In Bangkok

กทม.พัฒนาใช้ Traffy​ Fondue Plus ​เตือนภัยฉุกเฉินให้คนกรุง-นักท่องเที่ยว



กรุงเทพฯ-(16 ต.ค.66)​ หน้าห้องนพรัตน์​ ชั้น​ 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร​ : นายชัชชาติ​ สิทธิพันธุ์​ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​ กล่าวถึงกรณีความคืบหน้าในการเตือนเหตุฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่ห้างสยามพารากอน ว่า​ ระบบการเตือนภัยดังกล่าวอยู่ในการกำกับดูแลของกสทช. ที่ควบคุมเรื่อง Operator ต่าง​ ๆ​ โดยในส่วนของกทม.เองกำลังพัฒนาในเรื่องของ​ Traffy​ Fondue Plus​ ที่เป็น Application แจ้งเหตุต่างๆ​ โดยประชาชน​ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียน​ Traffy​ Fondue​ กทม.​อยู่กว่า 4 แสนคน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราส่วนที่มากเมื่อเทียบกับประชากรตามทะเบียนราษฎร์ กว่า 5 ล้านคน ซึ่งกทม.กำลังพัฒนา Traffy​ Fondue Plus​ ให้มีส่วนของเมนู​ "รับข่าวสารเตือน" ซึ่งประชาชนสามารถคลิกเพื่อรับข่าวสารและแจ้งเหตุ โดยสามารถเลือกพื้นที่ที่ต้องการแจ้งเหตุได้และส่งข้อมูลให้กทม.รับทราบ​ ซึ่งระบบดังกล่าวกทม.มีความพร้อมด้านซอฟต์แวร์ในการส่งข้อความแจ้งเหตุต่างๆไปให้สมาชิกที่ต้องการรับทราบครบถ้วนแล้ว ขณะนี้เหลือเพียงการพูดคุยเรื่องค่าใช้จ่าย​ เนื่องจากการส่งข้อความดังกล่าว ต้องส่งผ่าน Application อื่น​ อาทิ LINE​ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 4 สตางค์ต่อ 1 ข้อความ จึงอยู่ระหว่างพูดคุยกับกสทช.ในเรื่องค่าใช้จ่ายดังกล่าว​ ซึ่งหากสำเร็จจะเป็นต้นแบบ ในการนำ​Traffy​ Fondue​ มาให้ประชาชนเลือกรับข่าวสารฉุกเฉินและแจ้งเหตุฉุกเฉินได้ รวมถึงสภาพอากาศ​ สภาพการจราจร

นายศานนท์​ หวังสร้างบุญ​ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​ กล่าวเสริมว่า​ นอกจากนี้ยังมีอีก 1 เวอร์ชั่นสำหรับนักท่องเที่ยว​ คือ Traffy​ Fondue ภาษาอังกฤษ เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวที่ต้องการร้องเรียน เรื่องแท็กซี่ผี ไกด์ผี​ การถูกโกง และความไม่สะดวกในการท่องเที่ยว​ ซึ่งกทม.จะแนะนำนักท่องเที่ยวในรูปแบบ QR Code​ ในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ​ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้แจ้งข้อมูลเข้าถึงสู่เว็บ Database ของกทม.​ เป็นอีกช่องทางสื่อสารกับนักท่องเที่ยว ซึ่งกทม.จะเริ่มดำเนินการก่อน ทราบผลจากการพูดคุยกับกสทช.

ด้าน​ รศ.ทวิดา​ กมลเวช​ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​ กล่าวว่า กทม.ได้ไปหารือกับทางกสทช.ที่เคยศึกษาเรื่องทางเทคนิคไว้ก่อนแล้วและมีข้อมูลในการเปรียบเทียบกับระบบที่ใช้กันอยู่ในประเทศต่างๆ​ และจะนำมาใช้ในประเทศไทย​ โดยได้ตั้งคณะทำงานร่วมกันเป็นคณะเล็ก​ ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการประเมินความสามารถทางเทคนิคของระบบ​ในการเตือนภัยว่าควรทดลองในพื้นที่ใด​ ซึ่งคาดว่ากลางเดือนมกราคมปีหน้าจะสามารถทดลองส่งข้อความเตือนภัยให้ประชาชนได้​ โดยจะเน้น ข้อความการเตือน Emergency alert หรือการเตือนฉุกเฉิน​ ให้ขึ้นข้อความเตือนภัยทันทีก่อน ข้อความเตือนภัยล่วงหน้า ซึ่งมีความแตกต่างกัน เพราะการเตือนภัยฉุกเฉิน ต้องมีความระมัดระวังในข้อความที่สื่อสาร และมีความพร้อมรองรับสถานการณ์ในพื้นที่​ จึงต้องใช้เวลาในการพัฒนา ออกแบบ​ ปรับปรุง และเตรียมความพร้อมระบบเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด