In Bangkok

'จักกพันธุ์'ติดตามในพื้นที่เขตหนองแขม ตรวจBMA-TAX/แยกขยะ/สวนริมคลอง



กรงเทพฯ-ลดขั้นตอนงานทะเบียนบัตร ติดตามระบบ BMA-TAX แยกขยะเขตหนองแขม สำรวจ Hawker Center ตลาดครอบครัว ส่องสวนริมคลองภาษีเจริญ เช็กค่าฝุ่นจิ๋ว Boiler โรงงานภาชนะเคลือบ ชมคัดแยกขยะโรงเรียนประชาบำรุง จัดระเบียบผู้ค้าหน้าหมู่บ้านหรรษา 

(17 ต.ค.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตหนองแขม ประกอบด้วย 

ตรวจเยี่ยมการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตหนองแขม โดยได้สอบถามเกี่ยวกับจำนวนประชาชนที่มาใช้บริการงานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน ภาพรวมของระยะเวลาในการให้บริการประชาชน ตั้งแต่กดรับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนทั้งหมด ไม่รวมเวลารอคอย ซึ่งควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที โดยขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนที่มารับบริการในแต่ละวัน ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า ประสิทธิภาพของระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ใช้ปฏิบัติงาน โดยให้เขตฯ พิจารณาลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันออกไป เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้รับบริการด้วยความรวดเร็ว 

ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ การบันทึกข้อมูลรายการผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ รวมถึงให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่าง ๆ เน้นย้ำการปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งเขตฯ มีที่ดิน 66,143 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 57,470 แห่ง ห้องชุด 5,995 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 129,608 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว 

พร้อมกันนี้ได้สอบถามเกี่ยวกับการคัดแยกขยะ ภายในอาคารสำนักงานเขตหนองแขม มีข้าราชการและบุคลากร 726 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ตั้งวางถังขยะแยกประเภทแต่ละชั้นภายในอาคาร โดยแม่บ้านแต่ละชั้นคัดแยกและรวบรวมจำหน่ายเป็นรายได้ของแม่บ้าน 2.ขยะอินทรีย์ ตั้งวางถังขยะแยกประเภทแต่ละชั้นภายในอาคาร รวมทั้งตั้งวางถังแยกขยะเศษอาหาร โดยมีเจ้าหน้าที่เก็บขยะเศษอาหาร นำไปใส่ในถังผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และใส่ในถังหมักรักษ์โลก สำหรับปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้ เขตฯ ได้บรรจุใส่ถุงแจกจ่ายให้กับประชาชนนำไปใช้ประโยชน์ 3.ขยะอันตราย ตั้งวางถังขยะแยกประเภทเพื่อรองรับขยะอันตราย โดยแม่บ้านแต่ละชั้นจะรวบรวมและนำมาทิ้งจุดที่กำหนด 4.ขยะทั่วไป ตั้งวางถังขยะแยกประเภทแต่ละชั้นภายในอาคาร สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 120 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 40 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 2.6 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 2.3 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 2 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 1.6 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 0.5 กิโลกรัม/วัน 

สำรวจพื้นที่ Hawker Center บริเวณตลาดครอบครัว ถนนเพชรเกษม 81 ที่ผ่านมาเขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ว่างที่มีความเหมาะสมหรือตลาดนัดเอกชน เพื่อจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้ซื้อ อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ จากการสำรวจพบว่ามีพื้นที่เหมาะสม จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.ศูนย์อาหารโรงไม้ 110 ถนนเพชรเกษม รองรับแผงค้าได้ 250 แผง ปัจจุบันยังไม่มีผู้ค้าเข้าไปจำหน่ายสินค้า 2.ตลาดครอบครัว ถนนเพชรเกษม 81 รองรับแผงค้าได้ 200 แผง จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่ตลาดกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำเป็น Hawker Center พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับผู้ค้าให้ย้ายเข้ามาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดทำเป็น Hawker Center ต่อไป

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนประชาบำรุง ถนนเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งเหนือ พื้นที่ 3 ไร่ 3 งาน 49 ตารางวา มีครู บุคลากร และนักเรียน 1,211 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2565 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะอินทรีย์และขยะเศษอาหาร โดยมีการจดบันทึกน้ำหนักสถิติทุกวัน ประสานเกษตรกรในพื้นที่มารับขยะเศษอาหารเพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์ นำขยะอินทรีย์ (ใบไม้) และขยะเศษอาหารมาผลิตปุ๋ยหมักและน้ำขยะหอม 2.ขยะรีไซเคิล ตั้งวางจุดรับทิ้งขยะรีไซเคิลประเภทขวดน้ำพลาสติกตามจุดต่าง ๆ เพื่อสะดวกต่อการนำมาทิ้งและจัดเก็บ ตั้งวางจุดแยกขยะภายในห้องเรียน ได้แก่ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล (ขวดน้ำ กระดาษ) คัดแยกกล่องนมโรงเรียน (ตัด ล้าง ตาก) คัดแยกขยะพลังงาน (RDF) / ขยะกำพร้า เพื่อนำไปผลิตพลังงาน โดยเจ้าหน้าที่เขตฯ เข้ามารับ โครงการธนาคารขยะภายในโรงเรียน ส่งเสริมให้มีการบูรณาการเรื่องการจัดการขยะในกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ของนักเรียน 3.ขยะทั่วไป ตั้งวางจุดรวบรวมทิ้งขยะภายในโรงเรียน เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บขยะ 1 ครั้ง/เดือน 4.ขยะอันตราย มีจุดรวบรวมขยะอันตราย และแจ้งเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 200 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 50 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 2 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 13 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 55 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0.5 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 0.5 กิโลกรัม/วัน 

