In Bangkok
'จักกพันธุ์'ลงพื้นที่ติดตามงานเขตดุสิต สำรวจสวนริมทางรถไฟ-แยกขยะ-ดูผู้ค้า
กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯกทม.เดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพงานบริการทะเบียนบัตร ติดตามระบบ BMA-TAX แยกขยะเขตดุสิต สำรวจสวนริมทางรถไฟสวนจิตรลดาและข้างตลาดมหานาคซอยลูกหลวง 2 จัดระเบียบผู้ค้าริมคลองผดุงกรุงเกษม ชมคัดแยกขยะมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
(20 ต.ค.66) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตดุสิต ประกอบด้วย
ตรวจเยี่ยมการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตดุสิต ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สอบถามถึงภาพรวมของระยะเวลาในการให้บริการประชาชน ตั้งแต่กดรับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนทั้งหมด ไม่รวมเวลารอคอย ซึ่งควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที โดยขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนที่มารับบริการในแต่ละวัน ประสิทธิภาพของระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ใช้ปฏิบัติงาน ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า โดยมอบหมายให้เขตฯ พิจารณาลดขั้นตอนการทำงานบางอย่างเข้าด้วยกัน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มารับบริการงานทะเบียน นอกจากนี้ เขตฯ ได้ขยายเวลาให้บริการงานทะเบียน วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00-18.00 น. วันเสาร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.00-16.00 น. ส่วนการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ เขตฯ มีที่ดิน 7,415 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 30,827 แห่ง ห้องชุด 1,468 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 39,710 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว
พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตดุสิต มีข้าราชการและบุคลากร 934 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล แต่ละฝ่ายจัดเก็บรวบรวมและรับซื้อตามโครงการธนาคารขยะ รถเก็บขนมูลฝอยคัดแยก 2.ขยะอินทรีย์ แต่ละฝ่ายทำการคัดแยกตามโครงการไม่เทรวม 3.ขยะอันตราย รวบรวมทิ้งลงถังคัดแยกมูลฝอยอันตราย 4.ขยะทั่วไป ทิ้งรวมตามจุดที่กำหนดเพื่อรอการจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 2,135 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 2,070 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 60 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 0.2 กิโลกรัม/เดือน
สำรวจพื้นที่ว่างบริเวณสวนริมทางรถไฟสวนจิตรลดา ถนนสวรรคโลก พื้นที่ 8,000 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยเขตฯ ได้ประสานขอใช้ที่ดินเพื่อจัดทำสวน 15 นาที สวนสาธารณะแห่งใหม่ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวใกล้บ้านได้ภายใน 15 นาที หรือระยะทางในการเดิน 800 เมตร โดยเขตฯ ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ ตัดแต่งต้นไม้ จัดทำป้ายชื่อสวน ปรับปรุงสะพาน และออกแบบสวนเพิ่มเติม ส่วนพื้นที่ว่างบริเวณที่รกร้างตลาดมหานาค ซอยลูกหลวง 2 พื้นที่ 1,600 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์เป็นของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ในเบื้องต้นสำนักงานทรัพย์สินฯ เห็นชอบในหลักการให้ใช้พื้นที่บริเวณด้านในอาคารซอยลูกหลวง 2 เพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะชั่วคราว ระหว่างรอการพัฒนาพื้นที่ ขณะนี้ได้ดำเนินการออกแบบและวางผัง เพื่อแจ้งรายละเอียดแก่สำนักงานทรัพย์สินฯ ต่อไป
ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้า บริเวณตลาดริมคลองผดุงกรุงเกษม (มหานาค) เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าทั้งหมด 12 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 1,174 ราย ประกอบด้วย 1.พื้นที่ทำการค้าในจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 480 ราย ดังนี้ 1.หน้าตลาดศรีย่าน ตั้งแต่หน้าห้างเอดิสัน ถึงแยกศรีย่าน ถนนสามเสน ผู้ค้า 33 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. และตั้งแต่แยกศรีย่าน ถึงปากซอยศรีย่าน 1 ถนนนครไชยศรี ผู้ค้า 81 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. 2.ตรงข้ามกรมชลประทาน ถนนสามเสน ตั้งแต่ปากซอยสามเสน 20 ถึงแยกศรีย่าน ผู้ค้า 84 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-15.00 น. 3.ตรงข้ามตลาดศรีย่าน ถนนนครไชยศรี ตั้งแต่แยกศรีย่าน ถึงหน้าบ้านเลขที่ 401/5 ผู้ค้า 59 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. และผู้ค้า 32 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-02.00 น. 4.หน้าตลาดราชวัตร ตั้งแต่หน้ากรมสรรพสามิต ถึงหน้าบ้านเลขที่ 1376 ผู้ค้า 105 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. และหน้าบ้านเลขที่ 757 ถึงปากซอยมิตรอนันต์ ผู้ค้า 28 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-24.00 น. 5.ข้างวัดสะพานสูง ถนนพระรามที่ 6 ตั้งแต่ข้างถนนพระรามที่ 6 ตัดถนนเตชะวณิช ถึงกองซ่อมประปาบางชื่อ (บริเวณบ้านเลขที่ 268/2) ผู้ค้า 58 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 24.00-06.00 น. 2.พื้นที่ทำการค้าจุดทบทวน 3 จุด รวมผู้ค้า 363 ราย ดังนี้ 1.ข้างกระทรวงศึกษาธิการ ถนนพิษณุโลก ผู้ค้า 193 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 2.หน้าตลาดเทวราช ประกอบด้วย ฝั่งถนนพิษณุโลก ผู้ค้า 23 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ฝั่งถนนสามเสน ผู้ค้า 42 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ฝั่งถนนลูกหลวง ผู้ค้า 27 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. 3.ถนนสังคโลก (Hawker center) ผู้ค้า 78 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-17.00 น.
3.พื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้า 331 ราย ดังนี้ 1.จุดประชาวิวัฒน์ ถนนพระรามที่ 5 ตั้งแต่ปากซอยระนอง 1 ถึงปากซอยระนอง 2 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 2.หน้าวัดธรรมาภิรตาราม (วัดสะพานสูง) ตั้งแต่ถนนพระรามที่ 6 ถึงทางเข้ากรมช่างอากาศอำรุง ผู้ค้า 77 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 04.00-09.00 น. 3.ถนนคลองลำปัก ตั้งแต่ปากซอยคลองลำปัก ถึงต้นโพธิ์ ผู้ค้า 228 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 02.00-08.00 น. 4.หน้าวัดแก้วฟ้าจุฬามณี ถนนทหาร ตั้งแต่หน้าศูนย์ราชการเกียกกาย ถึงหน้าวัดแก้วฟ้าจุฬามณี ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าไม่ให้มีการตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้าหรือเกินแนวเส้นที่กำหนด รวมถึงขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน พร้อมทั้งพิจารณาพื้นที่ว่างที่เหมาะสมหรือตลาดนัดเอกชน เพื่อจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ ที่สำคัญผู้ค้าและประชาชนสามารถใช้ทางเท้าร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต พื้นที่ 37 ไร่ ประชากร 20,000 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ มีการคัดแยกโดยแม่บ้าน นักศึกษา และคนงานเก็บขน 2.ขยะรีไซเคิล มีการคัดแยกโดยแม่บ้าน นักศึกษา และคนงานเก็บขน 3.ขยะทั่วไป กำหนดจุดทิ้งรวม โดยเขตฯ จัดเก็บทุกวัน 4.ขยะอันตราย รวบรวมทิ้งจุดโรงพักขยะ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 36,000 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 32,470 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 300 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 3,200 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 30 กิโลกรัม/เดือน
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นางสาวรุจิรา อารินทร์ ผู้อำนวยการเขตดุสิต พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตดุสิต สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล