In News

ครม.อนุมัติข้อตกลงแก้ไขพิธีสารกับจีน 3เรื่อง'กักกันสัตว์ปีก-น้ำผึ้ง-ผลเสาวรส'



กรุงเทพฯ-ครม.เห็นชอบการลงนามความตกลงเพื่อแก้ไขพิธีสารระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยกับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบ การกักกัน และสุขอนามัยทางสัตวแพทย์ เพื่อการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็งและชิ้นส่วนสัตว์ปีก นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบการลงนามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยอาหาร ด้านการสัตวแพทย์ และการปกป้องพืชเพื่อการส่งออกผลิตภัณฑ์จากผึ้งจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน

(วันนี้ 10 ตุลาคม 2566) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ การลงนามความตกลงเพื่อแก้ไขพิธีสารระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยกับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบ การกักกัน และสุขอนามัยทางสัตวแพทย์ เพื่อการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็งและชิ้นส่วนสัตว์ปีกจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน

นายชัย กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ ได้ขอขยายขอบข่ายพิธีสารฯ โดยเพิ่มรายการผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนจากสัตว์ปีกเพื่อการบริโภค (รวมถึงอวัยวะภายใน) ที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน จำนวน 18 รายการ (เพิ่มรายการผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้เป็ดแช่แข็งเพื่อการบริโภค) ได้แก่ (1) ตีนเป็ด (2) ข้อปีกเป็ด (3) ปีกกลางเป็ด (4) ปลายปีกเป็ด (5) ปีกบนเป็ด (6) ตับเป็ด (7) คอเป็ด (8) กึ๋นเป็ด   (9) หัวใจเป็ด (10) ไตเป็ด (11) ลิ้นเป็ด (12) หัวเป็ด  (13) ปากเป็ด (14) กระดูกเป็ด (15) กระดูกอ่อนเป็ด  (16) เอ็นเป็ด (17) ไขมันเป็ด และ (18) หนังเป็ด ซึ่งสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเห็นชอบต่อการขอเพิ่มรายการผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้จัดทำความตกลงฯ เพื่อแก้ไขพิธีสารฯ ฉบับปี 2561 โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดภาคผนวก 2 ของพิธีสารฯ ขึ้นมาใหม่เพื่อใช้แทนภาคผนวก 2 เดิม แต่ยังคงรายการผลิตภัณฑ์ไก่แช่แข็งไว้เช่นเดิม

“การจัดทำความตกลงฯ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยทำให้สามารถส่งออกเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็งและชิ้นส่วนสัตว์ปีกจากประเทศไทยไปยังประเทศจีนได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการขยายตลาด และสร้างโอกาสการลงทุนทางการค้าจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ของไทยขยายตัวเพิ่มมากขึ้น” นายชัย ย้ำ

ครม.เห็นชอบการลงนามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยอาหาร ด้านการสัตวแพทย์ และการปกป้องพืชเพื่อการส่งออกผลิตภัณฑ์จากผึ้งจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน

นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยอาหารด้านการสัตวแพทย์ และการปกป้องพืช เพื่อการส่งออกผลิตภัณฑ์จากผึ้งจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน (ร่างพิธีสารฯ) รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในพิธีสารฯ ทั้งนี้ หากมีการปรับแก้ไขถ้อยคำในร่างพิธีสารฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญขอให้มอบหมายให้ผู้ลงนามเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนามดังกล่าวตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ

นายชัย กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ (กปศ.) ได้รับแจ้งจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง (สปษ. ปักกิ่ง) ว่า สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ได้จัดทำร่างพิธีสารฯ โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบ การกักกันความปลอดภัยอาหาร และสุขอนามัยทางสัตวแพทย์ เพื่อการส่งออกผลิตภัณฑ์จากผึ้งจากฝ่ายไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน (ฝ่ายจีน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์จากผึ้ง (น้ำผึ้ง นมผึ้ง และเกสรผึ้ง) ที่ส่งออกจากฝ่ายไทยไปยังฝ่ายจีน ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามพิธีสารดังกล่าวในเดือนตุลาคม 2566

ครม.เห็นชอบการจัดทำพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านมาตรการสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกผลเสาวรสสดและต้นสนใบพาย จากราชอาณาจักรไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน

และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอเห็นชอบร่างพิธีสาร จำนวน 2 เรื่อง ดังนี้ 1 ร่างพิธีสารว่าด้วยกำหนดด้านมาตรการสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกผลเสาวรสสดจากราชอาณาจักรไทย (ไทย) ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) ระหว่าง กษ. และสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน [General Administration of Customs of People’s Republic of China (GACC)] (ร่างพิธีสารผลเสาวรสสดฯ) 2. ร่างพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านมาตรการสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกต้นสนใบพายจากไทยไปยังจีนระหว่าง กษ. และ GACC (ร่างพิธีสารต้นสนใบพายฯ)

นายชัย กล่าวว่า หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้ส่วนราชการเจ้าของเรื่องดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในร่างพิธีสารผลเสาวรสสดฯ และร่างพิธีสารต้นสนใบพายฯ และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายสำหรับลงนามในร่างพิธีสารผลเสาวรสสดฯ และร่างพิธีสารต้นสนใบพายฯ ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามในร่างพิธีสารทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ในระหว่างการเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีช่วงกลางเดือนตุลาคม 2566 นี้

“การจัดทำร่างพิธีสารทั้ง 2 ฉบับ เป็นการกำหนดแนวทางการปฏิบัติสำหรับการส่งออกผลเสาวรสสดและต้นสน ใบพายไปยังจีนเพื่อให้เกษตรกรและผู้ส่งออกมีหลักปฏิบัติที่ชัดเจนในการดำเนินการและถือเป็นการสร้างความมั่นใจในคุณภาพของสินค้าไทยในตลาดจีน อีกทั้งยังเป็นการขยายโอกาสสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทยอีกด้วย โดยที่ผ่านมาไทยมีการส่งออกไม้ประดับไปยังจีนเป็นจำนวนมาก เช่น ต้นหน้าวัว ต้นชวนชม ต้นกระบองเพชร เป็นต้น แต่ต้นสนใบพายถือเป็นไม้ประดับชนิดแรกที่มีการจัดทำพิธีสารเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ด้านสุขอนามัยสำหรับพืช ในส่วนของการส่งออกผลไม้ไปยังจีนนั้น ที่ผ่านมาไทยมีการส่งออกผลไม้ที่สำคัญได้แก่ มะม่วง ลิ้นจี่ มังคุด ลำไย ทุเรียน ภายใต้บันทึกความเข้าใจร่วมกันด้านความร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2547 ส่วนการจัดทำพิธีสารเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ด้านสุขอนามัยสำหรับพืชในทำนองเดียวกันนี้ กษ. แจ้งว่า ที่ผ่านมามีเพียงชมพู่เท่านั้นที่ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558” นายชัย กล่าว