In News
รมว.สุริยะรุกมอบนโยบายกรมทางหลวง ลงพื้นที่พรุ่งนี้เร่งรัดM6บางปะอิน-โคราช
กรุงเทพฯ-“สุริยะ” ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายกรมทางหลวง กำกับ ติดตาม ดูแลภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถ พัฒนาระบบการบริหารจัดการที่ดี เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก ความปลอดภัย สั่งเร่งรัดโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ M6 สายบางปะอิน - นครราชสีมาพร้อมลงพื้นที่จริงใน 12 ตุลาคมเพื่อตรวจและเร่งรัด แก้ไขปัญหาที่สถานที่ก่อสร้าง เพื่อให้งานก่อสร้างทั้งหมดแล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้
วันนี้ (11 ตุลาคม 2566) เวลา 09.00 น. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายในการดำเนินงานแก่กรมทางหลวง พร้อมด้วย นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจราชการกระทรวง รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงคมนาคม นางสาวรัชนีพร ธิติทรัพย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง โดยมี
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมทางหลวง ให้การต้อนรับณ ห้องประชุมมนัส คอวนิช อาคาร 2 กรมทางหลวง กรุงเทพฯ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาระบบโครงข่ายทางถนนให้ครอบคลุมความต้องการเดินทางของประชาชน “ถนน” ต้องช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง ลดต้นทุนการขนส่ง และมีโครงข่ายที่ส่งเสริมต่อระบบการเกษตร ท่องเที่ยว การค้า การลงทุน แหล่งอุตสาหกรรม และสามารถบูรณาการกับระบบขนส่งได้ในทุกมิติ ลดระยะเวลาต้นทาง - ปลายทาง ส่งเสริมต่อการเพิ่มขีดความสามารถสมรรถนะทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งในทุกมิติให้ครอบคลุมทั่วถึงทั่วประเทศ และเชื่อมโยงการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ กระทรวงฯ จึงได้เร่งรัดผลักดันการดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อความอุดมสุขของพี่น้องประชาชน
กรมทางหลวง (ทล.) ถือเป็นหน่วยงานหลักของกระทรวงฯ เนื่องจากเป็นหน่วยงานขนาดใหญ่มีขอบเขตความรับผิดชอบมากทั้งในเรื่องของภารกิจ งบประมาณ และจำนวนบุคลากร อีกทั้งภารกิจของ ทล. ตามที่ได้มอบนโยบายไว้ ทั้งด้านการพัฒนาโครงข่ายทางถนนโดยเฉพาะถนนสายหลักที่เชื่อมภูมิภาคถึงภูมิภาค เชื่อมจังหวัดถึงจังหวัด เพื่อส่งเสริม สนับสนุน กิจกรรมในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ทั้งด้านการเกษตร การท่องเที่ยว การค้า การลงทุน และอุตสาหกรรม ปรับปรุงเพิ่มคุณภาพด้านความปลอดภัยในการคมนาคมขนส่งทางบกด้วยการกำกับการใช้งานและลดอุบัติเหตุ เพิ่มประสิทธิภาพการบูรณาการคมนาคมขนส่งในทุกมิติในการเชื่อมต่อการเดินทางของคนและสินค้าจากถนนสู่ท่าเรือ หรือจากถนนสู่ท่าอากาศยาน เชื่อมโยงกันแบบไร้รอยต่อ ดังนั้น เพื่อเป็นการขับเคลื่อนโยบายของกระทรวงฯ และยุทธศาสตร์สำคัญ ๆ ของประเทศ สอดรับนโยบายรัฐบาล และนโยบาย “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” จึงได้มอบนโยบายแก่ ทล. ใช้เป็นแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
1. จากอดีตที่ผ่านมาจะเห็นว่าระบบคมนาคมขนส่งทางบกยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไข ทั้งเรื่องการจราจรติดขัด ปัญหาอุบัติเหตุ ปัญหามลพิษ PM 2.5 จึงจำเป็นต้องเร่งรัดพัฒนาโครงข่ายถนนทางเลือกเพื่อการขนส่ง โดยเฉพาะในรูปแบบมอเตอร์เวย์ที่มีการควบคุมการเข้าออก ไม่มีจุดตัดทางแยก มีมาตรฐานสูงในทุกมิติ ตามกรอบ MR-MAP ที่ ทล. ได้ศึกษาไว้ ทั้งนี้ เพื่อจะใช้ประโยชน์ในการเชื่อมต่อขนส่งสินค้าระหว่างกันจากภูมิภาคถึงภูมิภาค จังหวัดถึงจังหวัด รวมไปถึงเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านจากชายแดนถึงชายแดน ทั้งจากเหนือถึงใต้ ตะวันออกถึงตะวันตก เข้าหากันในทุกทิศทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างโอกาสความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัยในระบบการขนส่งสินค้า ทั้งเกษตรและอุตสาหกรรมจากภายในประเทศขนส่งข้ามชายแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงจากในประเทศสู่ท่าเรือเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศในภูมิภาคอื่นของโลกต่อไป ทั้งหมดนี้เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแท้จริง
2. การจะดำเนินการพัฒนาใด ๆ ในโครงการก่อสร้างของ ทล. จำเป็นต้องคำนึงถึงความสะดวก และความปลอดภัยแก่ผู้ใช้เส้นทางและพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ ทั้งในระหว่างการก่อสร้างและระหว่างเปิดให้ใช้งาน โดยต้องเน้นมาตรฐานทั้งในขั้นตอนการออกแบบ การก่อสร้าง และในขั้นเปิดให้ใช้งานจำเป็นต้องกำกับควบคุมให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานของ ทล. ที่ต้องพัฒนาให้ได้ตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยด้านการจราจร การทาสี ตีเส้น และป้ายสะท้อนแสงต่าง ๆ ต้องดูแลบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ดี ทำให้พี่น้องประชาชนเดินทางได้อย่างมั่นใจทั้งในกลางวันและกลางคืน ทั้งในสภาพอากาศที่ดีและในเวลาทัศนวิสัยไม่ดีมีฝนตกหนัก
3. การบริหารการเบิกจ่ายงบประมาณและการบริหารสัญญาของโครงการต่าง ๆ จำเป็นต้องวางแผนล่วงหน้า จัดเตรียมทุกขั้นตอนก่อนลงนามสัญญาก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการเวนคืนที่ดิน การรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค การสำรวจสภาพพื้นที่ก่อสร้างให้ตรงกับแบบที่ออกไว้ ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้เป็นไปตามแผนในขั้นปฏิบัติ โดยเฉพาะโครงการในงบประมาณปี 2567 ซึ่งมีระยะเวลาการทำงานที่สั้นลง ดังนั้น การบริหารงานที่มีประสิทธิภาพสูงจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับการดำเนินการของ ทล. ที่จะให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกจัดเป็นแผนเร่งด่วน คือ โครงการที่มีสัญญาอยู่แล้ว อยู่ระหว่างก่อสร้าง และจำเป็นต้องเร่งรัด กำชับ ติดตามให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จเพื่อเปิดให้บริการแก่พี่น้องประชาชนได้โดยเร็ว ได้แก่
1. โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ M6 สายบางปะอิน - นครราชสีมา ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (12 ตุลาคม) จะลงพื้นที่ไปตรวจเร่งรัด แก้ไขปัญหาที่สถานที่ก่อสร้าง เพื่อให้งานก่อสร้างทั้งหมดแล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้
2. โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ M81 สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี
3. โครงการทางยกระดับบนถนนพระราม 2 และมอเตอร์เวย์ M82 สายบางขุนเทียน - บ้านแพ้ว
4. โครงการพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต
5. โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ)
ซึ่งจะเดินทางไปตรวจเยี่ยมและเร่งรัดติดตามการดำเนินการในโอกาสต่อไปเพื่อให้งานแล้วเสร็จ สามารถเปิดให้บริการได้ตรงเวลาตามแผนที่วางไว้
สำหรับโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทล. ตามแผนพัฒนายกระดับระบบคมนาคมที่จังหวัดภูเก็ต เช่น โครงการขยาย 4 ช่องจราจรบนทางหลวงเลี่ยงเมืองหมายเลข 4027 พร้อมทั้งการปรับปรุงแนวใหม่บริเวณทางแยกเข้าสนามบิน โครงการปรับปรุงทางลอด บริเวณแยกอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร จะต้องเร่งรัดให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างแล้วเสร็จในปี 2567 และเริ่มก่อสร้างได้โดยเร็ว นอกจากนี้ ยังมีโครงการระยะกลาง ระยะยาว ที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป เช่น โครงการพัฒนามอเตอร์เวย์สายใหม่ที่ต้องเร่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้มีการลงนามสัญญาก่อสร้างได้ทันภายในรัฐบาลนี้ ได้แก่
1. โครงการส่วนต่อขยาย Tollway หรือมอเตอร์เวย์สาย M5 สายรังสิต - บางปะอิน ที่จะเชื่อมไปถึง Junction บางปะอิน คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนเห็นชอบรูปแบบ
การลงทุนแล้ว อยู่ระหว่างสรุปรายละเอียดเสนอกระทรวงฯ และจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการดำเนินโครงการต่อไป
2. การปรับปรุงศักยภาพบริเวณ Junction บางปะอิน ซึ่งจะเป็นจุดตัดของทางหลวงและมอเตอร์เวย์สายสำคัญหลายสาย ทั้งถนนพหลโยธิน ถนนสายเอเชีย มอเตอร์เวย์ M5, M6 และ M9 ซึ่งหากออกแบบไม่ดี จะสร้างปัญหาการจราจรติดขัดในอนาคต
3. โครงการปรับปรุงถนนวงแหวนรอบนอกสาย M9 ฝั่งตะวันตก คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนเห็นชอบรูปแบบการลงทุนแล้ว อยู่ระหว่างสรุปรายละเอียดเสนอกระทรวงฯ และจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการดำเนินโครงการต่อไป
4. โครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 ฝั่งตะวันออก ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของวงแหวน MR10 ในอนาคต
5. โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ M8 สายนครปฐม - ชะอำ
6. โครงการ Pilot Project ตามผลการศึกษา MR-MAP เช่น MR2 ช่วงแหลมฉบัง - โคราช
7. โครงการมอเตอร์เวย์ M7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา อยู่ระหว่างเจรจากับแหล่งเงินกู้เพื่อเตรียมหาผู้รับจ้างในปี 2566 และเริ่มก่อสร้างในปี 2567
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดหน้าด่านเก็บเงินภายในระบบมอเตอร์เวย์แบบในอดีตต้องหมดไป ซึ่งจำเป็นต้องใช้ระบบ Free Flow ไม่มีไม้กั้นแบบ M-Flow เป็นหลัก เพื่อให้การจราจรลื่นไหล ไม่เกิดปัญหาจราจรติดขัดเป็นคอขวดที่หน้าด่านเก็บเงิน ทั้งหมดนี้จะได้ติดตามการดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ของ ทล. ผ่านระบบติดตามโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของกระทรวงฯ ที่ได้จัดทำระบบติดตามโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของหน่วยงานในสังกัดแล้วเสร็จ และได้สั่งการทุกหน่วยงานป้อนข้อมูลเข้าสู่ระบบ จึงขอให้ ทล. ให้ความสำคัญและมอบหมายผู้รับผิดชอบในการรายงานข้อมูลทั้งรูปภาพ วิดีโอ และข้อมูลตัวเลขแสดงความคืบหน้าของโครงการเข้าสู่ระบบให้ครบถ้วน พร้อมทั้งได้กำชับให้ผู้บริหารกำกับ ติดตาม ดูแลภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน และตอบสนองต่อความต้องการด้านการคมนาคมขนส่ง พัฒนาระบบการบริหารจัดการที่ดี เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก ความปลอดภัย และความพึงพอใจในการเดินทาง
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวถึงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกินและส่วยสติกเกอร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญมาก ได้เน้นย้ำให้ ทล. ป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมระบุว่าในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะต้องไม่มีปัญหาส่วยสติกเกอร์ และจะลงพื้นที่เพื่อสุ่มตรวจการดำเนินการ ณ ด่านชั่งน้ำหนักด้วย สำหรับการรับคนไทยจากประเทศอิสราเอลเดินทางกลับประเทศไทย กระทรวงฯ ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ทั้งด้านสนามบินและบุคลากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