In Bangkok

กทม.จับมือกับเครือข่ายด้านสาธารณสุข มุ่งสิทธิปชช.ผ่านกองทุนหลักประกันฯ



กรุงเทพฯ-(24 ต.ค. 66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมแลกเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ณ ห้องประชุม Rainbow 1 โรงแรมใบหยกสกาย เขตราชเทวี

การประชุมแลกเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานครครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเสริมบทบาทและสร้างโอกาสในการขับเคลื่อนกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร พัฒนารูปแบบวิธีคิดและกรอบการดำเนินงานของกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และพัฒนาความร่วมมือองค์กรภาคีเครือข่าย ในการร่วมเป็นหุ้นส่วนขับเคลื่อนงานกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานครสู่พี่น้องประชาชน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 55 คน ประกอบด้วย กรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร 31 คน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) รวม 19 คน และวิทยากรกระบวนการ 5 คน

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า  กรุงเทพมหานครมีนโยบายที่เร่งด่วนและสำคัญมากอยู่ 2 นโยบาย คือ เรื่องการศึกษาและเรื่องสุขภาพ ซึ่งในส่วนของเรื่องสุขภาพหรือเรื่องของสาธารณสุขนั้น เป็นเรื่องที่เห็นการเปลี่ยนแปลงได้ไม่ง่าย เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริการเป็นส่วนใหญ่ หากไม่เจ็บป่วย ไม่เข้ามาใช้บริการ ก็อาจจะไม่เห็น อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักของกทม. คือ การพัฒนาในเรื่องของปฐมภูมิ โดยให้ความสำคัญกับเส้นเลือดฝอย อาทิ อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) คลินิกชุมชนอบอุ่น ร้านขายยา ตลอดจนให้ความสำคัญกับประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเอง ซึ่งระยะเวลาปีครึ่งที่ผ่านมา กทม.พยายามเชื่อมองคาพยพเหล่านี้ให้รวมกันเป็นหนึ่งให้ได้ 

สำหรับนโยบายของกทม.ที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร จะเป็นนโยบายซึ่งอยู่ในเรื่องของสุขภาพดี จากนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี โดยกทม.มีนโยบายส่งเสริมกลไกภาคประชาชนสุขภาพดีผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีเป้าหมายร้อยละของเงินที่ได้อนุมัติแผนงานหรือโครงการหรือกิจกรรมกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานครเมื่อเทียบกรอบวงเงินที่ได้รับจัดสรรอยู่ที่ ร้อยละ 80 โดยการขับเคลื่อนกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานครในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิจะใช้หลัก 2 ข้อ คือ ประชาชนเป็นศูนย์กลาง (ตอบโจทย์บริการสุขภาพที่หลากหลาย และสร้างศักยภาพในการดูแลตนเอง) และบูรณาการการมีส่วนร่วมของชุมชนทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่ ทั้ง สช. สสส. สปสช. มสพช. (มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน) ตลอดจนเครือข่ายอื่น ๆ อาทิ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ผ่านเครื่องมือสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร พัฒนาประเด็นสาธารณะสู่การปฏิบัติ วิเคราะห์ช่องว่าง หาความร่วมมือที่สร้างสรรค์ เชื่อมโยงกลไกการทำงานจากธรรมนูญสุขภาพชุมชนสู่การปฏิบัติ ส่งเสริมให้รัฐทำงานกับประชาชนอย่างยั่งยืน 

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวถึง “ทิศทางนโยบายของกรุงเทพมหานคร ปี 2567 กับงานการขับเคลื่อนกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร” ว่า  หนึ่งในกลไกของกองทุนหลักประกันสุขภาพคือการขับเคลื่อนในเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพ หรือการมีโครงการที่เกี่ยวกับภาคประชาชนกลุ่มต่าง ๆ อาทิ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มของคุณแม่ตั้งครรภ์ กลุ่มวัยเจริญพันธุ์ ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมากิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มเหล่านี้ในเขตพื้นที่แต่ละพื้นที่ยังมีจำนวนน้อยมาก การที่เรามีงบประมาณในการส่งเสริมสุขภาพแต่กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพยังมีน้อย ทำให้เงินส่วนนี้ไม่เกิดประโยชน์ต่อภาคประชาชนเท่าที่ควร ดังนั้น เงินส่วนนี้จึงควรที่จะมาจัดเป็นกิจกรรมที่ทำให้เงื่อนไขการดำรงชีวิตในเชิงสุขภาพของประชาชนดีขึ้น กทม.จึงเร่งให้เกิดกลไกที่ผนึกกำลังเครือข่ายสุขภาพในระบบ Bangkok Health Zone (โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข ศูนย์บริการสาธารณสุขสาขา ศูนย์สุขภาพชุมชน คลินิกชุมชนอบอุ่น ร้านขายยา) ให้วิ่งเข้ามาหากันเพื่อไปสนับสนุนและเปิดทางให้ภาคประชาชนที่อยากจะทำกิจกรรมสำหรับกลุ่มต่าง ๆ สามารถทำได้มากขึ้น โดยวันนี้เรามี สช. สสส. และมูลนิธิต่าง ๆ มาเป็นกลไกหลักสำคัญที่ช่วยเราคิดกิจกรรมและช่วยเราดำเนินการสร้างกิจกรรมในพื้นที่ให้ถูกใจและตรงกับกลุ่มคนมากพอที่จะให้กลุ่มคนเหล่านั้นมาร่วมดูแลสุขภาพไปด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขการใช้เงิน/การเขียนโครงการแบบระบบรัฐ อาจจะยากสำหรับประชาชน รวมถึงลักษณะการดำเนินการด้วยภาคประชาชนจะต้องอาศัยเวลาและอาศัยกำลังงานมาทำกิจกรรม กทม.จึงต้องช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องการเขียนโครงการ โดยทำให้ง่ายขึ้นด้วยการมีรูปแบบและเอกสารที่เพื่อให้เขาศึกษาได้โดยง่าย ช่วยดูว่าโครงการไหนเหมาะกับพื้นที่ไหน และช่วยให้ภาคประชาชนรวมตัวกันเพื่อทำโครงการ นอกจากนี้ การที่เรามีภาคส่วนที่เป็นทั้งมูลนิธิ มหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งมีวิธีคิดกิจกรรมที่สนุก มาช่วยเราเติมในเรื่องพวกนี้  ก็จะสามารถผลักดันให้เกิดโครงการส่งเสริมสุขภาพได้มากขึ้น 

ที่ผ่านมา กทม.เคยใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานครโดยเฉลี่ยอยู่เพียง 13-20% และสูงสุดในบางเขตใช้แค่ประมาณ 30-40% ของงบประมาณที่มี เท่ากับว่าเงินที่เรามีอยู่ไม่ถูกใช้ไปผลักดันเรื่องส่งเสริมสุขภาพให้กับประชาชน ดังนั้น ในปีหน้า (2567) เราจึงตั้งเป้าหมายไว้ว่าเงินที่มีทั้งหมดจะใช้ให้ถึง 80% ให้ได้

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวต่อไปว่า  แต่ในท้ายที่สุดยังมีเรื่องที่ติดล็อก ในเรื่องของกฎระเบียบและประกาศบางอย่างที่ใช้กำกับควบคุมว่า กทม.ทำได้แค่ไหน อสส.ทำได้แค่ไหน เขตทำได้แค่ไหน บางเรื่องไม่มีระเบียบให้ใช้แต่ก็ไม่ได้ห้าม ต้องมาเคลียร์ว่าใช้ด้วยอะไรดี ระเบียบไหนดี อาจจะเป็นขั้นตอนยุ่งยาก แต่เป็นขั้นตอนที่ทำให้เกิดความรอบคอบในการใช้งบประมาณซึ่งมาจากภาษีของประชาชน การประชุมวันนี้จึงเป็นการแก้ปัญหาไปด้วยกันและตั้งหลักกันว่าเราจะทำอย่างไรให้โครงการต่าง ๆ ลื่นไหลมากขึ้น เกิดประโยชน์แก่ภาคประชาชนมากขึ้น นอกจากนี้ การมีกิจกรรมสุขภาพร่วมกันจะทำให้เราสื่อสารเรื่องสุขภาพได้ง่ายขึ้น และเป็นโอกาสในการรวมกลุ่มสาธารณสุขทั้งหมดที่เป็น Health Zone เพื่อสื่อสารเชื่อมโยงกันแบบไร้รอยต่ออีกด้วย

อนึ่ง กิจกรรมวันนี้มีการเสวนาจากภาคีเครือข่ายภายใต้โจทย์ว่า ด้วยภารกิจขององค์กร ท่านคิดว่าจะสามารถสนับสนุนเพื่อนําไปสู่การขับเคลื่อนกองทุนฯ ทางด้านสุขภาพอย่างไร เพื่อก่อให้เกิด “พื้นที่เป็นฐาน ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” พร้อมเผย Timeline การดําเนินงาน 3 ปี ที่ผ่านมา 2563-2566 และการถอดบทเรียนกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ข้อค้นพบ ความท้าทาย โดย สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จากนั้นเป็นกิจกรรมการแลกเปลี่ยนสะท้อนมุมมองเชิงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ดำเนินการโดย ทีม Thai Health Academy