EDU Research & ESG

วิโรจน์ คงปัญญาปราชญ์ต้นแบบสัมมาชีพ สร้างชุมชนเข้มแข็งด้วย‘การออม'



ผลงานส่งเสริมการออมอย่างเป็นระบบ จนทำให้ชุมชนสามารถ “แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ” ขยายสู่การ “สร้างอาชีพ” “สร้างสวัสดิการชุมชน” เป็นต้นแบบของกลุ่มออมทรัพย์ที่สร้างประโยชน์หลายด้าน ทำให้ “วิโรจน์ คงปัญญา” ได้รับการเชิดชูเกียรติจากมูลนิธิสัมมาชีพเป็น“ปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ” ประจำปี 2566 ด้วยผลงานด้านการเงินและสวัสดิการชุมชน

“การออม” ถือเป็นแนวทางสำคัญตามหลักสัมมาชีพที่ว่าด้วยการประกอบอาชีพสุจริต มีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ ไม่เบียดเบียนตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม เหมือนอย่างที่  “วิโรจน์ คงปัญญา” ประธานวิสาหกิจชุมชนกองทุนออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา อำเภอพรหมคีรี  จังหวัดนครศรีธรรมราช ยึดถือ

เขามีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ชุมชนดังกล่าวมีการออมอย่างเป็นระบบและ“ริเริ่ม”ผลักดันนโยบายของกลุ่มออมทรัพย์ ให้พัฒนาจากการออมทรัพย์เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไปสู่การสร้างความสามารถในการผลิตและสวัสดิการชุมชน

“คิดค้น”วิธีการบริหารระบบการเงิน การให้เงินกู้ การติดตามสมาชิก มีระบบบัญชีที่ได้รับมาตรฐาน  ขยายสู่การพัฒนาอาชีพที่มั่นคง สร้างเศรษฐกิจที่หลากหลายให้กับชุมชน ขยายสมาชิกกลุ่มไปสู่พื้นที่ในอำเภออื่นๆ

ประการสำคัญ สามารถดำเนินการมาได้อย่างมั่นคงเป็นเวลาราว 40 ปี จนถือเป็นโมเดลการบริหารกลุ่มออมทรัพย์

ได้รับการยกฐานะเป็นโรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์ “แห่งแรก” และ “แห่งเดียว” ในพื้นที่ภาคใต้ จากกรมพัฒนาชุมชนตั้งแต่ปี 2554เพื่อเป็นพื้นที่ถ่ายทอดโมเดลการบริหารกลุ่มออมทรัพย์ให้กับเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์ 14 จังหวัดภาคใต้ โดยเปิดอบรมปีละ 1 ครั้ง 

จากศักยภาพในการจัดการเงินออมของชุมชน “วิโรจน์” ยังได้ขยายสู่การเชื่อมโยงในด้านต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ สวัสดิการการศึกษา สุขภาพ เพื่อเป็นหลักประกันให้สมาชิก จนถือเป็นชุมชนต้นแบบในการดูแลตนเองอีกแห่งหนึ่ง

ย้อนกลับไปถึงเหตุที่ทำให้ “วิโรจน์” เกษตรกรชาวสวนยางพาราและสวนผลไม้ เห็นความสำคัญในการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ก็เนื่องจาก “บ้านดอนคา” เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองนครศรีธรรมราชประมาณ 38 กิโลเมตร ปัญหาระยะทาง ทำให้แม้ชุมชนจะพอมีเงินเก็บออม แต่ไม่สะดวกที่จะเดินทางไปฝากเงินกับธนาคาร ประกอบกับในปี 2526 มีตัวอย่างการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นในหมู่บ้านใกล้เคียง คือ “บ้านอ้ายเขียว” จึงเป็นแรงจูงใจให้ “บ้านดอนคา”  ริเริ่มที่จะจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ด้วยเช่นกัน

จากสมาชิกเริ่มแรก 37 คน เงินสะสมก้อนแรก 2,857 บาท จัดตั้งเป็น "กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา" เมื่อ 4 เมษายน 2526 โดยใช้ศาลาข้างทางเป็นที่ทำการ กลุ่มออมทรัพย์ที่ดำเนินการกันเองโดยชาวบ้านได้ขยายตัวขึ้น และ “วิโรจน์” ได้เข้ามาเป็นประธานกลุ่มคนที่ 3 จัดตั้งเป็น "วิสาหกิจชุมชนกองทุนออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา"ขึ้น เมื่อ 19 ธันวาคม 2548พร้อมดำรงตำแหน่งประธานวิสาหกิจชุมชนฯต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนกองทุนออมทรัพย์ฯ แห่งนี้ มียอดเงินฝาก (ม.ค.-ต.ค.2566)ราว 150 ล้านบาท มีกำไรจากการบริหารจัดการและกิจการอื่นๆในแขนงของกลุ่มประมาณปีละ 10 ล้านบาท มีสมาชิกกว่า 14,000 คน และบริหารจัดการสาขาในอีกสอง 2 อำเภอ คือ อำเภอนบพิตำและอำเภอท่าศาลา

ในฐานะประธานกลุ่มฯ “วิโรจน์” ถือเป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนผลักดันนโยบาย เพื่อสร้างรูปแบบการทำงานของกลุ่มออมทรัพย์ที่ได้มาตรฐาน จากเดิมที่ชุมชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ด้านการบริหารจัดการการออม เขาได้จัดให้มีมาตรฐานระบบบัญชีที่เป็นสากล จ้างผู้ตรวจสอบบัญชีมาตรวจสอบ นำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการรวบรวมข้อมูล และมีความโปร่งใสในทุกเดือนจะแสดงสถานะบัญชีให้สมาชิกรับรู้ทั่วกัน

สิ่งเหล่านี้ทำให้การดำเนินการเติบโตแบบก้าวกระโดด นำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้สมาชิก ทั้งด้านการให้เงินกู้ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ การนำเงินออมไปลงทุนเพื่อสร้างรายได้การจัดสวัสดิการในระดับปัจเจก ครัวเรือนและชุมชน

โดยวิสาหกิจฯแห่งนี้จัดระบบการระดมเงินและการกู้ยืมของสมาชิกให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการใช้จ่ายของสมาชิกซึ่งเป็นคนในภาคชนบทแทนการกู้เงินนอกระบบที่ดอกเบี้ยสูง

ประกอบด้วย เงินกู้สำหรับการประกอบอาชีพ เช่น วัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตร,เงินกู้เพื่องานพิธีกรรม เช่น งานบวช แต่งงาน, เงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน และเงินกู้เพื่อซื้อสินค้าอุปโภค เช่น มอเตอร์ไซค์ ทีวี รถยนต์

สำหรับการกู้เงินเพื่อกรณีต่างๆ วิสาหกิจฯ จะกำหนดงวดการชำระคืนพร้อมคุณสมบัติเบื้องต้นว่าด้วยการออม และประเภทของการกู้ยืม เช่น กรณีกู้ยืมฉุกเฉิน (ซึ่งมีวงเงิน ไม่เกิน 3,000 บาท สมาชิกจะค้ำประกันด้วยสมุดเงินฝาก) กรณีการกู้สามัญ จะต้องมีสมาชิก 2 คนค้ำประกัน และบางกรณีจะต้องมีหลักทรัพย์ประกอบ

แต่หากเป็นการกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน จะเป็นการกู้แบบจำนอง คือ วิสาหกิจเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นก่อนแล้วให้สมาชิกผ่อนชำระตามวิธีการของการออม/การชำระคืน

วิสาหกิจแห่งนี้ได้จัดวางมาตรการในการติดตามหนี้ในกรณีที่สมาชิกขาดส่งเงินตามกำหนด โดยกำหนดมาตรการไว้ 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย การส่งจดหมายเตือน การให้กรรมการติดตาม การให้ทนายแจ้งเป็นหนังสือ การให้ทนายความเจรจาตกลง และดำเนินฟ้องคดีต่อศาล

ปรากฏว่า ตั้งแต่มีการจัดตั้งกลุ่ม มีผู้ที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนเหล่านี้ทั้งสิ้น 65 ราย แต่ไม่มีรายใดที่จะต้องอาศัยการตัดสินโดยศาล

