In News

นายกฯบุกบางระกำติดตามสถานการณ์น้ำ ถกปัญหาข้อจำกัด/พัฒนาพื้นที่ต้นแบบ



กรุงเทพฯ-นายกฯ ตรวจเยี่ยมและติดตามสถานการณ์น้ำ ณ บึงตะเคร็ง อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก พูดคุยปัญหา ข้อจำกัด วิธีการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ พร้อมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพให้ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ ก่อนหน้านี้ นายกฯ ตรวจเยี่ยมโรงผลิตน้ำประปาเทศบาลนครพิษณุโลก รับฟังปัญหาน้ำประปา ยืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญกับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

วันนี้ (14 ต.ค. 66) เวลา 12.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะ เดินทางมาตรวจเยี่ยมและติดตามสถานการณ์น้ำ ณ บึงตะเคร็ง อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก พร้อมพูดคุยปัญหา ข้อจำกัด และวิธีการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ โดยมีนายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
 
นายกรัฐมนตรีรับทราบรายงานภาพรวมการบริหารจัดการแม่น้ำน่าน-แม่น้ำยม และการบริหารจัดการน้ำ จ.พิษณุโลก รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำบึงตะเคร็งทั้งระบบ จากนายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก ซึ่งบึงตะเคร็งเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ พื้นที่ 1,340 ไร่ มีศักยภาพในการเก็บกักน้ำไว้ใช้ประมาณ 13.54 ล้านลูกบาศก์เมตร และเป็นหนึ่งในพื้นที่แก้มลิงโครงการบางระกำโมเดล จุดเริ่มต้นจากอุทกภัยปี 2554 ซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบอุทกภัย ที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก โดยให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยรูปแบบโมเดล มีการแบ่งงานเป็น 4 กลุ่ม เป็น 2P2R โดยในด้าน Prevention การป้องกันอย่างยั่งยืน ได้อนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินการพัฒนาบึงขนาดใหญ่ในพื้นที่แม่น้ำยมฝั่งขวาของ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก โดยการพัฒนาแก้มลิง บึงตะเครง-บึงขี้แร้ง-บึงระมาณ สามารถเก็บกักน้ำได้รวม 30.74 ล้านลูกบาศก์เมตร และดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2558 ปัจจุบันกักเก็บน้ำได้รวม 17.76 ล้าน ลบ.ม./56%  
 
หลังจากนั้นได้มีการต่อยอดและพัฒนารูปแบบของโครงการบางระกำโมเดล โดยนำข้อเสนอของเกษตรกรในพื้นที่ ในการปรับตัวการเพาะปลูกข้าวนาปีและวิถีชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยวางแผนการเพาะปลูกข้าวฤดูนาปีในพื้นที่ลุ่มต่ำเขตชลประทาน (พื้นที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำยม) พื้นที่ประมาณ 265,000 ไร่ คลอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 5 อำเภอ 21 ตำบล 97 หมูบ้าน โดยใช้ปริมาณน้ำต้นทุนจากเขื่อนสิริกิติ์ ให้เกษตรกรทำการพาะปลูกเร็วขึ้น จากเดิมที่เริ่มในเดือนพฤษภาคม มาเพาะปลูกเร็วขึ้นในเดือนเมษายน เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต ได้ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมก่อนฤดูน้ำหลาก และหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เกษตรกรจะไม่ทำการเพาะปลูกต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติชั่วคราว เพื่อรองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก สามารถหน่วงน้ำได้สูงสุดประประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันรับน้ำเข้าทุ่งแล้ว พื้นที่ 172,543 ไร่ ปริมาณน้ำ 330 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 82%โดยกรมชลประทานดำเนินโครงการบางระกำโมเดล ตั้งแต่ปี 2560 ต่อเนื่องปีนี้ 2566 เป็นปีที่ 7


 
ทั้งนี้ จังหวัดขอรับการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน (1) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพการกักเก็บน้ำ พื้นที่ฝั่งขวา (นอกเขต ชป.) อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และ (2) โครงการเพิ่มศักยภาพการหน่วงน้ำในพื้นที่โครงการบางระกำโมเดล พื้นที่ฝั่งซ้าย (ในเขต ชป.) สำหรับข้อเสนอแนะและความต้องการของเกษตรกร เช่น ต้องการให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งซ่อมแซม ถนน และทางสัญจร ของหมู่บ้านที่ได้รับความเสียหายให้สามารถใช้งานได้ภายหลังสิ้นสุดการหน่วงน้ำ ต้องการให้ปรับปรุงยกระดับถนนเพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมถนนเพื่อให้สามารถใช้สัญจรได้ในช่วงเกิดอุทกภัย รวมทั้งปรับปรุงท่อลอดถนน อาคารชลประทาน สิ่งกีดขวางทางน้ำ ต้องการให้ส่วนราชการช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายครัวเรือน หรือการส่งเสริมอาชีพในช่วงระยะเวลาที่หน่วงน้ำ เนื่องจากไม่สามารถประกอบอาชีพเสริมได้ ขาดรายได้ เป็นต้น
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความดีใจที่ได้มาพบกับประชาชนชาว อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และได้รับทราบถึงการบริหารจัดการน้ำของบึงตะเคร็ง ซึ่งเป็นหนึ่งในแก้มลิงโครงการบางระกำโมเดล ซึ่งได้ยินถึงการดำเนินงานของบางระกำโมเดลมานานแล้ว ในการลดผลกระทบจากอุกภัยให้กับประชาชนในพื้นที่และประเทศไทยได้อย่างมาก ทั้งนี้ เข้าใจถึงความยากลำบากของประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัยเป็นอย่างดี รวมถึงการต้องพัฒนาพื้นที่บึงตะเคร็งให้ดี และมีศักยภาพในการสร้างอาชีพเสริมให้กับประชาชนในพื้นที่ดีขึ้น ทั้งการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่น กิจกรรมแข่งเจ็ตสกี ส่วนกรณีที่มีปัญหาเรื่องเงินชดเชยนั้น รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีจะพยายามดูแลเรื่องนี้ให้ดีที่สุด

พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้มอบถุงยังชีพให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ ต.ท่างาม ต.ชุมแสงสงคราม ต.คุยม่วง ต.วังอิทก และต.บางระกำเมืองใหม่ โดยมีประชาชนที่ประสบอุทกภัยเดินทางมารับถุงยังชีพครั้งนี้ จำนวน 700 ครัวเรือน รวมทั้งนายกรัฐมนตรีได้มอบหญ้าอาหารสัตว์พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายงานโดยกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้กับประชาชนเพื่อเป็นอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงด้วย
 
จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางต่อไปยังชุมชนบ้านปากคลอง ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ พร้อมลงเรือเยี่ยมเยียนให้กำลังใจประชาชนที่ประสบอุทกภัยและมอบถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบอุทกภัยอีกด้วย โดยพื้นที่ดังกล่าวมีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 68 ครัวเรือน จากทั้งหมด 98 ครัวเรือนตั้งแต่ช่วงประมาณต้นเดือนตุลาคม 2566 โดยระดับน้ำเพิ่มขึ้นทุกวันซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจากจังหวัดสุโขทัยที่ผ่านมาต้องรับผลกระทบอยู่กับน้ำประมาณ 1 เดือน  

นายกฯลงพื้นที่พิษณุโลก ตรวจเยี่ยมโรงผลิตน้ำประปาเทศบาลนครพิษณุโลก 

ก่อนหน้านี้ช่วงเวลา 10.30 น. ณ เทศบาลนครพิษณุโลก ตำบลหัวรอ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตรวจเยี่ยมโรงผลิตน้ำประปา เทศบาลนครพิษณุโลก ตำบลหัวรอ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เพื่อพูดคุยปัญหาน้ำประปา โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมการตรวจเยี่ยม นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีรับฟังรายงานสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขระบบผลิต ระบบจ่ายน้ำประปาจากผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายกเทศมนตรี กรมชลประทาน และประชาชน สำหรับจังหวัดพิษณุโลกมีระบบท่อส่งน้ำมีอายุการใช้งานกว่า 70 ปี เกิดการแตกรั่วบ่อยครั้งเป็นเหตุให้สูญเสียน้ำอยู่ที่ 50% ทำให้น้ำประปามีปริมาณไม่เพียงพอ เกิดปัญหาน้ำไหลอ่อนและน้ำขุ่นแดง อีกทั้งมีถังสำรองน้ำในปริมาณจำกัด ทำให้ไม่สามารถให้บริการน้ำประปาแก่ประชาชนได้เต็มประสิทธิภาพ จังหวัดพิษณุโลกจึงต้องการที่จะปรับปรุงระบบเส้นท่อให้มีประสิทธิภาพ พร้อมกับเพิ่มถังสำรองน้ำและก่อสร้างเขื่อนท้ายเมืองเพื่อกักเก็บน้ำให้สามารถรองรับการใช้บริการของประชาชนได้เพียงพอตลอดเวลาและยังเป็นการเพิ่มระบบนิเวศให้กับจังหวัดพิษณุโลกอีกด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าการบริหารจัดการน้ำมีหลายส่วน ทั้งภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภคน้ำ จังหวัดพิษณุโลกเป็นจังหวัดแรกที่รัฐบาลลงพื้นที่และประสบปัญหานี้ในเรื่องน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยวันนี้รัฐบาลจะรับเรื่องเพื่อส่งต่อข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องแหล่งกักเก็บน้ำ ท่อน้ำประปาที่สร้างมาเป็นเวลานานจนประสบปัญหารั่ว ซึม และสูญเสียน้ำระหว่างทางของการส่ง ซึ่งเมืองพิษณุโลก 80 ปีที่ผ่านมาพัฒนาจากเมืองรองจนเป็นเมืองหลักแห่งการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นเรื่องของการอุปโภคบริโภคน้ำเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ การพัฒนาของเมืองก็จะไม่สามารถเดินหน้าได้เต็มประสิทธิภาพ โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและจะทำการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจปัญหาและหาทางแก้ไขในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว นอกจากนั้นเรื่องของการสร้างเขื่อนท้ายเมือง ขอให้มีการสอบถามประชาชนในพื้นที่ รับฟังความคิดเห็นของประชาชน และศึกษาข้อดี ข้อเสียของเขื่อน หากศึกษาแล้วเห็นว่าดี รัฐบาลพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยนายกรัฐมนตรีฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตาม และเสนอโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนโดยเร็ว

“นายกฯ เพิ่งทราบปัญหานี้ ตอนที่เคยมาช่วงเลือกตั้ง ถ้าทราบจะเตรียมทางแก้ปัญหาไว้ แต่ถึงอย่างไรช้าดีกว่าไม่ทำ และต้องขอโทษด้วย อย่างไรก็ตาม สส.ในพื้นที่ก็ให้ความเป็นห่วงประชาชน จ.พิษณุโลกเป็นจังหวัดใหญ่ เมื่อมีปัญหาก็ต้องขอโทษ ในนามรัฐบาลจะนำมาพัฒนาและทำให้ดีในระยะสั้นก่อน และจะแก้ไขระยะยาวกันต่อไป ไม่เช่นนั้นเมืองรองที่มีคุณค่าอย่าง จ.พิษณุโลก จะไม่มีโอกาสเติบโตตามแผนงานพัฒนาเศรษฐกิจของชาติได้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่นายกฯ บอกว่าไม่ทราบมาก่อน ถือเป็นความผิดของตน ผู้สมัคร สส.ในพื้นที่ได้บอกตนมาตลอด แต่เมื่อไม่ได้เป็นผู้แทนฯ เลยไม่ได้นำเรียนต่อวันนี้จึงต้องขอโทษ ขณะที่ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เจตนาของเทศบาลนครพิษณุโลก ต้องการจำหน่ายน้ำประปาเอง หรือโอนมอบไปให้การประปาส่วนภูมิภาค โดยตนมองว่าเมื่อจะทำแล้ว อยากให้ สส.ในพื้นที่ทำประชาคมดูว่า จะให้ไปอยู่กับการประปาส่วนภูมิภาคหรือจะทำเอง แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไร อยากให้ สส.ประสานกับทางเทศบาล ทำให้เป็นประปาดื่มได้ด้วย

จากนั้น นายกรัฐมนตรีเดินทางไปตรวจเยี่ยมและติดตามสถานการณ์น้ำ ณ บึงเครง อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อพูดคุยประเด็นปัญหา ข้อจำกัด และวิธีการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวลา 10.10 น. ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้เข้าสักการะพระพุทธชินราช พร้อมกับกราบนมัสการพระสุธรรมมุนี ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร พระราชรัตนสุธี เจ้าคณะจังหวัดพิษณุโลก และพระมหาธนศักดิ์ จินฺตกวี รองเจ้าคณะอำเภอเมืองพิษณุโลก เลขานุการวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร