In Bangkok
ศปถ.กทม.เคาะจำกัดความเร็วในชุมชน กระตุ้นเตือนวินัยสวมหมวกนิรภัยนร.
กรุงเทพฯ-ศปถ.กทม. เห็นชอบจำกัดความเร็วในชุมชนและพื้นที่เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ กระตุ้นเตือนวินัยการสวมหมวกนิรภัยเด็กนักเรียน
(10 ต.ค.66) เวลา 13.30 น. : รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร (ศปถ.กทม.) ครั้งที่ 4/2566 โดยมี นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการจราจรและขนส่ง สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำหรับการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ กทม.2
ที่ประชุมรายงานสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ช่วงเดือน มกราคม - กันยายน พ.ศ.2566 มีผู้เสียชีวิต 675 ราย ผู้บาดเจ็บ 106,588 ราย ปัจจัยพฤติกรรมเสี่ยง ประกอบด้วย ขับเร็ว 113 ราย แซง/เลี้ยวตัดหน้า/เปลี่ยนเลนกระกันหัน 48 ราย ไม่เว้นระยะห่าง(ชนท้าย) 19 ราย ฝ่าสัญญาณไฟจราจร 14 ราย
รถใหญ่จอดริมถนน 11 ราย ขับเร็ว, แซง /เลี้ยวตัดหน้า/เปลี่ยนเลนกระกันหัน 11 ราย ขับเร็ว, ไม่เว้นระยะห่าง(ชนท้าย) 8 ราย ขับเร็ว, รถใหญ่จอดริมถนน 5 ราย ย้อนศร 4 ราย ดื่มขับ 3 ราย แบ่งประเภทยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุ รถยนต์ 11.4% รถจักรยานยนต์ 88.6% ที่ประชุมรับทราบ มอบหมายสำนักการจราจรและขนส่งจำกัดความเร็วในชุมชนและพื้นที่เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ ตรวจสอบไฟฟ้าส่องสว่าง รวมทั้งประสานหน่วยงานสาธารณูปโภคที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้คำนึงถึงความปลอดภัยในที่สาธารณะเพื่อลดอุบัติเหตุ
พร้อมทั้งหารือการสวมหมวกนิรภัยของนักเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ภายใต้โครงการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100 % จากการสำรวจปัจจุบันพบว่าสวมหมวกนิรภัยน้อยมาก ซึ่งนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายสำนักการศึกษากำหนดเรื่องการสวมหมวกเป็นตัวชี้วัดของโรงเรียนกทม. และร่วมกับ สำนักการจราจรและขนส่ง นำระบบ CCTV และ เทคโนโลยี AI มาใช้ในการสำรวจ รวมทั้งสำรวจแต่ละโรงเรียนเชิงลึกถึงปัญหา และ สาเหตุที่ผู้ปกครอง / นักเรียน ไม่สวมหมวกนิรภัย ที่ประชุม มอบหมายสำนักการศึกษาสำรวจสาเหตุและผลักดันโครงการให้มีการสวมหมวกนิรภัย 100% พร้อมทั้งรณรงค์ขอความร่วมมือกับผู้ปกครองเชิงรุก อาทิ การปฐมนิเทศผู้ปกครอง การตั้งกฎเกณฑ์และหารือกันภายในเรื่องการสวมหมวกนิรภัย รวมทั้งการจัด ranking เพื่อให้แต่ละโรงเรียนมีการแข่งขันกัน และประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจกวดขันบังคับใช้ข้อกฎหมายบริเวณหน้าโรงเรียนเพื่อกระตุ้นเตือนวินัยเรื่องการสวมหมวกนิรภัย
นอกจากนี้ได้หารือภารกิจการตอบสนองหลังเกิดอุบัติเหตุกู้ภัยทางถนน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่อันตรายหรือพื้นที่เสี่ยง โดยจัดตั้งหน่วยกู้ภัยในการเข้าช่วยเหลือผู้ได้รับอุบัติเหตุทางถนนเพื่อนำส่งผู้ป่วยอย่างถูกต้องมีมาตรฐานและประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ มอบหมายสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำเนินการเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ กำหนดมาตรฐานรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของหน่วยกู้ภัย พัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมและเหมาะสมต่อการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งเสริมหลักสูตรการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยให้แก่เจ้าหน้าที่