In Bangkok
ระบบเตือนภัยพิบัติ-เหตุฉุกเฉินของกทม. พร้อมใช้ในปีหน้า
กรุงเทพฯ-(10 ต.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักงานการต่างประเทศ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้การต้อนรับ Ms. Mami Mizutori ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติในด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ผู้อำนวยการสำนักงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for Disaster Risk Reduction) หรือ UNDRR และ Mr. Marco Toscano-Rivalta ผู้อำนวยการสำนักงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (UNDRR Regional Office for Asia and the Pacific) พร้อมด้วยผู้แทนจาก UNDRR เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดเห็น และหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับ UNDRR
โดยผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้กล่าวถึงเมืองแห่งความหยุ่นตัวในบริบทของกรุงเทพมหานคร ว่า คือความปลอดภัยในทุกมิติ โดยมองแบ่งออกเป็นในระดับใหญ่ คือระบบและการดำเนินการต่าง ๆ ของเมืองในการรับมือกับภัยพิบัติ ส่วนระดับเล็กๆ คือชีวิตความเป็นอยู่ของปัจเจกบุคคล ปัญหา Covid-19 ทำให้หลายคนประสบปัญหาในด้านต่าง ๆ บางคนกลายเป็นคนไร้บ้าน ซึ่งกรุงเทพมหานครต้องการช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้เขาสามารถกลับมามีชีวิตและสุขภาพที่ดี และสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้ในที่สุด เป็นหน้าที่ของ กทม. ในการสร้างสิ่งเหล่านี้ให้กับประชาชน
นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงโครงการ BKK Food Bank ระบบส่งต่ออาหารให้กับกลุ่มเปราะบาง ในบริบทของ กทม. วัดจะมีบทบาทมากในการสร้างความยืดหยุ่นเหล่านี้ เป็นการแจกอาหารส่วนเกินจากการทำบุญให้กลุ่มเปราะบาง อีกทั้งยังกล่าวถึงความสำคัญของการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชน เพื่อสังคมที่มีความยั่งยืนและเมืองที่มีความหยุ่นตัว
“ถ้ากรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีความหยุ่นตัวก็จะเป็นการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุน และความหยุ่นตัวเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความน่าอยู่ของเมือง ซึ่งจะตอบกับนโยบายกรุงเทพเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว
ด้าน รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการดำเนินการในด้านต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นเมืองแห่งความหยุ่นตัว และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้เข้าร่วมเครือข่าย UNESCO creative city, Healthy City Network, การสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องของ Climate Change, SDGs และ Resilience ให้กับประชาชน สำหรับระบบเตือนภัยของกรุงเทพมหานคร ภายในปีงบประมาณนี้จะสามารถแจ้งเตือนโดยตรงทางโทรศัพท์มือถือต่อประชาชนในกรณีเหตุการณ์ภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน การแจ้งเตือนทาง Line Alert และ Line OA และกำลังพัฒนา Traffy Fondue Plus ให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกรับข้อมูลบริเวณสถานที่พักอาศัยหรือที่ทำงานของตน โดยในปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีการแจ้งเตือนและให้ข้อมูลเรื่อง PM2.5 ฝน และน้ำท่วม
ทั้งนี้ สำนักงานของ UNDRR ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ดำเนินงานในการส่งเสริมการพัฒนาเมืองให้มีความหยุ่นตัว (Resilience City) ซึ่งหมายถึงเมืองที่มีความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและภัยพิบัติ โดยทำงานร่วมกับเมืองและรัฐบาลระดับท้องถิ่น ซึ่งกทม. เข้าร่วมเครือข่าย Making Cities Resilient 2030 (MCR2030) ซึ่งดำเนินการโดย UNDRR และได้ทำการประเมินเบื้องต้นด้านความหยุ่นตัวต่อภัยพิบัติของเมือง (Preliminary Assessment – Disaster Resilience Scorecard for cities) โดยวันนี้การเข้าหารือก็เพื่อต้องการที่จะแชร์ประสบการณ์ของ UNDRR และเรียนรู้การดำเนินงานในด้านนี้ของกทม. และ UNDRR พร้อมที่จะสนับสนุนกทม. ในด้านต่าง ๆ เช่น การฝึกอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรของกรุงเทพมหานคร เครื่องมือต่าง ๆ ในการประเมินความหยุ่นตัวต่อภัยพิบัติของกรุงเทพมหานคร อีกทั้งได้เชิญกทม. เข้าร่วม Global Resilience Forum ซึ่งจะจัดขึ้นที่ดูไบ โดยมีผู้เข้าร่วมคือ เมืองที่ได้รับการเลือกให้เป็น Resilience Hub เผยแพร่ข้อมูลและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการสร้างความหยุ่นตัวให้กับเมือง