Health & Beauty
ทำไมประชากรกลุ่มเสี่ยงจึงเปราะบาง? เตรียมความพร้อมเพื่อดูแลคนที่คุณรัก
สภาพอากาศและความชื้นจากฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องในฤดูกาลนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ เห็นได้ชัดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ที่ตอนนี้ประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อสูงถึงกว่า 138,766 ราย หรือเทียบเป็นอัตราป่วยเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่าเช่นเดียวกับโควิด-19 ที่แม้ปัจจุบันตัวเลขผู้ป่วยสะสมอาจมีจำนวนลดลง แต่เชื้อไวรัสดังกล่าวไม่เคยหายไปและยังพบการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อาจเกิดการติดเชื้อซ้ำได้แม้จะได้รับวัคซีนแล้วก็ตาม โดยเฉพาะกับประชากรกลุ่มเสี่ยง “607” และ “ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง” เพราะมีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อและมีอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไปด้วยสาเหตุจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน
แม้จะเป็นประชากรส่วนน้อย แต่ในประเทศไทยมีกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงจากภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องถึงราว 500,000 คน โดยอาจเกิดจากภาวะทางสุขภาพหรือการรับประทานยาบางชนิดระหว่างกระบวนการรักษา เช่น ยากดภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้ร่างกายตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันได้ไม่เพียงพอ จึงเป็นกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากกว่าคนทั่วไป และยังรวมถึงประชากรกลุ่มเสี่ยง 607 ซึ่งหมายถึงผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวใน 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน
สำหรับคนทั่วไป การป้องกันตนเองด้วยการหมั่นล้างมือ หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด หรือการสวมหน้ากากในที่สาธารณะ อาจช่วยลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยในฤดูกาลระบาดนี้ได้ แต่สำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยง แนวทางดังกล่าวอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถทำหน้าที่ป้องกันและกำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น การฉีดวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกัน เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโควิด-19 จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากสำหรับประชากรกลุ่มนี้ โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนที่การระบาดของโรคติดเชื้อต่างๆ มีอัตราสูงขึ้น
สอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แสดงความกังวลถึงแนวโน้มการระบาดของโควิด-19 ในช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว เนื่องจากพบยอดผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในหลายภูมิภาคทั่วโลก รวมถึงเอเชีย ดังนั้น การเฝ้าระวังการแพร่เชื้อไวรัสยังคงต้องดำเนินต่อไป ประชากรกลุ่มเสี่ยงจึงควรได้รับการเสริมภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการเกิดโรครุนแรง ช่วยลดอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตจากโควิด-19
โดยนอกจากวัคซีนแล้ว ยังมีแนวทางเพิ่มเติมในการป้องกันโควิด-19 สำหรับกลุ่ม 607 และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาทิ การเข้ารับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long-acting Antibody หรือ LAAB) ซึ่งเป็นแอนติบอดีที่สามารถออกฤทธิ์ได้ภายใน 6 ชั่วโมง แตกต่างจากวัคซีนที่ร่างกายจะใช้เวลากระตุ้นภูมิคุ้มกันอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ LAAB จึงเป็นตัวช่วยที่จำเป็นในการเสริมภูมิคุ้มกันควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีน ช่วยให้ผู้ที่ร่างกายตอบสนองต่อวัคซีนได้ไม่เพียงพอพร้อมรับมือกับโควิด-19 ในฤดูกาลระบาดนี้
เป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ที่ผู้คนทั่วโลกต้องปรับตัวใช้ชีวิตร่วมกับโรคระบาด แม้สถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีประชากรอีกหลายคนและหลายครอบครัวที่ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สะท้อนผ่านผลสำรวจในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องและประชากรกลุ่มเสี่ยงสูงในประเทศไทย ซึ่งกลุ่มตัวอย่างราว 60% ได้เผยว่าโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสังคม การทำงาน ไปจนถึงความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิต ดังนั้น การเตรียมความพร้อมให้กับประชากรกลุ่มนี้ด้วยการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน จะช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบจากโรคระบาดทั้งในด้านสุขภาพและสังคมได้