EDU Research & ESG
งานวิจัย 'FSQL' กับเป้าหมายการพัฒนา ที่ยั่งยืนในด้านการศึกษาของไทย
เมื่อวันที่ 11 – 12 ตุลาคม 2566 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 และ เขต 2ร่วมกับ วิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง“Training to the Trainers: ตัวชี้วัดการจัดการเรียนรู้ และการจัดทำไฟล์วีดิทัศน์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้”การอบรมในครั้งนี้เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของการวิจัยเรื่อง“โครงการสนับสนุนการขยายผลและนำร่องกรอบมาตรฐานขั้นพื้นฐานในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพของโรงเรียน (Fundamental School Quality Levels: FSQL) ระยะที่ 2” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยดำเนินการวิจัยร่วมกับธนาคารโลกแห่งประเทศไทย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) มหาวิทยาลัยนเรศวร (NU) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT) โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ภิญโญ แม้นโกศล คณบดีวิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย
หัวหน้าโครงการวิจัย ได้เล่าความเป็นมาของการวิจัยในระยะที่ 2 ว่า “จุดเริ่มต้นมาจากในปี 2563 กสศ.ร่วมกับธนาคารโลกได้ทำงานวิจัยร่วมกันเพื่อลดช่องว่างของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาระหว่างโรงเรียนในประเทศไทย โดยมีข้อเสนอให้แก้ไขปัญหาแบบสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของโรงเรียนขนาดเล็กแต่ละประเภท และเสนอให้พัฒนากรอบมาตรฐานขั้นพื้นฐานในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพของโรงเรียนหรือ Fundamental School Quality Level โดยใช้ตัวย่อว่า FSQL เป็นเครื่องมือสำหรับการประเมินและติดตามคุณภาพของโรงเรียนที่ใช้จนประสบความสำเร็จมาแล้วในประเทศเวียดนามและมาเลเซีย และต่อมาในปี2564-2565DPU ก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาและปรับปรุง FSQL ร่วมกับ กสศ. สพฐ. และธนาคารโลก จากการวิจัยพบว่า FSQL ที่สอดคล้องและมีนัยต่อคุณภาพโรงเรียนในประเทศไทย ควรมี 4 ด้าน คือ ภาวะผู้นำ ผลลัพธ์การเรียนรู้คุณภาพครู และโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียน และพบว่าตัวชี้วัดใน FSQL ทั้ง 4 ด้านนั้นมีความสัมพันธ์และอธิบายผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในโรงเรียนนั้น ๆ ได้ จึงถือว่าเป็นเครื่องมือในการประเมินและติดตามคุณภาพของโรงเรียนได้ดี และทำให้เป็นที่มาของการวิจัยในระยะที่ 2 เพื่อทดลองนำร่องและขยายผลการศึกษาในวงกว้างต่อไป”
โครงการวิจัยในระยะที่ 2มีวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อปรับปรุงและพัฒนา FSQL ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและสามารถขยายผลการนำไปใช้ในระดับจังหวัด กลุ่มตัวอย่างการวิจัยในครั้งนี้เป็นโรงเรียนจากพื้นที่ทดลองระดับจังหวัดที่มีการกระจายของโรงเรียนทั้งในเขตเมืองและชนบท โดยเก็บข้อมูลให้ครอบคลุมทั้งจังหวัดหรือเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวนโรงเรียนไม่น้อยกว่า 500 โรงเรียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ภิญโญ แม้นโกศล ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับงานวิจัยครั้งนี้ว่า “เราได้จังหวัดราชบุรีเป็นพื้นที่เก็บข้อมูลทีมงานทุกฝ่ายกำลังดำเนินงานในส่วนที่รับผิดชอบ ซึ่ง DPU เรารับผิดชอบการปรับปรุงตัวชี้วัดที่เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้และคุณภาพครูเราได้พัฒนาเครื่องมือสำหรับการสังเกตชั้นเรียนที่ชื่อว่า Classroom Observation Tool หรือ COT ที่มีความสอดคล้องกับหลักการทฤษฎี เกณฑ์มาตรฐานต่าง ๆเพื่อให้ Enumerator ซึ่งเป็นศึกษานิเทศก์ใช้ประเมินการจัดการเรียนรู้ของครู และจัดอบรมการจัดทำไฟล์วีดิทัศน์การจัดการเรียนรู้ให้แก่ครูในจังหวัดเพื่อให้ครูส่งไฟล์นั้นมาเข้าระบบสารสนเทศเพื่อประเมินตามเกณฑ์ COTโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตาม ประเมิน และวิเคราะห์ต่อไป ทั้งนี้เพราะการจะพัฒนาผู้เรียนให้มีผลลัพธ์การเรียนรู้ตามที่คาดหวังได้หรือไม่นั้น ปัจจัยสำคัญมาจากการจัดการเรียนรู้ของครู ด้วยเหตุนี้ FSQL ด้านที่ 2 คือผลลัพธ์การเรียนรู้และคุณภาพครู จึงต้องมีเครื่องมือในการสังเกตและประเมิน เพื่อพัฒนาให้ได้ตามกรอบมาตรฐานที่เป็นเป้าหมายและนำไปสู่การสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้และผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนในท้ายที่สุด”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ภิญโญ แม้นโกศล ได้กล่าวทิ้งท้ายเกี่ยวกับงานวิจัยนี้ว่า“การวิจัยนี้มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2567ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างผลผลิตและผลลัพธ์ได้ตามเป้าหมายของการวิจัย และจะนำผลวิจัยไปเผยแพร่สู่สาธารณะต่อไป หวังว่าประโยชน์จากการวิจัยครั้งนี้จะสามารถตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยมีเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาค เพื่อให้คนไทยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม อันเป็นเจตนารมณ์ในการวิจัยด้านการศึกษาของ DPU”