In News

รัฐฯจัดทำแผนพัฒนาทักษะทางการเงิน รับก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์



กรุงเทพฯ-“รัดเกล้า” เผย รัฐบาล โดย ก.คลัง จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน และนโยบายสร้างรายได้ ลดรายจ่าย และเสริมทักษะเพื่อช่วยไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ และเพิ่มวินัยทางการเงินให้คนไทยทุกช่วงวัย

 

วันนี้ (21 ต.ค. 66) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากรที่กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ และรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในสังคมที่มีความเป็นบริโภคนิยมมากขึ้น ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายหลักของประเทศไทย ซึ่งหากขาดการวางแผนที่ดีและการร่วมมือกันแก้ปัญหาจากหลากหลายภาคส่วน ความท้าทายนี้สามารถนำไปสู่ปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว รวมถึงปัญหาด้านการเงินได้

รัฐบาล โดย กระทรวงการคลังได้จัดทำ แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565-2570 เพื่อกำหนดกรอบนโยบายและกลไกการบูรณาการเพื่อพัฒนาทักษะทางการเงินของประเทศไทย โดยแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว ครอบคลุมประชาชนไทยทุกช่วงวัย โดยได้ระบุกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับการพัฒนาทักษะทางการเงินอย่างเร่งด่วน เนื่องจากความรุนแรงของสภาพปัญหา ได้แก่ กลุ่มผู้มีความเปราะบางทางการเงินสูง ประกอบด้วย ผู้ประสบปัญหาภาวะหนี้รุนแรงและปัญหาความยากจน กลุ่มผู้พิการ กลุ่มประชาชนระดับฐานราก กลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้สูงวัย

นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้ดำเนิน (1) นโยบายสร้างรายได้ เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และปรับฐานเงินเดือนคนจบปริญญาตรีภายในปี พ.ศ. 2570 อีกทั้ง มีนโยบายสนับสนุน Soft Power และในกลุ่มของเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย (2) นโยบายลดรายจ่าย เช่น การพักหนี้เกษตรกร และการลดค่าพลังงาน (3) นโยบายเสริมทักษะ อาทิ มาตรการทางเศรษฐกิจแบบเจาะจงตามความเหมาะสมกับปัญหาของพื้นที่หรือกลุ่มประชาชนหรือที่เรียกว่า Tailor-Made Policy ที่อาศัยประโยชน์จากการพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายและนำส่งความช่วยเหลือได้มากขึ้น ทำให้การจัดสรรงบประมาณที่ภาครัฐมีอยู่อย่างจำกัดเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนไทยมีระดับทักษะทางการเงินที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงินฯ นำไปสู่ระดับทักษะทางการเงินที่เพิ่มขึ้นของประชาชนและนำไปสู่สุขภาวะทางการเงิน (financial well-being) หรือผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะช่วยสร้างความมั่นคงและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงต่อไป

“การผลักดันแผนการและนโยบายเหล่านี้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ต้องอาศัยการบูรณาการการดำเนินงานของหลายภาคส่วน ทั้งระดับบริหาร ไปจนถึงระดับของการรวบรวมและพัฒนาข้อมูลเชิงพื้นที่ จึงจะทำให้เราแก้ปัญหาได้เฉพาะเจาะจง ตรงจุด ตามความเหมาะสม กับความต้องการของแต่ละจุดเริ่มต้นของปัญหาด้านการเงินที่เกิดขึ้นได้ในระดับบุคคล ครัวเรือน อำเภอ และจังหวัดจุดเริ่มต้นของปัญหาด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็นในระดับบุคคล ครัวเรือน อำเภอ และจังหวัด” นางรัดเกล้าฯ กล่าว