EDU Research & ESG
'นักรบมนตรา : ตำนานแปดดวงจันทร์' มหากาพย์แอนิเมชันไทยแอ็กชันฟอร์มบิ๊ก
วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (ANT-DPU) เชิญ Riff Studio มาแชร์ประสบการณ์สุดเอ็กซ์คูลซีฟการทำแอนิเมชันแก่นักศึกษา เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมไสว สุทธิพิทักษ์ อาคาร 6 ชั้น 7 เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสพูดคุยกับบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมด้านสื่อดิจิทัล แอนิเมชันและวิชวลเอฟเฟ็กต์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเกิดการเรียนรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์จริง
โดยในโอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก “ตุลย์-วีรภัทร ชินะนาวิน” CEO RiFF Studio และ “โจ้-เอกสิทธิ์ เตรียมตั้ง” Animation Supervisor ให้เกียรติมาอธิบายขั้นตอนต่างๆ จากจุดเริ่มต้นของ Studio ที่ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงปี 2010 ของหนุ่มไฟแรง 3 คนอย่าง ตุลย์-วีรภัทร ชินะนาวิน, พีท-สรพีเรศ ทรัพย์เสริมศรี และสรร-สรรเพชญ์ สาตราวาหะ ที่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างงานแอนิเมชันคุณภาพดีและยกระดับงานแอนิเมชันของศิลปินไทย
ประสบการณ์ 'สำคัญ'
ไม่ต่างไปจากเรื่องราวความสำเร็จทั่ว ๆ ไป ที่คำว่า “ประสบความสำเร็จ” จะมาทายทักเคาะประตูหน้าบ้าน ล้วนแต่ต้องเริ่มต้นจากก้าวเล็ก ๆ 'Riff Animation Studio' ก็เช่นเดียวกันที่เริ่มรับงานชิ้นแรกๆ ด้วยการเป็น 'Outsource' รับจ้างทำแอนิเมชันจากหลายต่อหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ เช่น เบิร์ดแลนด์ แดนมหัศจรรย์, Lego Commercial Mini Movie, Bloody Bunn และ The Force of Will 1 ตอน จาก 5 ตอน ขณะที่อีกภาคหนึ่งก็ยังเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นที่ปรึกษางานแอนิเมชันของภาพยนตร์ไทยในเรื่อง กระดึ๊บ (2010), SuckSeed ห่วยขั้นเทพ (2011) จนมาถึง เมย์ไหน ไฟแรงเฟร่อ (2015)
ตุลย์-วีรภัทร ชินะนาวิน กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นมาจากการที่เขาเห็นผมทำแอนิเมชันได้และมีประสบการณ์มาจากต่างประเทศ10 กว่าปี จึงดึงผมไปที่ปรึกษาในเรื่องกระดึ๊บในฐานะ Supervisor ก็จุดประกายจากตรงนั้น และมาต่อด้วยเรื่อง suck seed ทาง Riff ก็ได้มาดูแลในส่วนของงานเล่าเรื่องใน Part ของแอนิเมชัน โดยทำแนวเขียนบนปากกากับกระดาษสมุดให้มันเคลื่อนไหวได้ ทีนี้ก็ GTHเริ่มมีความอยากรู้จักเรามาขึ้นและเชื่อว่าบริษัทตัวเล็กๆ 7-8 คนทำได้ ก็ก้าวไปรับงานโดยดูแลเกี่ยวกับแอนิเมชันเต็มๆ และทำให้หลายๆ คนรู้จักเราใน เมย์ไหน ไฟแรงเฟร่อ”
การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหญ่น้อยค่อย ๆ หล่อหลอมการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง จากการที่เข้าใจดีว่าการจะทำ 'แอนิเมชัน' ที่เป็น IP : Intellectual Properties ของตัวเองซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ทางปัญญาสเกลระดับภาพยนตร์ฉายในโรงได้ ความยากนั้นระดับมหาเทพ แถมยังต้องใช้ทั้งเวลาและใช้เงินจำนวนมาก (จนมี Animation หลายเรื่องที่ไปต่อไม่ได้ ทำไม่จบ ต้องหยุดกลางทาง) บทพิสูจน์หนทางเดียวคือ 'ต้องมีพันธมิตรแนวร่วม' และในเวลานั้นก็คือ GTH (ปัจจุบันใช้ชื่อ GDH)
“เราทำเองเราทำได้แค่ระดับหนึ่ง แต่การที่มี partner เราจะเริ่มหลุดจากสิ่งที่เราคิดและงม เราไปหาผู้เชี่ยวชาญดีกว่า เราก็เลยพอคิดจะทำแอนิเมชัน เราต้องหาบริษัทหนังที่ประสบความสำเร็จมาช่วยเรา ผมก็เลยเอาหนังไปเสนอ คุณวิสูตร พูลวรลักษณ์ ซึ่งเป็นผู้บริหารในเวลานั้น”
แต่อย่างไรก็ตาม ตุลย์-วีรภัทร บอกต่อว่า 'เราก็ต้องรู้เรา' และรับมือกับการที่จะก่อให้เกิดวงจร 'ไฟของความเป็นศิลปินก็มีมอดลง' จนเราท้อ เพราะงานครีเอต IP Intellectual Properties ของตัวเอง ในประเทศไทยเขาบอกตามตรงนั้น 'แย่มาก' ตั้งแต่ผ่านมาหนังแอนิเมชันไทยไม่เคยมีหนังเรื่องไหนประสบความสำเร็จในเรื่องของรายได้เลยในวันแรกที่ฉาย
“นี่คือครั้งแรกที่ปกติรับจ้างทำโน้นนี้ไม่ได้เป็นเจ้าของหนัง โชคดีที่เมื่อวาน นักรบมนตรา : ตำนานแปดดวงจันทร์ มีรายได้จากการฉายใน Box office เป็นที่ 2 ของวัน เป็นรองเพียงเรื่องสัปเหร่อ จากตอนแรกก็หวั่นใจคนไทยจะดูหนังหรือเปล่า เราก็ทำได้อันดับ 2 จริงๆ มันก็ดี หนังที่วันแรกฉายขึ้นล้านในช่วงหนึ่งวันหาไม่ได้มากตอนนี้หนังฝรั่งยัง 5 แสน” เขากล่าว
ทำ 'ดีที่สุด' ในสิ่งที่เราถนัด+ความเป็นไทยในปัจจุบัน
ก่อนการสร้างมหากาพย์แอนิเมชันเรื่องนี้ ตุลย์-วีรภัทร บอกว่า ได้รับคำชี้แนะจากโปรดิวเซอร์ของสตูดิโอจิบลิ Studio Ghibli Inc. สตูดิโอภาพยนตร์อนิเมะของประเทศญี่ปุ่น ผู้ให้กำเนิดภาพยนตร์แอนิเมชันที่มีชื่อเสียงมากมาย “ซูซูกิ โทชิโอะ” และ “ทาคาฮาตะ อิซาโอะ” ร่วมด้วยกับ “มิยาซากิ ฮายาโอะ” และได้รับคำแนะนำว่า...คุณอยู่ที่ไหนก็ทำตัวให้เป็นของคุณมากที่สุด ทำอะไรที่คุณเข้าใจมากที่สุดและเป็นคุณมากที่สุด ถ้าคุณจะเอาประเทศคุณเป็นเหมือนแบรนด์การค้า คุณก็ต้องเอาเอกลักษณ์ของคุณ ที่ชาวต่างชาติเขาเปิดรับ...
นักรบมนตราเป็นหนึ่งในหลายๆ เรื่องที่ใช้เนื้อเรื่องวรรณกรรมรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นวรรณกรรมร่วมของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ไม่ใช่แค่ประเทศไทยและที่สำคัญวรรณกรรมเรื่องนี้เป็น Public domain หรือ สาธารณสมบัติ ที่ทุกคนสามารถนำมาใช้ในการสร้างสรรค์ชิ้นงานได้
“เราไม่ได้หยิบมาแบบดื้อๆ เพราะจะเกิดดรามาและคำถามที่ว่า 'ยัดเยียดใส่ความเป็นไทยลงไปอีกแล้วหรือ' ซึ่งได้ยินมาเป็นระยะ ทำให้เราพบความจริงว่าบางครั้งคนไทยอาจจะผิดหวังกับชิ้นงานในอดีตที่มีการยัดเยียดความเป็นไทยลงไป แต่ดูแล้วไม่ได้น่าชื่นชมขนาดนั้น”
“เราพยายามตีความรามเกียรติ์ให้เข้ากับยุคสมัย ในมุมมองที่แตกต่าง ดังนั้นไม่ว่าจะผู้ชมจะเป็นแฟนวรรณคดี หรือคนที่อาจจะไม่เคยอ่านรามเกียรติ์มาก่อนดูแล้วสนุกแน่นอน”
และการตีความ Soft-Power ของประเทศไทยที่นำมาใส่ในแอนิเมชันนั้นคือ “ความเป็นไทยในปัจจุบัน” คือสิ่งที่เราและต่างชาติโหยหาและสัมผัสได้ดีที่สุดซึ่งจะเห็นได้ในภาพยนตร์อาทิ เมนูข้าวกะเพราหมูกรอบไข่ดาว ส้มตำ ไก่ย่าง ยาดอง รถไฟ รถสองแถว ฯลฯ เพราะอยากให้แอนิเมชันเรื่องนี้ เป็นตัวแทนในการนำเสนอ Soft-Powerของไทยไปยังผู้ชมทั่วโลก
“ชีวิตประจำวันของพวกเรา มันคือความเรียล เราไม่บอกนี่ไทยแต่พอคนดูเห็น...เฮ้ยใช่จริงๆ เมืองไทยต่างชาติเขาดูแล้วบอกนี้บ้านเรา” เขากล่าว พร้อมยกตัวอย่างมองย้อนกลับไปถึงประเทศเกาหลีใต้ที่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เวลานี้ติดท็อปชาร์ตด้านวัฒนธรรมและเป็นผู้นำของโลกด้วยการใช้หลักนี้ เมื่อควบคู่ความเป็น 'ไซไฟ' ซึ่งในรอบ 30 ปี มีเพียง 15 เรื่องเท่านั้น ส่งให้ 80% เวลานี้มีคนให้ความชื่นชอบและสนใจใน “รามเกียรติ์” เวอร์ชัน 2566 จาก RiFF Studio กันอย่างมากมาย”
“เรากับเกาหลีใต้ไม่ต่างกันมากนัก วัฒนธรรมเราฝรั่งสนใจมากๆ อย่าง RAYA ที่ Disneyเอาไปใช้ ทำไมเราไม่มีโอกาสพัฒนา Soft-Power ตรงนี้ เราก็ต้องพยายามสร้าง IP ขึ้นมา เพราะการลงทุนด้านนี้มันยังมีการทำ Merchandising ของตัวละครต่างๆ เป็นของที่ระลึกจากหนังด้วยเป็นการต่อยอดกับ IP เพื่อสร้างความผูกพันกับกลุ่มแฟนคลับด้วย”
Motion Capture “การจับความเคลื่อนไหว”
ในส่วนของโปรดักชั่น โจ้-เอกสิทธิ์ บอกว่า นอกเหนือจากกระบวนการขั้นตอนต่างๆ พื้นฐาน 'นักรบมนตรา' ได้ใช้เทคโนโลยีที่นำมาใช้โดยให้นักแสดงใส่ชุดที่ประกอบด้วยเซ็นเซอร์ตามจุดต่างๆ เพื่ออ่านและแปลงค่าท่าทางสู่โปรแกรมบนคอมพิวเตอร์ ทำให้ตัวละครมีท่าทางดูละมุนสมจริงมากกว่าการจัดท่าทางเองไปถึงการแอ็คชัน 'ศิลปะ' ต่อสู้
และการใช้ 'Motion Capture' เป็นวิธีที่จะทำให้ผู้กำกับเห็นแอนิเมชันทั้งเรื่องได้ง่ายขึ้น ช่วยให้ผู้สร้างสามารถเล่าเรื่องของเขาง่ายขึ้นเพื่อให้ภาพรวมและความรู้สึกและอารมณ์ของแอนิเมชันสม่ำเสมอกัน และเพื่อเป็นการประหยัดเวลาขึ้น “ไม่ใช่เพิ่มภาระงาน” ซึ่งเป็นวิธีลดระยะเวลาและค่าใช้จ่าย ให้คุมงบได้ในงบ 200 ล้านบาท ประหยัดได้หลายเท่า
“Pixar ใช้งบประมาณเรื่องละกว่าพันล้านดอลล่าร์ ซึ่งเมื่อเทียบฝั่งฮอลลีวูด คือ ตัวแปรมี 2 อย่าง คือ ถ้าเวลาน้อย-คนเยอะ และเวลาเยอะ-คนน้อย แต่เราสามารถใส่คุณภาพเกินงบ ทีนี้เราสามารถขอจากภาครัฐ จากกระทรวงวัฒนธรรม นักรบมนตราของเราก็ได้รับการสนับสนุนจำนวนหนึ่งตอนที่เราทำเสร็จไปยื่นแบบฟอร์มก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง เพราะเราเข้าใจว่ามันก็ไม่ใช่ทำกันง่ายๆ ถ้ายังไม่เสร็จไปขอการสนับสนุน” โจ้-เอกสิทธิ์ กล่าว
นอกจากนั้น “นักรบมนตรา” มีการสร้างสินค้าที่พัฒนาตัวจากตัวละครเอกด้วย โดยร่วมงานกับบริษัท 2SPOT Communications โดยสินค้ามีทั้ง เสื้อยืด กระเป๋า ตุ๊กตา การ์ดเกม และยังมีความร่วมมือกับยาดมหงส์ไทยในการใช้ภาพตัวละครมาออกแบบแพ็กเกจของยาดมหงส์ไทยรุ่นพิเศษอีก รวมถึงอนุญาตให้หน่วยงานกระทรวงต่างๆ ในประเทศไทยใช้ตัวละครของนักรบมนตราไปใช้งานได้ เป็นการต่อยอดให้คนรู้จักตัวละครมากขึ้นและสามารถต่อยอดสร้างรายได้จากสร้าง IP ตรงนี้ให้เกิดคุณค่าในกลุ่มลูกค้า สร้างเป็น Community คนรักนักรบมนตรา ในอนาคตอาจมีการพัฒนากาชาปองสุ่มเพื่อเพิ่มความน่าสนใจในสินค้าอีกด้วย
ตุลย์-วีรภัทร กล่าวเสริมว่า “เรามีแผนจะพัฒนางานต่อไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลุ่มผู้ชมรู้สึกผูกพันกับตัวละคร เหมือนกับเรื่อง 'Harry Potter' ที่ผู้ชมเติบโตไปพร้อมกับตัวละคร แอนิเมชันไทยที่ผ่านมามันทำแล้วจบไป แต่เรามองว่าเราต้องทำแล้วไม่จบ ต้องมีความต่อเนื่องเพื่อให้ชนะใจผู้ชมได้ในระยะยาว”
ทั้งนี้นักรบมนตรา : ตำนานแปดดวงจันทร์ แอนิเมชันที่สร้างจาก Passion และความตั้งใจของผู้สร้างที่อยากจะพัฒนาแอนิเมชันไทยให้ไปไกลในระดับสากลและนำเสนอ Soft-Power แบบไทยๆ ที่ไม่น่าเบื่อไปสู่สายตาชาวโลก
“ขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมสนับสนุนแอนิเมชันฝีมือคนไทยได้ตั้งแต่วันนี้ และไปพิสูจน์กันว่าแอนิเมชันฝีมือคนไทยก็ 'มีดีไม่แพ้ใคร' ได้ทุกโรงภาพยนตร์”