นอกเหนือจากวางระบบการกู้ยืมเงินที่ประสิทธิภาพแล้ว วิสาหกิจฯ บ้านดอนคา ยังได้จัดสรรเงินมาลงทุน ซึ่งถือเป็นการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับชุมชน เช่น การร่วมลงทุนและร่วมบริหารในกิจการโรงแป้งขนมจีน, การร่วมลงทุนกับเทศบาลตำบลทอนหงส์ ในกิจการโรงปุ๋ยชีวภาพ, การร่วมลงทุนกับกลุ่มเกษตรกรในกิจการโรงรมยางพาราและอบแห้ง เป็นต้น

ด้านสวัสดิการแก่สมาชิกจะมีครอบคลุมตั้งแต่สวัสดิการคลอดบุตร ทุนการศึกษาให้เยาวชน สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล สวัสดิการบำเหน็จผู้ชรา สวัสดิการกรณีสมาชิกเสียชีวิต พิธีฌาปนกิจศพ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการปันผล การร่วมพัฒนาสร้างสาธารณประโยชน์ให้แก่ชุมชนอีกด้วย ในการจัดสรรกำไร จะแบ่งออกเป็นกรณีต่างๆ โดยเป็นการปันผลต่อสมาชิกตามการถือหุ้น 60 % เป็นสวัสดิการสำหรับสมาชิก 20 % ตอบแทนกรรมการ 10 % สำรองตามกฎหมาย 5 % และเป็นกำไรสะสมที่สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อการลงทุนต่างๆ 5 %

หลักการบริหารจัดการวิสาหกิจฯ กลุ่มออมทรัพย์ของ “วิโรจน์” มี 5 ประการ คือ

1.การเคารพและปฏิบัติตามกฎ ระเบียบและข้อบังคับที่สมาชิกได้กำหนดขึ้นร่วมกัน

2.คณะกรรมการบริหาร เปิดโอกาสให้สมาชิกเข้ามาร่วมตัดสินใจในประเด็นสำคัญ เช่น การจ่ายเงินปันผลจากกำไรการร่วมลงทุนในกิจการต่างๆในนามวิสาหกิจ

3.สร้างการตระหนักในการประหยัดอดออม การเคารพในสัจจะและคำสัญญาที่จะต้องซื่อสัตย์ต่อตนเองและคำนึงถึงเพื่อนสมาชิก รวมทั้งลดการพึ่งพาแหล่งภายนอก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเงินกู้ตามกำหนดทุกวันที่ 3 – 4 ของเดือน

4.ยึดหลักคุณธรรม 5 ประการ คือ ซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต่อองค์กร, เสียสละต่อเพื่อนสมาชิก, ร่วมรับผิดชอบต่อองค์กร สมาชิก และเพื่อนร่วมงาน,คำนึงถึงชีวิตในอนาคตของเพื่อนสมาชิก เพื่อนร่วมงาน และผู้ยากลำบาก และยึดมั่นในหลักการเกื้อกูล

5. การควบคุมกันเองและการตรวจสอบได้

การบริหารงาน 5 ประการ ซึ่งรวมเอาหลักคุณธรรม 5 ประการมารวมไว้ด้วยนั้น ถือเป็นกลไกการบริหารที่บ่งชี้ถึงการคำนึงถึงหลักสัมมาชีพของ “วิโรจน์ คงปัญญา”

ที่ถือเอาการประพฤติปฏิบัติชอบในการประกอบอาชีพเป็นหลักการสำคัญ

ทำให้กลุ่มออมทรัพย์บ้านดอนคา จากที่มีขึ้นเพื่อการออมทรัพย์เสมือนมีธนาคารเป็นของตนเองในชุมชนเติบโตไปสู่การสร้างกิจการต่างๆที่ตอบสนองต่อสมาชิก และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาชุมชนในที่สุด

จนกลายเป็นโมเดลสร้างชุมชนเข้มแข็งจากการออมและ ครอบคลุมพื้นที่อื่นๆในภาคใต้