สำรวจสวน 15 นาที ริมคลองภาษีเจริญ หลังโรงเรียนประชาบำรุง พื้นที่ 100 ตารางวา ซึ่งเขตฯ ได้จัดทำเป็นสวน 15 นาที จุดเช็คอินริมคลองภาษีเจริญ เพื่อให้ประชาชนนั่งเล่นพักผ่อน ชื่นชมบรรยากาศริมคลองภาษีเจริญ ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ดำเนินการจัดทำสวน 15 นาที แล้วเสร็จ 4 แห่ง ได้แก่ 1.สวนปากซอยเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งใต้ 5/2 (ซอยจันทร์จรัส) พื้นที่ 100 ตารางวา เป็นพื้นที่ที่มีผู้บริจาคให้กรุงเทพมหานคร 2.ที่ว่างบริเวณใต้สะพานข้ามคลองกำนันเทียน ถนนพุทธมณฑลสาย 3 พื้นที่ 875 ตารางวา โดยพัฒนาเพิ่มพื้นที่สีเขียว จุดชมวิว และพื้นลาดยาง เพื่อให้ประชาชนออกกำลังกายและนั่งเล่นพักผ่อน 3.วัดวงษ์ลาภาราม พื้นที่ 100 ตารางวา พัฒนาพื้นที่สวนหน้าอุโบสถวัด ปลูกไม้ประดับ จุดนั่งพักให้ประชาชนในชุมชนได้มาใช้ประโยชน์และพักผ่อนหย่อนใจ 4.วัดทองเนียม พื้นที่ 100 ตารางวา ปรับปรุงพื้นที่สวนป่า เพิ่มเก้าอี้เป็นจุดนั่งพักเพื่อให้ประชาชนรอใส่บาตร 

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท โรงงานอุตสาหกรรมภาชนะเคลือบ จำกัด ถนนเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งเหนือ ซึ่งประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภท การผลิตภาชนะด้วยโลหะ (การผลิตภาชนะเคลือบ เช่น ปิ่นโต ถ้วย ถาด จาน) ลักษณะของสถานประกอบการมีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) ขนาดเล็ก 1 ตัน ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง แรงดันประมาณ 4.5 บาร์ อุณหภูมิที่ใช้ในการต้มน้ำ 90 องศาเซลเซียส (ใช้สำหรับล้างคราบน้ำมันบนชิ้นงาน) มีกระบวนการผลิตที่อาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ โดยตัดเหล็ก ขึ้นรูปชิ้นงาน นำชิ้นงานขึ้นรูปไปล้างทำความสะอาด (ใช้หม้อไอน้ำความร้อนไม่เกิน 100 องศาเซลเซียส) ตากให้แห้ง นำไปเคลือบ ผ่านเตาอบ บรรจุภัณฑ์จำหน่าย นอกจากนี้ เขตฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทหล่อหลอมโลหะ ประเภทคอนกรีตผสมเสร็จ ประเภทกิจการที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boilers) ประเภทการต่อ ประกอบ เคาะ ปะผุ พ่นสี หรือพ่นสารกันสนิมยานยนต์ โรงงานจำพวกที่ 2 และ 3 ที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ โดยกำชับให้สถานประกอบการในพื้นที่ปฏิบัติตามแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างเคร่งครัด เน้นย้ำผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดมลพิษทางอากาศร่วมกันลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

ตรวจความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าหมู่บ้านหรรษา ถนนเพชรเกษม เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 246 ราย ได้แก่ 1.หน้าบริษัท นันยาง จำกัด ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 25 ราย 2.หน้าบริษัท อุตสาหกรรมท่อน้ำไทย จำกัด ถนนเลียบคลองทวีวัฒนา ผู้ค้า 14 ราย 3.หน้าหมู่บ้านหรรษา ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 109 ราย 4.ปากซอยเพชรเกษม 79 ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 19 ราย และ 5.หน้าศูนย์การค้าหนองแขม ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 79 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ทำการค้า กวดขันผู้ค้าไม่ให้มีการตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้เก็บสิ่งของและทำความสะอาดพื้นที่ เมื่อเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่ 

ในการนี้มี นางมณีวรรณ ศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการเขตหนองแขม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตหนองแขม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล