นตอปัญหาคุณภาพอากาศ โดยมุ่งเน้นหาต้นตอของฝุ่น PM2.5 ว่ามาจากที่ไหนกันแน่
ทั้งนี้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจีน มีกำหนดการเยือนประเทศไทย เพื่อต้องการแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ในการส่งเสริมการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยจะพบปะหน่วยงานหรือสถาบันที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อม รวมกรุงเทพมหานคร เพื่อแสวงหาความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมกับหน่วยงานเหล่านั้น และยังได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสาขาของ CRAES ในประเทศไทย เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักรู้ว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาร่วมกันของเรา โดยสถาบันวิจัยฯ มีการวิจัยและร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนในทวีปเอเชียในด้านการควบคุมมลพิษ การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการนิเวศวิทยา การลดการปล่อยมลพิษจากยานพาหนะ หรือด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ซึ่งการมาเยือนกรุงเทพมหานครครั้งนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะร่วมมือกับท้องถิ่นเพื่อแสวงหาแนวทางพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนได้สำเร็จ