In Bangkok

รมว.ท็อปชนหมัดแห่งสัญญาผู้ว่าชัชชาติ ตั้งคณะทำงาน7ด้านทำงานแบบไร้รอยต่อ



กรุงเทพฯ-(12 ต.ค. 66) เวลา 13.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นหัวหน้าคณะ นำผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้าหารือข้อราชการกับนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) และคณะผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (กระทรวง พม.) ณ ห้องประชุม สป.1 ชั้น 8 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ 

สำหรับการหารือข้อราชการในวันนี้ เป็นการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาสังคมร่วมกันระหว่างกระทรวง พม. และ กทม. ในเรื่องหลัก ๆ ได้แก่ ความร่วมมือกันแก้ไขปัญหากลุ่มคนเปราะบาง (เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ สตรีและครอบครัว คนไร้บ้าน/คนไร้ที่พึ่ง/คนขอทาน) ความร่วมมือแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัย และความร่วมมือแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กล่าวถึงการดำเนินงานในเรื่องต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานครที่ผ่านมาให้ที่ประชุมได้รับทราบร่วมกัน พร้อมเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อบูรณาการการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

รมว.พม. เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า  สำหรับการหารือในวันนี้ได้พูดคุยถึงความร่วมมือในการทำงานระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรุงเทพมหานคร ว่าจะร่วมมือกันได้อย่างไรบ้างในการแก้ไขหลายปัญหาในกทม. ซึ่งต้องขอขอบคุณผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและทีมงาน ที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นได้มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกัน แต่ว่าจากนี้ไปการทำงานนั้นจะมีความใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น รวมถึงจะมีความรวดเร็วและต่อเนื่องมากขึ้น จากการที่ได้พูดคุยกันในที่ประชุมวันนี้ ซึ่งได้ข้อสรุปว่าจะตั้งคณะทำงานกันขึ้นมา 7 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะทำงานด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งในส่วนของกระทรวง พม. จะมีการเคหะแห่งชาติ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) 2. คณะทำงานด้านคนพิการ ในส่วนของกระทรวง พม. จะอยู่ภายใต้การทำงานของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 3. คณะทำงานด้านขอทานและคนไร้บ้าน ในส่วนของกระทรวง พม. จะอยู่ภายใต้การทำงานของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ 4. คณะทำงานด้านเด็กและเยาวชน ในส่วนของกระทรวง พม. จะอยู่ภายใต้การทำงานของกรมกิจการเด็กและเยาวชน 5. คณะทำงานด้านผู้สูงอายุ ในส่วนของกระทรวง พม. จะอยู่ภายใต้การทำงานของกรมกิจการผู้สูงอายุ 6. คณะทำงานด้านสตรีและครอบครัว ในส่วนของกระทรวง พม. จะอยู่ภายใต้การดูแลของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และ 7. คณะทำงานด้านการบูรณาการฐานข้อมูลกลุ่มเปราะบาง

รมว.พม. กล่าวต่อไปว่า  การทำงานในแต่ละด้านจะมีความใกล้ชิดเพราะว่าเป็นคณะทำงานไม่ใช่คณะกรรมการ และคาดว่าภายในสัปดาห์หน้า คณะทำงานในแต่ละด้านจะจัดตั้งแล้วเสร็จ โดยมีตนและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคอยกำกับดูแล ซึ่งเมื่อตั้งคณะทำงานขึ้นมาแล้วจะมีการทำรายงานความก้าวหน้าว่าไปถึงไหนแล้ว ในส่วนของกระทรวง พม. ตนเชื่อว่าข้อมูลต่าง ๆ ที่กทม.มีอยู่ สิ่งที่สำคัญจะต้องสามารถเชื่อมกับฐานข้อมูลที่กระทรวง พม. มีอยู่ เมื่อฐานข้อมูลของกระทรวง พม. และ กทม. เชื่อมเข้าด้วยกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนไร้บ้าน ผู้สูงอายุ คนพิการ ข้อมูลต่าง ๆ ก็จะแปลงเป็นข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ของกระทรวง พม. และ กทม. เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ เพราะว่าวันนี้มิติของกระทรวง พม. และ กทม. มีความใกล้เคียงกันและสามารถบูรณาการทำงานร่วมกันได้อย่างดีมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านที่อยู่อาศัย คนพิการ รวมถึงการดูแลเรื่องขอทานซึ่งในวันนี้ที่มีคนร้องเรียนเข้ามามากพอสมควร แต่ว่าการที่จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ นั้น อาจจะไม่ใช่แค่ กระทรวง พม. และ กทม. เพียงอย่างเดียว อาจจะต้องมีคณะทำงานหรือหน่วยงานของรัฐภาคส่วนอื่น ๆ เข้ามาร่วมมือกันด้วย หรือแม้แต่เรื่องของเด็กและเยาวชน สถาบันครอบครัว ซึ่งในวันนี้ทั้งกระทรวง พม. และ กทม. เราถือว่าเป็นภารกิจอันดับหนึ่งที่เราจะแก้ไขปัญหาและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่รุนแรงในสังคม โดยการสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดภายในครอบครัวนั้น จะเป็นบ่อเกิดแห่งการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุและปัญหาที่เราไม่อยากให้เกิด ทั้งนี้ คาดว่าภายในสิ้นปี 2566 นี้จะมีกิจกรรมดี ๆ ระหว่างกระทรวง พม. และ กทม. เกิดขึ้น 

ด้าน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า  กระทรวง พม. กับ กทม. มีภารกิจที่สอดคล้องกันจำนวนมาก เพราะหัวใจของเราคือการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเมือง ซึ่งเป็นปัญหาหลักของปัญหาต่าง ๆ ที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ และถือเป็นหน้าที่หลักของทาง พม. โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกลุ่มเปราะบาง อาทิ เด็ก วัยรุ่น คนทำงาน ผู้สูงอายุ คนพิการ คนด้อยโอกาสต่าง ๆ จากที่ท่านรัฐมนตรีฯ ได้กล่าวไปแล้วนั้น มีภารกิจเร่งด่วนดังนี้

ภารกิจเร่งด่วนแรก คือ การจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน 7 คณะ พร้อมให้มีการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่า 1 ปีจากนี้จะเห็นผลเป็นรูปธรรมในเรื่องอะไร 2 ปีจากนี้เป็นเรื่องอะไร เมื่อเรามีเป้าหมายชัดเจนแล้ว คนทำงานจะได้ทุ่มเททรัพยากรและความร่วมมือต่าง ๆ ให้บรรลุเป้าหมายนั้น ซึ่งคิดว่าภายในสัปดาห์หน้าเราจะเห็นเป้าหมายแต่ละคณะทำงานได้อย่างชัดเจน 

ภารกิจเร่งด่วนที่สอง คือ การทำฐานข้อมูล เพราะหากไม่มีข้อมูล การทำงานจะลำบาก ปัจจุบันแต่ละหน่วยงานต่างก็มีฐานข้อมูล หากนำฐานข้อมูลมารวมกันให้เป็นระบบดิจิทัล เราจะได้รู้ว่ากลุ่มเปราะบางอยู่ที่ไหน ผู้พิการ คนไร้บ้าน คนขอทาน ฯลฯ มีจำนวนเท่าไร ซึ่งในส่วนของ กทม. เรามีพนักงานในทุกเขต มีประธานชุมชนกว่า 2,000 ชุมชน เราสามารถนำข้อมูลต่าง ๆ มาบูรณาการร่วมกับทาง พม. ได้

ภารกิจเร่งด่วนที่สาม คือ คนไร้บ้าน ซึ่งจริง ๆ แล้ว คนไร้บ้านในกรุงเทพฯ มีจำนวนลดน้อยลง แต่จะหนาแน่นบริเวณถนนราชดำเนิน เรื่องนี้คงต้องร่วมมือกันในการดูแลคนไร้บ้านบริเวณนี้ ทั้งในเรื่องของการจัดหาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม โดยเรากำลังดูพื้นที่บริเวณแยกแม้นศรีอยู่ และจะมีกระบวนการแก้ไขปัญหา ที่ไม่ใช่แก้ที่ปลายเหตุ แต่เป็นการแก้ตั้งแต่ต้นเหตุ อาทิ การคืนสิทธิ การหาอาชีพ เพื่อให้เขาอยู่ได้อย่างสง่างามในสังคม และมีความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน

ภารกิจเร่งด่วนต่อมา คือ การดูแลชุมชนบุกรุก เพื่อสร้างความมั่นคงที่อยู่อาศัย โดยจะเน้นที่คลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากรก่อน ซึ่งเราได้ทำงานร่วมกับ พอช. มาโดยตลอด จึงเป็นโครงการที่ต้องเร่งรัดให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่องไป อย่างไรก็ตามต้องมีการกำหนดเป้าหมายว่าปีนี้จะเดินหน้าทำกี่หลัง ปีหน้าทำกี่หลัง เพื่อให้การดำเนินการมีเป้าหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

ภารกิจเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่อยู่อาศัย ก็คงดูเรื่องที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย (Low-income housing) ซึ่งทาง พม. ได้มีโครงการร่วมกับ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) เรื่อง ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง ที่ช่วยออกค่าเช่าบ้านให้กับผู้ยากไร้ เราจะมีโครงการจัดทำฐานข้อมูลบ้านเช่าราคาถูก ขณะเดียวกันก็จะดูแลคนทำงานด้วย เพราะปัญหาหนึ่งนอกเหนือจากคนยากไร้ คือคนจบใหม่หรือคนเริ่มทำงานใหม่ที่มีบ้านอยู่ไกล ซึ่งการให้เช่านี้จะไม่ได้ให้อยู่ถาวร อาจจะสักประมาณ 5 ปี ให้พอมีความเข้มแข็งแล้วออกไป เพื่อให้คนใหม่เข้ามาอยู่ ก็จะได้เมืองที่คนไม่ต้องเดินทางไกลและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อีกโครงการที่จะทำต่อก็คือโครงการ Food Bank ที่นำอาหารส่วนเกินมาแบ่งปันให้คนที่ขาด เรื่องนี้ก็อาจจะต้องร่วมมือกับ พม. เพื่อให้มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น

"มีโครงการจำนวนมากที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณมากมาย แต่ใช้เทคโนโลยี ใช้การเปลี่ยนวิธีคิด และการหาแนวร่วมจากภาคเอกชน ซึ่งการร่วมมือกันในครั้งนี้ จะทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและมีประโยชน์กับพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางได้อย่างรวดเร็ว ต้องขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีฯ ที่ให้เราเข้ามาเยี่ยมคารวะและจะมีโครงการร่วมกันต่อไป ซึ่งท่านเป็นคนทำงานรวดเร็ว เชื่อว่าจะทำให้การดำเนินการเรื่องต่าง ๆ เห็นผลได้อย่างรวดเร็วด้วย" ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวในตอนท้าย

รมว.พม. กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า  อีกสิ่งหนึ่งที่ทางเราเน้น คือ การทำงานด้านคนพิการ ซึ่งทุกท่านจะสังเกตเห็นได้ว่าจากนี้ไปการแถลงข่าวหรือการให้ข่าวในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะมีการให้บริการทางด้านภาษามือให้กับพี่น้องคนพิการทางการได้ยิน หากในอนาคตมีสิ่งใดที่เราสามารถมอบสิ่งดี ๆ ให้กับประชาชนคนไทยได้ กระทรวง พม. ก็จะดำเนินการต่อเนื่อง สุดท้ายต้องขอขอบคุณผู้ว่าฯ ชัชชาติ อีกครั้งหนึ่งที่ให้เกียรติมาเยี่ยมในวันนี้